เปิดเทคนิคทำไร่อ้อย แบบ “ทองแดง แดนดี” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 61
คุณทองแดง แดนดี กับบุตรสาว ผู้สืบทอดอาชีพการทำไร่อ้อย...

เรื่อง : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล

ข่าว เกษตรก้าวไกล/กรมส่งเสริมการเกษตร“ในการทำไร่อ้อยให้ประสบความสำเร็จนั้น เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของจะต้องมีการวางแผน โดยใช้หลัก “คิดก่อนทำ” คิดให้ถี่ถ้วนว่า เราจะปลูกอ้อยกี่ไร่ ต้องการผลผลิตกี่ตัน ดินของไร่เราเป็นดินแบบไหน ต้องมีการจัดการดูแลอย่างไร เรียกว่าปลูกแล้วต้องมีการจัดการดูแล ไม่ใช้เห็นคนอื่นปลูกงามแล้วอยากปลูกบ้างโดยไม่รู้ทำอะไรบ้าง ดังนั้นต้องศึกษาและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเรา“

คุณทองแดง แดนดี เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2561 สาขาทำไร่ “เกษตรกรหญิงแกร่งแห่งหนองกี่” อยู่บ้านเลขที่ 72 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองกี่ อำเภอหนองกี่ จ.บุรีรัมย์ โทร. 081 9660363 กล่าวถึงข้อคิดเตือนใจถึงเพื่อนเกษตรกรที่มีความสนใจต้องการปลูกและพัฒนาอาชีพของตนเองให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

สำหรับคุณทองแดงนั้นกล่าวได้ว่า เป็นหนึ่งในเกษตรแกร่งที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรค รวมถึงการคิดค้นด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านในการพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์สำคัญที่ใช้ประกอบอาชีพทำไร่อ้อยด้วยตัวเอง

เกษตรกรหญิงหัวใจแกร่ง
เกษตรกรหญิงหัวใจแกร่ง

เริ่มจาก ต้องเช่าที่ทำกิน…

คุณทองแดง ได้เริ่มต้นในอาชีพการทำไร่อ้อยในปี 2535 “เดิมพ่อแม่อยู่ที่อำเภอเสิงสาน ทำไร่มันสำปะหลังและปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และต่อมามีครอบครัวจึงย้ายตามสามีมาอยู่ที่อำเภอหนองกี่ โดยการมาอยู่ที่อำเภอหนองกี่นั้นมากันแต่ตัว ที่ดินทำกินยังไม่มีเป็นของตนเอง เริ่มจากการเช่าเขาทำก่อน พอเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งจึงเริ่มซื้อที่ดินเป็นของตนเองได้ประมาณ 10 ไร่” คุณทองแดง กล่าว

พื้นที่ 10 ไร่ ถูกนำมาใช้ในการปลูกอ้อย โดยช่วงนั้นคุณทองแดงและสามีได้ร่วมกันทำงานอย่างหนัก ทุกอย่างใช้แรงงานในครอบครัว จนประสบความสำเร็จ และมีเงินทุนในการซื้อที่ดินเพิ่มเติมเป็นของตนเอง

“แต่มาในปี 2554 สามีเสียชีวิต เราเลยต้องดูแลเองทุกอย่าง” คุณทองแดง กล่าว

จากการประกอบอาชีพทำไร่อ้อยมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 26 ปี เริ่มจากปลูกอ้อยเพียง 10 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งที่เป็นของตนเองและเช่ารวม 764 ไร่ อีกทั้งยังมีความโดดเด่น เป็นเกษตรกรที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยด้วยตนเอง เรียนรู้การบริหารงานในการทำไร่อ้อย การคัดเลือกพันธุ์ การจัดการดิน น้ำ การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร แรงงานและการตลาด อีกทั้งยังเป็นแหล่งกระจายอ้อยพันธุ์ดี เป็นแหล่งศึกษาดูงานของเกษตรกร มีเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาศึกษาดูงานและนำไปต่อยอดปฏิบัติจนเป็นผลสำเร็จ

อีกทั้งปัจจุบันยังได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตอ้อย ของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงที่เข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีการนำไปต่อยอดปฏิบัติจนเป็นผลสำเร็จแล้วเป็นจำนวนมาก

“ที่ผ่านมานั้น ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานในพื้นที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร คือ สำนักงานเกษตรอำเภอหนองกี่ ได้เข้ามาเสริมในส่วนที่เราขาดโดยเฉพาะองค์ความรู้ใหม่ๆ นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถก้าวมาสู่ความสำเร็จในวันนี้” คุณทองแดง กล่าว

รถบรรทุกน้ำ ต้องมี
รถบรรทุกน้ำ ต้องมี

ทำไร่อ้อยอุปกรณ์ต้องพร้อม

ในส่วนของเทคนิคการปลูกอ้อยให้ประสบความสำเร็จนั้น สิ่งสำคัญที่ คุณทองแดงได้เน้นย้ำว่า หากต้องการที่จะปลูกอ้อยให้ประสบความสำเร็จ เพื่อนเกษตรกรต้องมีการจัดทำแผนการผลิตอ้อยและกิจกรรมในไร่ โดยกำหนดระยะเวลาเป็นรอบในการทำงาน เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ แรงงานและเครื่องจักรกลการเกษตรล่วงหน้าก่อนถึงช่วงการทำงาน

“ต้นทุนนับเป็นเรื่องที่เกษตรกรปลูกอ้อยต้องทำให้ลดลงให้ได้ อย่างที่ไร่ของเราจะเน้นการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วย ตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การใส่ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช และการตัดอ้อย ทุกขั้นตอนมีการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยทั้งหมดทำให้เราลดต้นทุนลงไปได้มาก”

อีกสิ่งที่สำคัญ คือ การเตรียมดินก่อนการปลูกอ้อย ซึ่งวิธีการที่คุณทองดีได้ปฏิบัติ จะเน้นตั้งแต่ การใช้รถไถระเบิดดินดาน เพื่อทำให้มีความชื้นในดินสูง อันจะส่งผลให้อ้อยเจริญเติบโตได้ดีอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยการไถกลบใบอ้อยสดและรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก

“นอกจากการไถตามปกติแล้วเรายังมีการพรวนดินและปรับดินให้ละเอียด หน้าดินเรียบ โดยวิธีการนั้นที่ไร่อ้อยของเราจะใช้กระบะดิบทำด้วยถังน้ำมันเก่า ขนาด 2,000 ลิตร ผ่าครึ่งด้านยาว เชื่อมติดโซ่ฉุดลากด้วยรถแทรกเตอร์ และถ่วงน้ำหนักด้วยดิน ซึ่งเราเรียกชื่ออุปกรณ์นี้ว่า “เรืออีโปง” แล้วลากไปบนพื้นที่ดินที่ไถแล้ว ซึ่งจะช่วยปรับระดับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ และช่วยย่อยดินก่อนปลูก ทำให้พื้นที่เรียบ อ้อยขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และรถตัดอ้อยสามารถเข้ามาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

เรืออีโปง ช่วยปรับระดับพื้นที่ไร่อ้อยให้ราบเรียบ
เรืออีโปง ช่วยปรับระดับพื้นที่ไร่อ้อยให้ราบเรียบ

เทคนิคบ่มตาอ้อย

ในส่วนของพันธ์อ้อย นับเป็นอีกเทคนิคที่น่าสนใจ เพราะที่ไร่อ้อยของคุณทองแดง จะมีแปลงพันธ์อ้อยสำหรับปลูกในพื้นที่ของตนเอง และไว้เพื่อจำหน่ายพันธุ์อ้อยให้แก่เกษตรกรทั่วไปด้วย โดยเป็นสายพันธุ์อีเขียวปลดหนี้ ที่มีลักษณะเด่นคือ ลำต้นใหญ่ สมบูรณ์ ให้น้ำหนักดี และให้ผลผลิตสูง

“ท่อนพันธ์อ้อยที่จะนำมาใช้ปลูกนั้นต้องมีการคัดท่อนพันธ์อ้อยที่สะอาดปลอดเชื้อโรค และต้องมาจากแปลงปลูกที่มีความอุดสมบูรณ์ มีการตรวจสอบโรคและแมลงศัตรูอ้อยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดูแลรักษาแปลงพันธ์อ้อยไม่ให้มีวัชพืช” คุณทองแดง กล่าว

ส่วนการปลูกและการดูแลรักษา คุณทองแดง เล่าให้ฟังว่า ในส่วนของการปลูกนั้น แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ หนึ่งปลูกอ้อยปลายฝนหรืออ้อยข้ามแล้ง และสอง อ้อยต้นฝน โดยใช้รถปลูกอ้อยเป็นหลักเพื่อให้สามารถปลูกอ้อยได้ทันช่วงเวลา และประหยัดแรงงาน โดยท่อนพันธุ์ที่นำมาใช้ปลูกนั้นต้องมีการคัดพันธ์ดีที่มีความต้านทานโรคและแมลงศัตรูอ้อย

“ระบบปลูกอ้อยของเราจะเป็นระบบการปลูกแบบให้น้ำ ซึ่งจะส่งผลให้มีข้อดีคือ ทำให้ต้นอ้อนงอกได้เร็วขึ้นกว่าการปลูกแบบธรรมชาติ โดยระบบให้น้ำจะงอกภายในเวลา 15 วัน ส่วนแบบธรรมชาติจะงอกในเวลา 25-30 วัน”

“อีกทั้งท่อนพันธ์อ้อยที่เราใช้นั้น ต้องผ่านการบ่มตาอ้อยก่อนปลูก ซึ่งจะช่วยทำให้มีอัตราการงอก 100 เปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งมีการให้น้ำและปุ๋ยคอกอัดเม็ดในร่องพร้อมปลูก”

“วิธีการบ่มตาอ้อยนั้น ที่ปฏิบัติคือ หลังจากตัดอ้อยพันธุ์ขึ้นรถสิบล้อแล้ว จะทำการรดน้ำทั้งคันรถ แล้วนำไปเทกองไว้ในแปลงปลูกที่เตรียมไว้ หลังจากกองไว้แล้ว จะรดน้ำอีกประมาณ 2 – 3 ครั้ง จนกว่าตาอ้อยและรากจะแตกออกมา แล้วจึงค่อยน้ำท่อนพันธ์อ้อยลงปลูก “

“ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมไว้ก่อนการลงมือปลูกคือ หนึ่ง น้ำ สองปุ๋ย และสาม พันธ์อ้อย เมื่อทุกอย่างพร้อมจะลงมือปลูกได้ หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของการดูแลต่อไป โดยระบบปลูกที่ทำในในวันนี้” คุณทองแดง กล่าว

สำหรับน้ำในแปลงอ้อยนั้นจะใช้รถบรรทุกถังน้ำขนาด 1,000 และ 10,000 ลิตร ให้น้ำในร่องปลูกพร้อมใส่ปุ๋ยพร้อมการปลูกด้วยรถปลูกอ้อย

อุปกรณ์ใส่ปุ๋ยอ้อย
อุปกรณ์ใส่ปุ๋ยอ้อย
ดินต้องวิเคราะห์ก่อน

“เรื่องการใช้ปุ๋ยนั้นเราสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีในไร่อ้อยลงได้อย่างง่ายๆ เพียงทำการตรวจสภาพดินของแปลงปลูก ด้วยการส่งตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ ซึ่งผลที่ได้มานั้นจะแสดงให้เรารู้เลยว่าดินของเราเป็นอย่างไร ขาดปุ๋ยตัวไหนบ้าง เมื่อทราบแล้วก็ใส่ตามที่ดินต้องการ อีกทั้งเรายังเน้นการใช้ปุ๋ยคอกรองพื้นก่อน โดยใช้รถแทรกเตอร์ลากฉุดอุปกรณ์ฝังปุ๋ยคอกที่สามารถบรรจุได้ถึง 500 กิโลกรัม ไปในแนวร่องปลูกในอ้อยตอ” คุณทองแดง กล่าว

“ซึ่งการที่จะใช้เครื่องจักรมาช่วยในการใส่ปุ๋ยคอกให้ได้ประสิทธิภาพนั้น เราจะใช้วิธีการขยายร่องที่จะใส่ปุ๋ยให้กว้างขึ้นเพื่อให้ปุ๋ยคอกลงได้สะดวก หลังจากนั้นจะมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เคมีให้กับอ้อยอีกตามระยะเวลาที่กำหนด”

ส่วนการควบคุมวัชพืช ไร่แห่งนี้ จะเน้นการฉีดยาคลุมวัชพืชก่อนปลูกอ้อย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต

“การฉีดยาคุมวัชพืชนั้นจะช่วยทำให้ต้นอ้อยที่งอกมาเติบโตดี ไม่มีหญ้าขึ้นมาแย่งอาหาร และเมื่ออ้อยอายุได้ 2 เดือน จะใช้เครื่องมือที่ชาวไร่อ้อยเรียกว่า หนวดกุ้ง วิ่งเข้าไปตามแถวร่องอ้อยเพื่อให้ครูดวัชพืชออก และทำให้หน้าดินที่หน้าแน่นร่วนซุยขึ้น หลังจากอ้อยอายุได้ 3 เดือน  จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า คราดสปริง เข้ากำจัดวัชพืชอีกครั้ง รวมทั้งทำการฝังปุ๋ยอินทรีย์ครั้งที่ 2 และก่อนตัดอ้อยจำหน่ายต้องมีการใส่ปุ๋ยเพิ่มความหวานสูตร 27-7-18”

ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคแมลงรบกวนในไร่อ้อยของไร่แห่งนี้คือ การใช้วิธีปลูกพืชหมุนเวียน และการดูแลแปลงปลูกให้สะอาด มีการตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ

ในขณะที่การเก็บเกี่ยว จะใช้รถตัดอ้อย โดยต้องจัดเตรียมแปลงให้เหมาะสมกับการใช้รถตัดอ้อย โดยเริ่มจากการปรับระดับดินให้เรียบ ด้วยคราดสปริง ซึ่งส่งผลให้รถตัดอ้อยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตัดอ้อยได้ชิดดิน สูงจากดินไม่เกิน 5 เซนติเมตร ซึ่งช่วยประหยัดเวลา แรงงาน สามารถนำอ้อยสดส่งโรงงานได้เร็ว ลดอัตราการสูญเสียอันเนื่องมาจากการใช้รถตัดอ้อยลง

“หลังจากปลูกแล้วประมาณ 12 เดือนก็สามารถตัดส่งโรงงานได้ โดยอ้อยของเราจะตัดสดทุกแปลง ไม่มีการเผาใบอ้อยก่อนตัดอย่างสิ้นเชิง” คุณทองแดง กล่าวในที่สุด

จากเทคนิคการปลูกที่ได้คิดค้นและปฏิบัติมาจนถึงวันนี้ของคุณทองแดง มีส่งผลให้ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพส่งเข้าโรงงาน  โดยมีความหวานเฉลี่ย 13 C.C.S ในขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 16.33 ตัน

คุณทองแดง แดนดี จึงนับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างความยั่งยืนและมั่นในอาชีพได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

ทีมงานเกษตรก้าวไกล ลุยมาทำข่าวถึงไร่อ้อย...ขอบคุณ ฟอร์ด เรนเจอร์ ที่ทำให้เราได้พบกับเกษตรกรหญิงแกร่ง แห่ง อ.หนองกี่
ทีมงานเกษตรก้าวไกล ลุยมาทำข่าวถึงไร่อ้อย…ขอบคุณ กรมส่งเสริมการเกษตร และฟอร์ด เรนเจอร์ ที่ทำให้เราได้พบกับเกษตรกรหญิงแกร่ง แห่ง อ.หนองกี่
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated