จัดการไร่นาสวนผสมอย่างไร? ให้ได้รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2561
ลุงใจ สุวรรณกิจ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2561 สาขาอาชีพไร่นาสวนผสม จังหวัดพัทลุง

เกษตรคือประเทศไทย…ไร่นาสวนผสมเป็นอาชีพหนึ่งที่เกษตรกรทำกันมากทั่วทุกภาคของประเทศไทย รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติจึงได้รับการจับตามอง เช่นเดียวกับปีนี้ 2516 ซึ่งได้มีการประกาศและรับรางวัลกันไปแล้วในวันนี้(14พ.ค.61) ซึ่งผู้ได้รับรางวัลได้แก่ นายใจ  สุวรรณกิจ เกษตรกรวัย 63 ปี เจ้าของ “สวนลุงใจ” จากตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

ก่อนหน้านี้ “ลุงใจ” แทบไม่ได้เป็นข่าวตามสื่อต่างๆ มากนัก จะมีบ้างก็ต่อเมื่อได้มีประกาศว่าเป็นผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ซึ่งเมื่อพลิกแฟ้มประวัติดูก็พบว่ามีประวัติผลงานเป็นที่น่าสนใจมาก มุ่งมั่นทำงานจนเป็นที่รักของคนในพื้นที่มายาวนานแต่มักไม่ค่อยเป็นข่าว “เกษตรก้าวไกล” จึงขอนำประวัติผลงานมาเผยแพร่แบบเต็มๆ (เพื่อเป็นกรณีศึกษาและแนวทางกับเกษตรกรคนอื่นๆ) โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำขึ้น จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

นายสมชาญ ชาณณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เยี่ยมชมสวนลุงใจ เมื่อ 9 พ.ค. 2561
นายสมชาญ ชาณณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เยี่ยมชมสวนลุงใจ เมื่อ 9 พ.ค. 2561

อนึ่ง “ลุงใจ” ได้เปิดเผยภายหลังเข้ารับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2561 ว่า รู้สึกภาคภูมิใจเป็นที่สุด ไม่เคยคาดคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ วันนี้ตนได้มารับรางวัลกับครอบครัวจำนวน 9 คน ทุกคนดีใจตื้นตันใจกับสิ่งที่ได้ทุ่มเทลงไป “การทำเกษตรเหนื่อยแต่ก็มีความสุขใจที่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้พยามยามคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆที่จะมาช่วยการทำอาชีพให้ดียิ่งขึ้น เช่น การทำปุ๋ยใช้เอง การทำสารไล่แมลงจากสมุนไพร ฯลฯ และเมื่อครอบครัวตนเองอยู่ได้ ก็อยากให้ชุมชนอยู่ได้ด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน และมุ่งมั่นที่จะทำให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งกล่าวว่าใครที่ต้องการจะไปศึกษาดูงานการปลูกพืชการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการทำปุ๋ยใช้เอง ยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้อย่างเต็มที่

อธิบายแนวทางการทำเกษตรของสวนลุงใจ
อธิบายแนวทางการทำเกษตรของสวนลุงใจ

คติ/แนวคิดประจำใจ   

การทำการเกษตรนั้นต้องมีความรอบรู้หรือองค์ความรู้ที่หลากหลาย เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพราะการเกษตรนั้นไม่มีสูตรตายตัว ต้องทดลองทดสอบ ฝึกฝนตลอดชีวิต และที่สำคัญต้องยึดหลัก
ความพอเพียงตามคำสอนของพ่อ (รัชกาลที่ 9) ซึ่งตนเองเป็นช่างซ่อมรถและรักการเกษตร จึงมีคติประจำใจว่า “นายช่างยุคใหม่ หัวใจพอเพียง” ใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต

ความคิดริเริ่ม

  1. การทำการเกษตรนั้นต้องมีความรอบรู้หรือองค์ความรู้ที่หลากหลาย เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพราะการเกษตรนั้นไม่มีสูตรตายตัว ต้องทดลองทดสอบ ฝึกฝนตลอดชีวิต และที่สำคัญต้องยึดหลักความพอเพียงตามคำสอนของพ่อ (รัชกาลที่ 9) ซึ่งตนเองเป็นช่างซ่อมรถและรักการเกษตร จึงมีคติประจำใจว่า “นายช่างยุคใหม่ หัวใจพอเพียง” ใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต
  2. เดิมประกอบอาชีพเปิดอู่ซ่อมรถ ทำนา และทำสวนยางพารา ต่อมาเริ่มศึกษาดูงาน จากโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง และแปลงเศรษฐกิจพอเพียงของ นายวิเชียร ชูสีดำ เกษตรกรดีเด่นโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง
  3. ปี 2534 มีวิสัยทัศน์ในการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากสวนยางพารามาทำไร่นาสวนผสมในช่วงที่ยางพารามีราคาสูง ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบสวนกระแสในเวลานั้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ประกอบกับราคาข้าวตกต่ำ โดยใช้หลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในการประกอบอาชีพ และมีความ
    เอื้ออาทรต่อกันนำไปสู่สังคมและชุมชน เป็นเหมือนรากฐานของชีวิต

ความพยายามฟันฝ่าอุปสรรค

ประสบปัญหาน้ำท่วมฟาร์มทุกปีแต่ชีวิตไม่เคยย่อท้อตั้งใจประกอบอาชีพการเกษตรด้วยความอุตสาหะ อดทน โดยทำการเกษตรแบบผสมผสานมีกิจกรรมที่เกื้อกูลการใช้ประโยชน์ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก เน้นการใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก ไม่จ้างแรงงานจากภายนอก และปี พ.ศ.2538 เลิกใช้ปุ๋ยเคมีโดยเด็ดขาด ไม่เผาตอซังและไถกลบตอซังข้าวหลังฤดูการเก็บเกี่ยว เพื่อลดภาวะโลกร้อนและอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ปลูกพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ถั่วลิสง/และปลูกปอเทือง ภายหลังฤดูทำนา เป็นปุ๋ยพืชสด ปลูกหญ้าแฝก บริเวณขอบสระน้ำรวมน้ำในสวนและแปลงนา เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการพังทลายของดิน และปรับปรุงดิน ลดการสูญเสียธาตุอาหาร เพื่อสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศ ปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อลดการสะสมของโรคแมลง เป็นคนคิดนอกกรอบ ตั้งชื่อฟาร์มว่า
“สวนลุงใจ” เพื่อสร้างจุดเด่นให้ตนเอง เป็นคนขยัน หัวไวใจสู้ ศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา

การเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ร่วมกับการปลูกพืชผลชนิดต่างๆ
การเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ร่วมกับการปลูกพืชผลชนิดต่างๆ

การพัฒนาการเกษตร

มีการจัดระบบการปลูกพืช ข้าว + พืช + สัตว์ + ประมง โดยแบ่งพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 12 ไร่
1 งาน ดำเนินกิจกรรม ดังนี้

  1. ปลูกข้าวสังข์หยด จำนวน 1 ไร่ 1 งาน (ไว้บริโภคในครัวเรือน)
  2. ปลูกยางพารา จำนวน 4 ไร่
  3. ปลูกไม้ผล จำนวน 5 ไร่ ได้แก่ มะนาว ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ละมุด กระท้อน มะม่วง ลองกอง เงาะ ทุเรียน ฝรั่ง ทุเรียนเทศ มะกรูด หมาก กล้วย มะพร้าว ส้มจุก
  4. ขุดสระเก็บกักน้ำไว้ใช้ จำนวน 2 ไร่ 700 ลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำ 3,000 คิว
    และขุดร่องน้ำในสวน จำนวน 7 ร่อง ขนาด 70 ลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำ 300 คิว ขุดคูรอบแปลงนาขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำ 3,500 คิว เลี้ยงปลากินพืช ได้แก่ ปลากด ปลานิล ปลาตะเพียน
  5. เลี้ยงสัตว์ ประกอบด้วย เลี้ยงผึ้งโพรงไทย จำนวน 15 รัง หอยขม จำนวน บ่อ และร่องสวน จำนวน 1 ร่อง เป็ดไข่ จำนวน 10 ตัว ไก่ไข่ จำนวน 10 ตัว ไก่พื้นบ้าน จำนวน 25 ตัว ปลูกหญ้าแฝกรอบสระน้ำ และร่องสวน จำนวน 10,000 กอ

    แปลงปลูกพืชผลแบบผสมผสาน
    แปลงปลูกพืชผลแบบผสมผสาน

การนำเทคโนโลยีมาใช้เหมาะสมกับพื้นที่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

  1. ปี 2555 ได้นำดินมาตรวจวิเคราะห์วัดค่า PH หาค่าเป็นกรด-ด่าง ของดิน และพบว่าในแปลงมีค่าความเป็นกรด-ด่าง 2 โซน คือ โซนแปลงไม้ผล มีค่าเท่ากับ 6.7 และโซนแปลงนาข้าว ค่าเท่ากับ 5.6
    โดยได้รับคำแนะนำจากสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดพัทลุง ให้ใส่โดโลไมต์ และปูนขาว เพื่อปรับสภาพดินให้ดินมีความเป็นกลางมากขึ้น และเหมาะสมในการทำการเกษตร โดยปลูกหญ้าแฝก ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกถั่วเป็นพืชปุ๋ยสด ไถกลบตอซัง
  2. คิดค้นเครื่องมือต่างๆ มาช่วยในการทำการเกษตร ได้แก่ ทำคันไถแบบเหล็ก (ผาน) แทนไม้
    ทำให้มีความสะดวกในการเตรียมดิน ผลิตหัวไถที่ใช้กับเครื่องยนต์ โดยการปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ ใช้ง่าย รวดเร็ว ผลิตเครื่องนวดข้าว ซึ่งประยุกต์มาจากเครื่องยนต์ซึ่งลดเวลาในการนวดข้าว ประดิษฐ์อุปกรณ์ในการห่อผลกระท้อน เพื่อป้องกัน แมลงวันทอง จากวัสดุเหลือใช้ ผลิตกับดักแมลงวันผลไม้ จากวัสดุเหลือใช้
  3. มีความคิดริเริ่มเสริมรากยางพารา 2 ต้น เป็นต้นเดียวกัน โดยส่วนของต้นตอที่นำมาทาบจะทำหน้าที่เป็นระบบรากอาหารให้กับต้นพันธุ์ดี ทำให้โตเร็วไม่มีปัญหาการโค่นล้ม
  4. ใช้หลักฟิสิกส์วางท่อระบายน้ำเข้า-ออก พื้นที่ปลูกข้าวเพื่อเก็บกักน้ำ โดยไม่ต้องใช้เครื่องปั้มน้ำ
  5. มีการจัดระบบการเลี้ยงปลาในกระชังทีสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ
  6. ศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นแล้วนำมาปรับปรุงตนเองเสมอ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เป็นที่รักของครอบครัวและชุมชน
  7. ปี 2558 ได้รวมกลุ่มสมาชิกในบ้านควนพระ หมู่ที่ 2 ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จำนวน 30 คน ที่มีแนวคิดลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้ปุ๋ยเคมี
  8. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรได้ออกใบรับรองให้ นายใจ สุวรรณกิจ ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP พืช) พ.ศ. 2555 จำนวน 3 ชนิดคือ ลองกอง มะนาว และกระท้อน (ปีที่รับรอง 2560 – ปีที่หมดอายุ 2563)

    การจัดการสวนสวยงาม
    การจัดการสวนสวยงาม

ผลงานและความสำเร็จ

แบ่งพื้นที่ทำการเกษตรออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 พื้นที่ 5 ไร่  ปลูกไม้ผล และขุดร่องน้ำ สำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ในแปลง และเลี้ยงปลา เลี้ยงหอยขม เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงผึ้งโพรงไทย เพื่อช่วยผสมเกสร และสามารถนำน้ำผึ้งมาจำหน่ายในชุมชนสร้างรายได้ให้ครอบครัว

ส่วนที่ 2 พื้นที่ 2 ไร่ ขุดเป็นสระเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และเลี้ยงปลา ประกอบด้วยปลากด ปลานิล ปลาตะเพียน และขุดร่องน้ำ สำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ในแปลง รอบๆ ขอบสระ และร่องน้ำปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกัน
การพังทลายของหน้าดิน เลี้ยงปลาธรรมชาติ ปลูกพืชสมุนไพร ปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคและจำหน่าย

ส่วนที่ 3 พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน  ปลูกข้าวพันธุ์สังข์หยดพัทลุงเพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน(ทำนา 2 ครั้ง) หลังฤดูการทำนาจะปลูกถั่วลิสง

ส่วนที่ 4 พื้นที่จำนวน 4 ไร่ ปลูกยางพาราพันธุ์ ARRIM 600อายุ 5 ปี (ปลูกปี 2556)

ผลผลิตจากสวนลุงใจ
ผลผลิตจากสวนลุงใจ
  1. ผลผลิตเฉลี่ย
  • ข้าวสังข์หยด ผลผลิตเฉลี่ย 450 กก/ไร่ ซึ่งเกษตรกรทั่วไป เฉลี่ย 350 กิโลกรัม/ไร่
  • มะนาว ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรทั่วไป เฉลี่ย 1,800 กิโลกรัม/ไร่
  • ลองกอง ผลผลิตเฉลี่ย 500 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรทั่วไป เฉลี่ย 450 กิโลกรัม/ไร่
  • กระท้อน ผลผลิตเฉลี่ย 1,000 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรทั่วไป เฉลี่ย 900 กิโลกรัม/ไร่
  • น้ำผึ้ง ผลผลิตเฉลี่ย 36 ลิตร/ปี
  1. ใช้วิชาการในการปรับปรุงสภาพการผลิตการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการปลูกพืชหลังนา การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสด การใช้ปุ๋ยหมัก และการสมุนไพรทำน้ำหมักชีวภาพไล่แมลง การใช้
    กับดักแมลงวันผลไม้ การเสริมราก ยางพารา การห่อผลไม้ป้องกันแมลงวันทอง
  2. การวางแผนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด
  3. การนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการแปรรูปน้ำมะนาว แปรรูปน้ำมะพร้าว
    ทำกระท้อนทรงเครื่อง ทำขนมเค้กใบเตย เค้กมะพร้าว จำหน่ายตลาดท้องถิ่น
  4. นำสิ่งเหลือใช้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่นทำกับดักแมลงวันผลไม้ ที่ห่อผลไม้

    แผนผังการจัดการสวนลุงใจ
    แผนผังการจัดการสวนลุงใจ

การจัดการ

  1. มีผังฟาร์ม/แผนและงบประมาณฟาร์ม ปฏิทินการปลูกพืช สัตว์ ประมง
  2. มีการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีฟาร์มตลอด และแยกบัญชีเป็นรายพืช ซึ่งสามารนำมาคิดวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต และตรวจสอบย้อนหลังได้ 3ปี
  3. ได้จัดการผลผลิต/ การจำหน่าย/การตลาด โดย
  • ขายตลาดในชุมชน
  • ซื้อขายล่วงหน้า สั่งจองทางเฟสบุ๊ค ไลน์ โดยรับประกันคุณภาพสินค้า
  • แปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น คั้นน้ำมะนาว น้ำมะพร้าว ขนมเค้ก มะพร้าวเค้กใบเตย กระท้อนทรงเครื่อง วางขายที่ร้านขนมกบ
  1. ใช้แรงงานในครัวเรือนที่สอดคล้องกับกิจกรรม และขนาดฟาร์ม จำนวน 5 คน โดยมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน เช่น แรงงานในสวน แรงงานเก็บผลผลิต/จำหน่าย แรงงานแปรรูป
  2. ผสมผสานเกื้อกูลการใช้ประโยชน์ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในฟาร์ม

        สรุปรายได้/รายจ่าย (ย้อนหลัง 3 ปี)

รายการ รายได้/รายจ่าย (บาท)
ปี 2557 ปี 2558 ปี 2559 ปี 2560
รายได้ 34,480 278,500 179,400 354,550
กำไร 225,320 30,100 32,200 45,720
ต้นทุน 259,800 248,400 147,200 311,830

 

รายได้รายวัน : ได้แก่ ตะไคร้ มะกรูด มะนาว ขายในตลาดชุมชน

รายได้รายสัปดาห์ : ได้แก่ ผักบางชนิด ข่า ตะไคร้  มะกรูดขายในตลาดชุมชน

รายได้รายเดือน : ได้แก่ ปลากด ปลาตะเพียน ปลาหมอ กบ ปลาดุก หอยขม น้ำผึ้ง ขายในตลาดชุมชน

รายได้รายปี : ได้แก่ ลองกอง กระท้อน ละมุด ส้มเขียวหวาน ส้มโชกุน ข้าวนาปี ขายในตลาดชุมชน
หมายเหตุ : ข้าวนาปี ปลูก 2 ครั้ง เพื่อบริโภคในครัวเรือน

ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่มาศึกษาดูงาน
ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่มาศึกษาดูงาน

ความเป็นผู้นำและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ

  1. ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาที่ดิน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ศึกษาดูงาน โดยการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่มี
  2. เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านไร่นาสวนผสมของชุมชน เครือข่ายของอำเภอปากพะยูน ด้านศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
  3. เป็นผู้ฝึกอาชีพด้านช่างให้กับผู้สนใจ และผู้พิการทางหู
  4. พิธีกรทางศาสนาให้กับชุมชนและวัด
  5. เป็นหมอดินอาสาประจำตำบล ปี 2538 รวมกลุ่มสมาชิกในบ้านควนพระที่มีแนวคิดลดต้นทุน
    การผลิต และลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์ในการผลิตปุ๋ยหมัก และปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ช่วยเก็บกักน้ำในดิน
  6. เป็นคณะกรรมการบริหารศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี การเกษตรประจำตำบลฝาละมี (ศบกต.) ปี 2550
  7. เป็นอาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน (อกม.) ปี 2555 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน
    ด้านการเกษตรของหมู่บ้าน ร่วมกับกรรมการหมู่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรหมู่บ้านประสานงานถ่ายทอดความรู้และแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในหมู่บ้าน ติดตามสถานการณ์การเกษตรในหมู่บ้าน และงานเร่งด่วน
  8. เป็นสมาชิกอาสารักษาความสงบหมู่บ้านของสถานีตำรวจภูธร จังหวัดพัทลุง
  9. เป็นวิทยากรด้านการพัฒนาที่ดิน ปี 2546
  10. เป็นวิทยากรศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่และวิทยากร
    รับเชิญให้กับโรงเรียนควนพระสาครินทร์ บรรยายและสาธิตในเรื่องช่างซ่อมรถ โดยเฉลี่ยในการเป็นวิทยากร
    เดือนละ 5 ครั้ง
  11. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของกรมพัฒนาที่ดิน
  12. เป็นศาสนพิธีกร เป็นผู้นำทางพิธีกรรมทางศาสนา เช่น วันพระ งานศพงานบวช โดยไม่รับค่าตอบแทนเฉลี่ยเดือนละ 5 ครั้ง
  13. เป็นครูฝึกอาชีพ ช่างซ่อมรถให้แก่ผู้สนใจและผู้บกพร่องทางการได้ยินจนสามารถประกอบอาชีพ
    สร้างรายได้เลี้ยงตนเองได้
  14. เป็นกรรมการจ่ายน้ำของกรมชลประทาน เพื่อจัดระบบการจ่ายน้ำและจัดสรรให้กับเกษตรกร
    และชุมชน
  15. เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เครือข่าย อำเภอปากพะยูน
    ด้านศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีฐานการเรียนรู้จำนวน16 ฐาน ให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้
  16. มีความสามารถในการสื่อสารและทำความเข้าใจเป็นอย่างดี
  17. เป็นตัวอย่างขยายผลให้ผู้อื่นในชุมชน
  18. นำผลผลิตการเกษตรประกวดแข่งขัน (มะนาวแป้น) ในงาน “เที่ยวสนุก กินหร่อย ย้อนรอยเมืองลุง Phatthalung Food&Fair 2017” มหกรรมผลงานการพัฒนาด้านการเกษตรอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นจังหวัดพัทลุง ประจำปี 2560 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
  19. เป็นแหล่งศึกษาดูงานและเรียนรู้ด้านไร่นาสวนผสม เกษตรอินทรีย์ ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง และด้านดิน ของจังหวัดพัทลุง

    ทุกคนชื่นชมยินดีที่ได้มาศึกษาดูงาน
    ทุกคนชื่นชมยินดีที่ได้มาศึกษาดูงาน

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  1. พื้นที่การเกษตรมีเอกสารสิทธิ์แบบโฉนด/นส.4 เลขที่เอกสารสิทธิ์ 1101 ซึ่งไม่ได้อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ
  2. ทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสม โดยใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก จากเศษวัสดุการเกษตรหมุนเวียน
    การใช้ทรัพยากรในไร่นา พึ่งพาปัจจัยการผลิต ภายนอกน้อยลง ทำให้ระบบนิเวศเกษตรดีขึ้น
  3. ตั้งแต่ พ.ศ.2538 เลิกใช้ปุ๋ยเคมีโดยเด็ดขาด มีการไถกลบตอซังข้าวหลังฤดูการเก็บเกี่ยว เพื่อลดภาวะโลกร้อน (ไม่เผาตอซัง) และอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ
  4. ปลูกพืชตระกูลถั่ว (ถั่วลิสง) ภายหลังฤดูทำนา
  5. ปลูกหญ้าแฝก เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการพังทลายของดิน และปรับปรุงดิน ลดการสูญเสียธาตุอาหาร เพื่อสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศ
  6. เลี้ยงผึ้งโพรงไทย เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้คงอยู่ตลอดไป
  7. ขุดสระน้ำ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และเลี้ยงปลาเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีน และจำหน่าย
  8. ปลูกพืชไร่ และพืชผักฤดูแล้ง เพื่อบริโภคและจำหน่าย เศษใบและต้นของพืชถูกไถกลบ เพื่อเป็นพืชปุ๋ยสด ปุ๋ยหมัก เป็นการนำเศษซากพืชหมุนเวียนกลับคืนสู่ดิน ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ดินพื้นคืนความอุดมสมบูรณ์มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชและยังช่วยลดต้นทุนการผลิต
  9. ปลูกปอเทืองหลังนา เมื่อออกดอกไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด ปอเทืองมีเปอร์เซ็นต์ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
  10. มีการจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ ทางการเกษตรภายในแปลงมีโรงเรือนที่เหมาะสม มีการจัดการเป็นระบบ
  11. มีการกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยการใช้น้ำหมักชีวภาพ และใช้กับดักแมลงวันทองที่คิดค้นขึ้นมาเองจนประสบความสำเร็จ
  12. มีการจัดการเรื่องการเลี้ยงเป็ด ไก่ การเลี้ยงสัตว์น้ำ และแปลงพืชอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และถูกสุขลักษณะ ไม่มีเสียง และกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้านข้างเคียง

ผู้สนใจศึกษาดูงานสวนลุงใจ ติดต่อได้ที่บ้านเลขที่ 224 หมู่ที่ 2  ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง โทรศัพท์ 08 3537 1313

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated