วันนี้ที่บ้านคุณทองใส สมศรี ครูบัญชีอาสา แห่งบ้านตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี คลาคล่ำไปด้วยบรรดาสมาชิก เพราะว่ากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยคุณโอภาส ทองยงค์ อธิบดี ได้นัดหมายเหล่าสาวกบัญชีอาสาให้มาชุมนุมกัน…ตอนหนึ่งของการประชุมอธิบดีโอภาส ได้พูดถึงข้าวล้นยุ้ง บอกว่าจะต้องอนุรักษ์พันธุกรรมไว้ เพราะเป็นข้าวพื้นเมืองประจำถิ่นและบอกให้สื่อมวลชนที่ติดตามมาช่วยกันทำข่าวด้วย ซึ่งคุณทองใส บอกว่ามีสมาชิกผู้ปลูกมาในวันนี้ด้วย และหนึ่งในนั้นก็คือ คุณโอเคน เชิดชมกลิ่น…ที่มาพร้อมกับสมุน(สมาชิกผู้ปลูกข้าวด้วยกัน) เพราะเหตุนี้ “เกษตรก้าวไกล” และ “เกษตรโว้ยVOICE” (เว็บไซต์ข่าวเกษตรสองพี่น้อง) จึงมิอาจปล่อยให้โอกาสหลุดลอย…ระดับอธิบดีแนะนำอย่างนี้มีหรือจะพลาดได้

ซ้ายข้าวหอมมะลิ 105 ขวาคือข้าวล้นยุ้ง...ข้าวของชุมชนบ้านหนองชิ่ม
ซ้ายข้าวหอมมะลิ 105 ขวาคือข้าวล้นยุ้ง…ข้าวของชุมชนบ้านหนองชิ่ม

คุณโอเคน เล่าว่าปลูกข้าวล้นยุ้งอยู่ที่ บ้านหนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี จำนวน 5 ไร่ ปลูกข้าวล้นยุ้งมาหลายปีแล้ว แต่ปลูกเอาไว้กินเองและขายในท้องถิ่นบ้าง ซึ่งจะนิยมซื้อไปให้ไก่กิน โดยเฉพาะไก่ชน ต่อมาความทราบไปถึงบุคคลนอกถิ่น ทำให้ข้าวที่ปลูกไม่พอขาย..

“เปิดขายปีแรกก็ไม่พอขาย จึงคิดว่าปีนี้จะชวนเพื่อนๆให้มารวมกลุ่มปลูกกัน เพราะคนต่างถิ่นเริ่มรู้จากการข่าวที่กระจายออกไป ทำให้ขายข้าวล้นยุ้งได้ราคาดีขั้นต่ำตันละ 10,000 บาท ในขณะที่ขายหอมขายได้ไม่เกินตันละ 8,000 บาท…”

เกษตรกรปลูกข้าวล้นยุ้ง...
เกษตรกรปลูกข้าวล้นยุ้ง…

มันดีอย่างไรละจึงขายดี “คือมันช่วยได้หลายอย่างพวกเรื่องเหน็บชา มีวิตามินดีกว่าข้าวขาวธรรมดา…เคยมีข่าวว่ามีงานวิจัยของราชภัฏรำไพพรรณี แต่ผมก็จำข้อมูลวิชาการได้มีดีพอ แต่ฟังมาว่าเป็นเช่นนั้น” คุณโอเคน บอกตรงไปตรงมา

“ถ้าใครอยากได้ก็ให้ลองโทร.มาคุยกันได้ ของมีไม่มี ถ้ามีก็จะแบ่งให้ แต่ปีต่อไปจะมีมากขึ้น…เราปลูกเอง ขายเอง สีเอง…ซื้อโรงสีเล็กๆมาสีเอง ทีแรกคิดจะสีไว้กินเองในครัวเรือน ไม่ได้คิดขาย แต่คิดไปคิดมามันทำตลาดได้ ก็เลยลองดูสักตั้ง…ขายปีแรกคนติดใจ มีไม่พอ พอปีสองเพิ่มอีกข้าวก็ไม่พออีก พอลูกค้าเริ่มติดแล้ว เราก็ไม่กล้าเปิดตลาดอีก เพราะเราไม่ได้ปลูกตุนไว้ ต้นทุนเราไม่ได้มีมากอย่างนั้น”

พร้อมกับพูดคุยอย่างออกรสข้าว(ล้นยุ้ง)ว่า “รับรองได้ว่าข้าวนี้ เป็นข้าวอินทรีย์โดยตรงไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลง ชาวบ้านหนองชิ่มทุกครัวเรือนไม่ฉีดยา แต่ทีนี้คนเขาไม่รู้นึกว่าปลูกเหมือนทั่วๆไป ข้าวหอมมะลิก็เช่นกันไม่ฉีดยา ทำเป็นนาปีปีละครั้ง เป็นนารอน้ำฝน (มือชี้ขึ้นไปบนฟ้าเหมือนจะบอกว่าเป็นนาข้าวของเทวดา-สมาชิกที่ยืนอยู่ข้างๆก็ช่วยกันยืนยัน)”

ใครอยากสอบถามเรื่องข้าวล้นยุ้ง ติอต่อได้ที่เบอร์ 081 9218733 คุณโอเคน ยินดีที่จะตอบทุกเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง…

ข้าวล้นยุ้ง ข้าวอินทรีย์ ของดีบ้านหนองชิ่ม
ข้าวล้นยุ้ง ข้าวอินทรีย์ ของดีบ้านหนองชิ่ม

รู้จักข้าวล้นยุ้ง

“ข้าวล้นยุ้ง” เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของตำบลหนองชิ่ม ที่มีคุณลักษณะพิเศษ คือ ทนต่อโรค แตกก่อง่าย  สามารถเจริญเจริญโตได้ในพื้นที่ที่มีน้ำขัง อีกทั้งให้ผลผลิตเป็นจำนวนมากจนล้นยุ้งข้าว ตามที่มาของชื่อสายพันธุ์ล้นยุ้ง ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลหนองชิ่ม ได้ออกมารณรงค์ให้มีการปลูกข้าวล้นยุ้งเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ควบคู่กับการปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์  ลดการใช้สารเคมี ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองชิ่ม พร้อมให้การสนับสนุนเรื่องบรรจุภัณฑ์ และตลาดจำหน่ายข้าว

ตามข้อมูลของกรมการข้าว ได้ระบุว่า ข้าวล้นยุ้ง เป็นชื่อพันธุ์ข้าวนาสวน ประเภทข้าวเจ้า ถือเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของประเทศไทย โดยชื่อของสายพันธุ์ข้าวชนิดนี้ ตั้งให้มีความหมายในทางที่ดี เป็นสิริมงคล บ่งบอกถึงความร่ำรวย หรือการได้ผลผลิตมากๆ เช่นเดียวกับข้าวสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ขาวเศรษฐี ขาวหลุดหนี้ ก้อนแก้ว เกวียนหัก เหลืองควายล้า ขาวทุ่งทอง เป็นต้น

กรมการข้าว ได้มีการรวบรวมสายพันธุ์ข้าวล้นยุ้งมาจากอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี โดยข้าวล้นยุ้ง จะออกดอกช่วงประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน

ลักษณะประจำพันธุ์ ต้นสูงปานกลาง กอแบะ แตกกอปานกลาง ใบ สีเขียว มีขนบนใบ สีข้าวเปลือก สีฟางคุณภาพข้าวสุก ร่วน ขนาดเมล็ดข้าวเปลือก ยาว 9.74 มิลลิเมตร กว้าง 2.76 มิลลิเมตร หนา 1.99 มิลลิเมตร…นับเป็นสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์อีกสายพันธุ์หนึ่ง.

ขอบคุณภาพประกอบ : จากเฟสบุ๊ค “ไอดินกลิ่นทุ่ง” (เฟสบุ๊คนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับข้าวล้นยุ้งของชุมชนบ้านหนองชิ่ม)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated