รัฐบาลได้มีนโยบายในการมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการที่ดี มีต้นทุนการผลิตต่ำ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต โดยยึดหลักตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนองนโยบายดังกล่าว ด้วยการปฏิรูปภาคการเกษตร นำนวัตกรรมเทคโนโลยีและองค์ความรู้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้เกษตรกรรู้จักวิธีลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันตามเป้าหมายของประเทศตามแนวทางประชารัฐ

นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ลงพื้นที่ไปพบกับ พ.จ.ท.เฉลียว น้อยแสง ครูบัญชีดีเด่น...
นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ลงพื้นที่ไปพบกับ พ.จ.ท.เฉลียว น้อยแสง ครูบัญชีดีเด่น…

พ.จ.ท.เฉลียว น้อยแสง เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ประจำปี 2561 ของจังหวัดชัยนาท ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นประธานนาแปลงใหญ่จังหวัดชัยนาทและเป็นประธานนาแปลงใหญ่ของกลุ่มบ้านพระแก้ว อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ถือเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นระยะเวลา 10 ปี จากเดิมที่เคยรับราชการทหาร ภายหลังได้ลาออกมาประกอบอาชีพเลี้ยงวัวและเลี้ยงไก่ แต่ประสบกับปัญหาราคาเนื้อวัวตกต่ำและไข้หวัดนกระบาด จึงทำให้หันมาประกอบอาชีพทำนาและปลูกผัก และพยายามคิดค้นหาวิธีลดต้นทุนการผลิตโดยใช้สารชีวภาพ เพื่อนำมาใช้ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร พร้อมทั้งมีการจดบันทึกบัญชีต้นทุนอาชีพ ซึ่งได้รับการแนะนำจากจากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ชัยนาท กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จนสามารถนำข้อมูลทางบัญชีมาวิเคราะห์วางแผนการดำเนินงานด้านการเกษตร ในการหาปัจจัยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตได้

หลังนำบัญชีมาปรับใช้ในการวางแผนการผลิตของตนเองแล้ว ก็ยังถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบัญชี
แก่เกษตรกรในพื้นที่นาแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวและเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ รวมไปถึงเกษตรกรทั่วไป และคนในชุมชน เพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ของการทำบัญชี รู้จักจดบันทึกบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อให้รู้ถึงรายรับ-รายจ่ายที่เกิดขึ้น แล้วนำมาวิเคราะห์หาแนวทางการลดต้นทุนการผลิต ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อีกทั้งยังสามารถใช้ข้อมูลทางบัญชีเพื่อวิเคราะห์หาแนวทางปรับเปลี่ยนอาชีพที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร ปัจจุบันเกษตรกรสมาชิกนาแปลงใหญ่กลุ่มบ้านพระแก้ว จำนวนกว่า 200 ราย ได้มีการจดบันทึกบัญชีเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการประเมินผลและวางแผนการประกอบอาชีพในฤดูการผลิตถัดไป

“…ในอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรมักทำการเกษตรโดยที่ไม่ได้จดบันทึกค่าใช้จ่ายอะไรเลย เมื่อมีเจ้าหน้าที่จากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เข้ามาให้ความรู้ด้านบัญชี จึงทำให้เกษตรกรรู้ต้นทุนการผลิต รู้จักการใช้จ่ายเงิน ทำให้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อีกทั้งยังเก็บข้อมูลจากบัญชีไว้เพื่อสำหรับพยากรณ์การทำการเกษตรในฤดูต่อไป ดังนั้นไม่ว่าจะประกอบอาชีพเกษตรกรหรืออาชีพต่างๆ หากเราไม่ทำบัญชีควบคู่ไปด้วย เราก็จะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำไปนั้นจะดีขึ้นหรือแย่ลง อย่างที่คนทั่วไปพูดกันว่า อาชีพเกษตร ยิ่งทำยิ่งจน แต่ความจริงแล้วหากเราทำบัญชี เราจะรู้ผลลัพธ์ได้เลย เพราะฉะนั้นเราจะไม่จน ถ้าเราทำบัญชี…” ครูเฉลียว กล่าว

การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง
การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

ครูเฉลียว ยังนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อาทิ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การสกัดสมุนไพรไล่แมลง และฮอร์โมนน้ำหมัก ซึ่งผลิตขึ้นเองเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต โดยครูเฉลียวเลือกการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด โดยใช้ให้น้อย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคำนึงถึงระยะเวลาในการใช้ให้ยาวนานและก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อีกทั้งยังมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท เก็บไว้ทานและใช้เอง รวมทั้งจำหน่ายให้แก่คนในชุมชน ทำให้เกษตรกรมีความอยู่ดี กินดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พ.จ.ท.เฉลียว น้อยแสง ครูบัญชีดีเด่น ประจำภาค ปี 61
พ.จ.ท.เฉลียว น้อยแสง ครูบัญชีดีเด่น ประจำภาค ปี 61

ปัจจุบันครูเฉลียว น้อยแสง ยังทำหน้าที่เป็นครูบัญชีอาสาและกรรมการชมรมครูบัญชีของสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ชัยนาท นับเป็นบุคคลตัวอย่างในการดำเนินชีวิตที่ประสบความสำเร็จจากการจดบันทึกบัญชี อีกทั้งยังปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวม โดยถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีให้แก่เกษตรกรและส่งเสริมการทำบัญชีสู่ชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการนำระบบบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการภาคการเกษตรอย่างเหมาะสม ซึ่งทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีเงินออม สามารถเป็นชุมชนต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated