สภาเกษตรกรแห่งชาติ เดินหน้าจดอนุสิทธิบัตร การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติระบบปิด มั่นใจระบบนี้จะช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับกุ้งได้แทบทุกชนิด มั่นใจสร้างประเทศไทย-อาหารปลอดภัย เกษตรกร รายเล็ก รายใหญ่ใช้ระบบนี้ได้หมด

ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ
ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ

ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เนื่องจากนายเดชา บรรลือเดช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประมง สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ศึกษา ค้นคว้า ทดลองเรื่องการเลี้ยงกุ้งที่สามารถแก้ไขปัญหาโรคต่างๆในระบบเลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะโรคกุ้งตายด่วน(EMS)ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้ผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้น ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งได้อย่างยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ 13-14 มีนาคม 2559  ในงาน “สานพลังประชารัฐสร้างเศรษฐกิจฐานรากขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรและภาคเกษตรกรรม สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” จัดโดยสภาเกษตรกรแห่งชาติที่เมืองทองธานี รองนายกรัฐมนตรีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานพิธีเปิด ภายในงานสภาเกษตรกรฯได้จัดแสดงการเลี้ยงกุ้งรูปแบบอิงธรรมชาติและได้รับการแนะนำจากรองนายกรัฐมนตรีว่าการเลี้ยงกุ้งรูปแบบอิงธรรมชาติเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งที่สำคัญและยั่งยืน เห็นควรให้สภาเกษตรกรแห่งชาติดำเนินการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญา สภาเกษตรกรแห่งชาติจึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมและมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาบ่อสาธิตวิธีการเลี้ยงกุ้งรูปแบบอิงธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านประมงจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้แทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้แทนคณะประมงจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้แทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย และผู้แทนจากกรมประมง โดยสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นเลขานุการดำเนินการจัดประชุม และดำเนินการยื่นคำขอจดอนุสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา โดยการดำเนินงานนั้นสภาเกษตรกรฯได้ดำเนินการขอยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการขอรับสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร ซึ่งได้รับการยกเว้นเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐ และการดำเนินการยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในชื่อ “บ่อเลี้ยงกุ้งและกระบวนการเลี้ยงกุังอิงธรรมชาติระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด” ได้รับการตรวจสอบการประดิษฐ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้แก้ไขข้อถือสิทธิเพิ่มเติมจากเดิมคือ 2 ข้อถือสิทธิ เป็น 5 ข้อถือสิทธิ เพื่อให้ครอบคลุมสิทธิมากที่สุด ซึ่งสภาเกษตรกรฯได้จัดทำข้อเสนอเพิ่มเติมเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอกรมทรัพย์สินทางปัญญาจดอนุสิทธิบัตรเพื่อให้เป็นสมบัติของสภาเกษตรกรฯนำเผยแพร่ให้กับพี่น้องเกษตรกรที่สนใจการเลี้ยงกุ้งด้วยวิธีอิงธรรมชาติดังกล่าวดำเนินการต่อไป

เตรียมความพร้อมจดอนุสิทธิบัตร...
เตรียมความพร้อมจดอนุสิทธิบัตร…

ระบบเลี้ยงกุ้งอิงธรรมชาติเป็นอย่างไร

นายเดชา บันลือเดช สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิดนี้จะป้องกันโรคที่เกี่ยวกับกุ้งได้แทบทุกชนิด ระบบนี้จะควบคุมได้ทั้งหมด ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่อาหารปลอดภัย ส่งขายและเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศได้และระบบนี้ เกษตรกร ผู้ประกอบการรายเล็ก รายใหญ่สามารถเข้าถึงได้

“วิธีการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาตินั้นเป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ใช้เทคโนโลยี และชีววิทยาร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นจากการเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อที่จะสร้างสิ่งมีชีวิตให้เกิดขึ้นแล้วเกื้อหนุนการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำให้เป็นไปอย่างยั่งยืน”

รูปแบบบ่อเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ...
รูปแบบบ่อเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ…

ส่วนวิธีการนั้นคือการปรับบ่อเลี้ยงให้ได้ขนาดตั้งแต่ 2-3 ไร่ รูปทรงบ่อให้เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กลางบ่อให้ขุดหลุมกลมพื้นที่ระหว่าง 10-15% ของพื้นที่บ่อ ความลาดชันของบ่อประมาณ 45 องศา ก้นหลุมให้ฝังท่อซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร 1 ท่อวางซ้อนกัน พื้นบ่อให้ทำแนวลาดเอียงเข้าหาหลุมกลางบ่อ ติดตั้งท่อดูดเลนขนาด 4 นิ้ว กลางหลุมและต่อท่อวางตามพื้นบ่อไปยังบริเวณขอบบ่อที่เป็นที่ตั้งของปั๊มที่จะใช้ดูดเลนจากบ่อเลี้ยงไปยังบ่อพักน้ำ

ท่อดูดเลนตรงกลางบ่อคือหัวใจของระบบนี้
ท่อดูดเลนตรงกลางบ่อคือหัวใจของระบบนี้

จัดบ่อพักน้ำเท่ากับบ่อเลี้ยงหรือใหญ่กว่าแบ่งเป็น 3 ส่วน ให้น้ำไหลผ่านเข้าหากันได้ กำหนดให้บ่อพักน้ำที่  1 เป็นบ่อกรองน้ำที่ 1 และใช้ปลาเป็นตัวกรองน้ำ เช่น ปลาทับทิม,ปลานิล,ปลานวลจันทร์  เลน ขี้กุ้ง และเศษอาหารจากบ่อเลี้ยงจะถูกดูดลงบ่อนี้ บ่อพักที่ 2 จะเป็นบ่อกรองน้ำที่ 2 และ  3 ตามลำดับ ทุกบ่อจะมีปลาที่ทำหน้าที่เป็นตัวกรองธรรมชาติ โดยกำหนดความหนาแน่นของปลาให้เหมาะสม วัดค่า pH ดินพื้นบ่อ 8 -10 จุด ค่าเฉลี่ยที่ได้จะต้องอยู่ระหว่าง 6.8 – 7.0 น้ำเข้าบ่อเลี้ยงความลึกประมาณ 1.5 เมตร

จากนั้นนำกากชา รำละเอียด จุลินทรีย์หมักและให้อากาศ เมื่อครบ 48 ชั่วโมง ให้นำไปสาดหน้าใบพัด เพื่อสร้างที่อาศัยให้กับจุลินทรีย์ สร้างสัตว์หน้าดิน สร้างอาหารและเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ให้ต่อเนื่องและพอเพียง เมื่อกระบวนการเตรียมน้ำเสร็จ คุณภาพน้ำจะอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยง เมื่อครบกำหนด 15-20 วันที่ลูกกุ้งได้รับอาหารจากธรรมชาติในบ่อเลี้ยงกุ้งแล้ว ให้เริ่มให้อาหารเม็ดได้ทันที

ภาพแสดงนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ
ภาพแสดงนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ

หากเกษตรกรหรือผู้ประกอบการสนใจสามารถเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำสามร้อยยอด – ปราณบุรี จำกัด โทร.032-688-789 ,08-6368-7762 หรือนายเดชา บันลือเดช 08-9836-4133

นายเดชา บรรลือเดช...ผู้ศึกษา ค้นคว้า ทดลองระบบการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติจนประสบความสำเร็จ
นายเดชา บรรลือเดช…ผู้ศึกษา ค้นคว้า ทดลองระบบการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ จนนำมาซึ่งการจดอนุสิทธิบัตรในครั้งนี้
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated