กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เร่งตรวจสอบสหกรณ์ฯรถไฟ...ทำเสียหาย 2,000 ล้านบาท
นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (นั่งหัวโต๊ะ) เร่งตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น...

จากกรณีการพบความผิดปกติของงบการเงินสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ส่งผลให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนเกิดความเสียหายเป็นเงิน 2,000 กว่าล้านบาทนั้น…

นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด และตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของสหกรณ์ โดยพบว่าปัญหาเกิดขึ้นในระหว่างปี 2555 – 2559 สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ได้มีการอนุมัติและจ่ายเงินกู้ให้กับสมาชิกที่เป็นกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ จำนวน 6 ราย รวม 199 สัญญา เป็นจำนวนเงิน 2,000  กว่าล้านบาท ซึ่งการจ่ายเงินกู้ดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์ ว่าด้วยเงินกู้พิเศษ พ.ศ. 2554 ซึ่งส่งผลให้สหกรณ์ฯ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้รายงานข้อสังเกตให้ นายทะเบียนสหกรณ์ทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด...ถึงคราที่ต้องแก้ไขปัญหาการเงินขาดสภาพคล่อง
สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด…ถึงคราที่ต้องแก้ไขปัญหาการเงินขาดสภาพคล่อง

จากกรณีดังกล่าว กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ชุดที่ 12 ได้เข้าพบเพื่อหารือขอความช่วยเหลือจากกรมฯ ในการเข้าตรวจสอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชี กรมฯ จึงได้แต่งตั้งผู้สอบบัญชีสหกรณ์จากส่วนกลางและทีมสนับสนุนด้านไอที เข้าตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลและติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาของสหกรณ์ เพื่อประเมินความเสี่ยงและจัดทำแผนการตรวจสอบงบการเงินในขั้นตอนต่อไป ซึ่งจากข้อมูลฐานะทางการเงิน พบว่าสหกรณ์ฯ มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงได้ร่วมประชุมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และสหกรณ์ที่เป็นเจ้าหนี้ ผู้ฝากเงิน อีก 14 แห่ง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของสหกรณ์ร่วมกัน คาดว่าจะใช้เวลาอีกสักระยะ ทั้งนี้ สหกรณ์จะต้องใช้ความระมัดระวังในการกำหนดแผนการแก้ไขปัญหาและดำเนินงาน เพื่อให้มีสภาพคล่องได้ตามปกติ

“กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับการตรวจสอบบัญชี เมื่อตรวจพบความผิดปกติหรือพบสัญญาณความเสี่ยงไปในทางทุจริต มาตรการแรกคือ รายงานให้รองนายทะเบียนสหกรณ์ทราบ เพื่อแจ้งให้สหกรณ์ดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ ต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกัน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ โดยที่ผ่านมา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการเข้าตรวจสอบการเงินการบัญชีของสหกรณ์มาโดยตลอด และมีการปรับแผนเข้าตรวจสอบบัญชีจากเดิมปีละ 1-2 ครั้ง มาเป็นทุกๆ 3 เดือน เพื่อเป็นการตรวจสอบ ที่ต่อเนื่อง และเข้ากำกับการจัดทำบัญชีสหกรณ์ได้มากขึ้น” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated