“ระบบเกษตรพันธสัญญา” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คอนแทรคท์ ฟาร์มมิ่ง” (Contract Farming) เป็นระบบที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสินค้าเกษตรมาอย่างยาวนาน แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงมีปัญหาอย่างมากในการนำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะการทำสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกร ทำให้เกษตรกรกลายเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงทั้งหมดในกระบวนการผลิต และแม้ว่าฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจเป็น ผู้ผิดสัญญาเสียเอง เกษตรกรก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะฟ้องร้องหาความเป็นธรรมให้กับตนเอง จากช่องโหว่ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการผลักดัน “พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560” โดยมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา

นายพีรพันธ์  คอทอง  รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวถึงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ระบบเกษตรพันธสัญญา” ว่าเป็นระบบการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร ที่เกิดขึ้นจากสัญญาการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรประเภทเดียวกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรฝ่ายหนึ่งกับบุคคลธรรมดา ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่สิบรายขึ้นไป หรือกับสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกรซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเกษตรกรตกลงที่จะผลิต จำหน่ายหรือรับจ้างผลิตผลิตผลทางการเกษตรตามจำนวน คุณภาพ ราคาหรือระยะเวลาที่กำหนดไว้ และผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรตกลงที่จะซื้อผลิตผลดังกล่าวหรือจ่ายค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ตามสัญญา โดยที่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนในกระบวนการผลิต เช่น เป็นผู้กำหนดผลิต  จัดหาพันธุ์  เมล็ดพันธุ์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร

“การที่รัฐตรากฎหมายมากำกับดูแลระบบดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ เพื่อสร้างหลักเกณฑ์การทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ป้องกันปัญหาการโฆษณาชวนเชื่อหรือชี้ชวนเกินจริง การทำสัญญาที่ขาดความชัดเจน ไม่โปร่งใส มีข้อความผูกมัดเพื่อเอาเปรียบคู่สัญญาจนกลายเป็น “สัญญาไม่เป็นธรรม” ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง” นายพีรพันธ์  กล่าว

นายพีรพันธ์ กล่าวถึงประโยชน์ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ด้วยว่า ประกอบด้วย 3 ด้านหลักๆ คือ
  1. ช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้เป็นธรรมอย่างยั่งยืน กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงด้านการตลาด มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐานไปยังเกษตรกร เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้ ส่วนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
  2. ช่วยให้เกษตรกรได้รับความคุ้มครองในการทำสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม ป้องกันปัญหาการโฆษณาชวนเชื่อและชี้ชวนเกินจริง กำกับดูแลการทำสัญญาให้มีความชัดเจน โปร่งใส ไม่ให้เกิดการเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่าย หรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายต้องรับภาระเกินกว่าสมควร และ
  3. ช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดจากการทำสัญญาและลดการนำคดีขึ้นสู่ศาล โดยมีกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทำให้การแก้ปัญหาข้อพิพาทมีความรวดเร็ว  ประหยัดค่าใช้จ่ายและยืดหยุ่นกว่ากระบวนการในศาลยุติธรรม รวมทั้งมีมาตรการคุ้มครองคู่สัญญาระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วย
 อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่จะเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญามีหน้าที่จะต้องดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ 
  1. ต้องมาจดแจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตร พันธสัญญา ต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ในจังหวัดที่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ หรือภูมิลำเนาตั้งอยู่ ก่อนเริ่มประกอบกิจการ และในกรณีที่ประกอบธุรกิจอยู่ก่อนแล้วต้องมาแจ้งภายใน  30 วันนับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน  60 เป็นต้นไป โดยช่องทางในการแจ้งมี 2 ช่องทาง คือ ผ่านเว็บไซต์ http://www.opsmoac.go.th/contractfarming หรือแจ้งด้วยตนเอง และ
  2. การทำสัญญากับเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดทำเอกสารสำหรับชี้ชวนและร่างสัญญาที่มีรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนด ให้เกษตรกรทราบล่วงหน้าก่อนเข้าทำสัญญา

กฎหมาย “ระบบเกษตรพันธสัญญา” จึงถือเป็นการเปิดมิติใหม่  ในการสร้างความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบธุรกิจแบบยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา  สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โทร. 0-2281-5955 ต่อ 354 หรือสายด่วน 1170

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated