ข้อมูลจากภาพรวมพื้นที่ปลูกทุเรียนจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่าปี 2559 มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 621,689 ไร่ และมีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 613,593 ตัน ทั้งหมดร้อยละ 89.59 เป็นทุเรียนหมอนทอง ปี 2560 มีพื้นที่ให้ผลผลิตทั้งหมด 581,659 ไร่ มีผลผลิตทั้งสิ้น 517,955 ตัน คาดว่าปี 2561 จะมีพื้นที่ปลูกทุเรียนซึ่งสามารถให้ผลผลิตได้แล้วทั้งหมด 611,186 ไร่ จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ปลูกทุเรียนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี และเมื่อดูรายจังหวัด ข้อมูลในปี 2559 พบว่าจันทบุรีเป็นจังหวัดที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 165,046 ไร่ รองมาเป็นจังหวัดชุมพร 138,801 ไร่ นครศรีธรรมราช 60,194 ไร่ ระยอง 52,706 ไร่ สุราษฎร์ธานี 46,113 ไร่ นอกจากนี้ข้อมูลยังเผยให้เห็นว่า ไม่ได้มีแต่เพียงภาคใต้หรือภาคตะวันออกเท่านั้นที่มีการปลูกทุเรียน การขยายพื้นที่เพาะปลูกนั่นเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดส่งออก ตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ จีน เวียดนาม และฮ่องกง มูลค่าการการส่งออกทุเรียนสดให้กับ 3 ประเทศในปี 2560 มีมูลค่า 21,239.46 ล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 22,098.44 ล้านบาท

จากความต้องการตลาดที่มีสูง ทำให้เกษตรกรหันมาพัฒนาคุณภาพการปลูก รวมถึงการขยายช่องทางการปลูกนอกฤดูกาลเพิ่ม โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ส่วนใหญ่ปลูกไม้ผล ร้อยละ 75 และเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกไม้ผลร้อยละ 65 โดยปลูกไม้ผลเพื่อจำหน่ายโดยเฉพาะทุเรียน เพราะเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนด้านรายได้สูงกว่าพืชอื่นๆ โดยเฉพาะเกษตรกรสามารถผลิตทุเรียนให้ออกนอกฤดูการผลิตได้ เกษตรกรจะสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากในฤดูกาล 3-5 เท่า

นายดำรงค์ศักดิ์ สินศักดิ์ สมาชิกเกษตรกรทุเรียนแปลงใหญ่ ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
นายดำรงค์ศักดิ์ สินศักดิ์ สมาชิกเกษตรกรทุเรียนแปลงใหญ่ ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

ปลูกทุเรียนทะวายรายได้เพิ่ม 2 เท่าตัว

นายดำรงค์ศักดิ์ สินศักดิ์ สมาชิกเกษตรกรทุเรียนแปลงใหญ่ ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เกษตรกรชาวสวนทุเรียน มีประสบการณ์มากว่า 20 ปี เปิดเผยว่า เป็นสมาชิกกลุ่มชาวสวนทุเรียนแปลงใหญ่ตำบลบ้านนา ที่มีสมาชิกกว่า 50 ราย พื้นที่ปลูกทุเรียน 600 -1,000 ไร่ ภายใต้การสนับสนุน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเมือง ต่างมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพทุเรียนในการปลูกนอกฤดูกาล หรือปลูกทุเรียนทะวาย

สำหรับทุเรียนแปลงของตนเองที่ปลูกมี จำนวน 38 ไร่ ประมาณ 400 กว่าต้น เริ่มปลูกทุเรียนทะวายมาตั้งแต่ปี 2539 ประสบความสำเร็จอย่างดี เนื่องจากพื้นที่มีสภาพอากาศที่เหมาะสม และนำประสบการณ์ที่ปลูกทุเรียนมากว่า 20 ปี มาต่อยอดพัฒนาดูและเอาใจใส่ โดยปลูกทุเรียนทะวายไร่หนึ่งไม่เกิน 11 ต้น มีระยะห่างในการดูแล การปลูกจะใช้วิธีการต่อยอด หรือทาบกิ่งกับต้นทุเรียนบ้าน เมื่อช่วงระยะเวลาออกผลจะมีการตัดแต่งผลให้มีปริมาณที่พอเหมาะ โดยเฉลี่ยต้นละ 200 ผล หรือ 1 ตันต่อต้น เพราะในปริมาณนี้ ผลจะมีขนาดสวยไม่ใหญ่หรือเล็ก เป็นไซส์เบอร์หนึ่ง ขนาด 5 กิโลกว่าๆ เนื้อรสชาติดี และได้ราคาดีกิโลกรัมละ 80-100 บาท ลดต้นทุนคนงานและวัสดุการเกษตรด้วย

สิ่งสำคัญที่สุด ผลผลิตที่ได้จะขายหลังจากปรับทุเรียนรายปีเป็นทุเรียนทะวายจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว จากเดิมมีรายไปปีละ 300,000400,000 บาท

มูลค่าผลผลิตที่ได้รับคุ้มกว่ากันเยอะเลย
มูลค่าผลผลิตที่ได้รับคุ้มกว่ากันเยอะเลย

เทคนิคการปลูกให้ได้ผลอย่างมีคุณภาพ

การปลูกทุเรียนนอกฤดูกาล หรือทุเรียนทะวายนั้น จะต้องพิจารณาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในพื้นที่ ที่เหมาะสมจะส่งผลให้ทุเรียนออกดอก การเลือกต้นทำทุเรียนทะวายจะต้องเป็นต้นที่มีอายุ 5-7 ปี เป็นต้นที่สมบูรณ์ การปลูกจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของเจ้าของสวนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกวิธีเพาะขยายพันธุ์ โดยที่สวนของตนนั้นจะใช้วิธีการต่อยอด ด้วยวิธีการเสียบยอดกิ่งพันธุ์หมอนทอง บนต้นทุเรียนบ้าน โดยปลูกเมล็ดทุเรียนบ้าน 1 ปี จะได้ต้นทุเรียนบ้านไว้เสียบกิ่ง หรือ ต่อยอด เพราะวิธีการดังกล่าวจะได้ต้นทุเรียนที่แข็งแรง ยืนต้น มีรากแก้วที่ช่วยดูดซึมอาหารได้ดี ต้านทานโรค ต้านทานแรงลม ผลออกมารสชาติดีกว่า เพราะผึ้งจะผสมเกสรดอกทุเรียนบ้านและทุเรียนพันธุ์หมอนทองเข้าด้วยกัน แตกต่างจากการใช้ต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง จากการชำถุง ซึ่งจะมีข้อดีที่ใช้สะดวก ปลูกได้รวดเร็ว แต่ไม่มีรากแก้วไว้ดูดซึมอาหาร ไม่ต้านลมโค่นล้มง่าย ต้านทานโรคได้น้อยกว่า (ข้อมูลเพิ่มเติมจากคลิป)

อย่าแห่แต่ปลูก…ขอให้ตระหนักปัญหาที่จะตามมา

ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตลาดส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 15 อันดับ ตั้งแต่ปี 2558-2561 พบการส่งออกทุเรียนของประเทศไทยนั้นมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ จีน เวียดนาม และฮ่องกง มูลค่าการการส่งออกทุเรียนสดให้กับ 3 ประเทศในปี 2560 มีมูลค่า 21,239.46 ล้านบาท ความต้องการซื้อที่มหาศาลจากประเทศจีน ส่งผลให้เกษตรกรมาปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น โค่นยางปลูกทุเรียน โค่นมังคุดปลูกทุเรียน

นายดำรงค์ศักดิ์ สินศักดิ์ กล่าวต่อว่า กระแสทุเรียนมาแรง เกษตรกรแห่ปลูกเพราะเล็งเห็นราคาดี จนลืมคำนึงว่า อีก 4-5 ปี ราคาอาจจะตก เพราะทุเรียนล้นตลาดสภาพอาจจะไม่ต่างกับสวนยาง ลำไย เพราะอีก 4-5 ปี คู่แข่งที่จะขายมีมากขึ้นไม่เฉพาะของสวนทุเรียนไทย ยังมีประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เวียดนาม กัมพูชา ที่ประเทศเหล่านี้อยู่ใกล้ประเทศจีนมากกว่า ต้นทุนถูกกว่า ที่น่าห่วงหนัก คือเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีทุนต่อยอดเหมือนรายใหญ่ๆ ในขณะเดียวกันยังมีปัญหา ล้งหรือลานรับซื้อกับพ่อค้าจับมือกันขายทุเรียนอ่อนเพื่อทุบตลาดรับซื้อในราคาต่ำที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ทุเรียนไทยในการส่งออก ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ จะส่งผลลบต่อการทำตลาดทุเรียนไทย และ สะท้อนกลับมายังชาวสวนทุเรียนในอนาคต จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปลูกทุเรียนต้องคำนึงและภาครัฐจะต้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง.

สวนของคุณดำรงศักดิ์ ใช้วิธีการต่อยอด ด้วยวิธีการทาบกิ่งพันธุ์หมอนทอง บนต้นทุเรียนบ้าน
สวนของคุณดำรงศักดิ์ ใช้วิธีการต่อยอด ด้วยวิธีการทาบกิ่งพันธุ์หมอนทอง บนต้นทุเรียนบ้าน
สวนนี้เพิ่งปลูกใหม่
สวนนี้เพิ่งปลูกใหม่
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated