เจาะความผาสุกเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง ได้เกณฑ์พัฒนาที่ดี แนะ เสริมระบบนิเวศ หนุนเกษตรกรรุ่นใหม่
เจาะความผาสุกเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง ได้เกณฑ์พัฒนาที่ดี แนะ เสริมระบบนิเวศ หนุนเกษตรกรรุ่นใหม่

เผยสศท.8 ความผาสุกของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อยู่ที่ระดับ 83.38 เป็นเกณฑ์การพัฒนาที่ดี โดยการพัฒนาด้านสังคม สุขอนามัย อยู่ในระดับดีมาก ส่วนด้านการศึกษา และเศรษฐกิจ อยู่ในระดับดี ในขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อม พบว่ายังขาดความสมดุลในระบบนิเวศ แนะส่งเสริมพัฒนาปรับปรุง และเร่งสานต่ออาชีพเกษตรกรรมให้คนรุ่นใหม่

เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

นายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) ได้ศึกษาถึงตัวชี้วัดความผาสุกของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริและข้อมูลพื้นฐานโครงการว่าโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

ตั้งอยู่ตอนใต้ของจ.นครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 13 อำเภอ 77 ตำบล 665 หมู่บ้าน 179,476 ครัวเรือน ประชากร 531,524 คน  ซึ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดความเสื่อมโทรม ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเกิดปัญหาระบบนิเวศเสียสมดุล ราษฎรในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังเดิม และโยกย้ายถิ่นฐานออกไปทำมาหาเลี้ยงชีพนอกพื้นที่

ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ จึงทรงมีพระราชดำริอย่างต่อเนื่องถึง13 ครั้ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการดำเนิน “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.2753 ล้านไร่ ขึ้นในปี2535 และแล้วเสร็จในปี  2547  โดยยึดแนวพระราชดำริ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีสองแผนงานหลัก คือ

เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

แผนบริหารจัดการและฟื้นฟูนิเวศลุ่มน้ำปากพนัง และแผนแม่บทการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้                  โดยโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีเป้าหมายให้ราษฎรในพื้นที่อยู่ดีกินดี มีความสุข ตามพระราชประสงค์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมบูรณาการ สนองพระราชดำริครอบคลุมทุกด้านมาอย่างต่อเนื่อง ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาโดยลำดับ ระบบนิเวศต่างๆ ปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่โดยมีนิเวศแหล่งน้ำเป็นหัวใจหลัก ราษฎรที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานออกไปหาเลี้ยงชีพนอกพื้นที่กลับสู่ถิ่นฐานมาประกอบอาชีพในพื้นที่ มีความอยู่ดีกินดีขึ้นโดยลำดับจากการพัฒนาพื้นที่ในโครงการ

สำหรับแผนการพัฒนาล่าสุด คือ แผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. 2560-2564 มีวิสัยทัศน์ คือ “พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งแวดล้อมสมดุล ประชาชนมีความผาสุก ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตัวชี้วัดหลัก คือ ความผาสุกของเกษตรกรในพื้นที่ฯ

เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

ในการนี้ สศท. 8 ได้จัดทำผลตัวชี้วัดด้านความผาสุกของเกษตรกรฯ ยึดตามวิธีการจัดทำดัชนีความผาสุกของประเทศ พร้อมทั้งเสนอแนวทางพัฒนาการเกษตรและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ  โดยผลการศึกษาดัชนีความผาสุกของเกษตรกรวัดจากการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สุขอนามัย การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่าในปี 2560 เกษตรกรในพื้นที่ฯ มีความผาสุกในระดับ 83.38 จัดอยู่ในระดับการพัฒนาดี  แต่การพัฒนายังคงไม่สมดุล โดยการพัฒนาด้านสังคม และด้านสุขอนามัย อยู่ในระดับดีมาก ด้านการศึกษา และด้านเศรษฐกิจ อยู่ในระดับดี อย่างไรก็ตาม ทางด้านสิ่งแวดล้อม (สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ต่อพื้นที่ทั้งหมดของโครงการฯ) ยังอยู่ในระดับต้องปรับแก้ไข โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจากการขยายพื้นที่เพื่อปลูกปาล์ม และยางพารา

เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ควรสนับสนุนการฟื้นฟูและปลูกป่าเพิ่ม เพื่อสร้างความสมดุลในระบบนิเวศให้มากขึ้น และการจัดที่ทำกินในพื้นที่ป่าไม้ ส่งเสริมการพัฒนาปรับปรุง/ฟื้นฟูทรัพยากรดินอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างความภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรมให้มากขึ้น  โดยสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนหรือเกษตรกรรุ่นใหม่และแรงงานที่มีคุณภาพ เข้าสู่อาชีพเกษตรกรรม เพิ่มมาตรการจูงใจให้ยุวเกษตรกร สานต่ออาชีพเกษตรกรรมต่อไป  

เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated