เกษตรฯย้ำ! ไม่ยื้อ 2 วัตถุอันตราย “พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส”
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

กรมวิชาการเกษตร ยันขาดความเชี่ยวชาญด้านอันตรายต่อมนุษย์ ต้องส่งเรื่องพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายชี้ชะตา ดีเดย์พร้อมส่งข้อมูลภายในสัปดาห์นี้

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยกรณีมีข่าวว่ากรมวิชาการเกษตรยื้อเวลาการใช้วัตถุอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไปโดยส่งเรื่องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณานั้น ไม่เป็นความจริงเพราะการส่งเรื่องการพิจารณาวัตถุอันตรายพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส พร้อมข้อมูลทางวิชาการที่กรมวิชาการเกษตรรวบรวมทั้งหมด รวมถึงข้อกังวลด้านสุขอนามัยโดยเฉพาะอันตรายต่อมนุษย์ ไปให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายนั้น คณะกรรมการชุดดังกล่าวมิใช่คณะกรรมการที่กรมวิชาการเกษตรตั้งขึ้น แต่เป็นคณะกรรมการตาม พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหน้าที่ของคณะอนุกรรมการพิจารณาเพื่อขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ระบุว่า หากจะดำเนินการเพิกถอนทะเบียนด้วยเหตุผลที่วัตถุอันตรายนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ สิ่งมีชีวิตโดยไม่มีวิธีการปกติในการที่จะป้องกันได้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยคำแนะนำของคณะกรรมการวัตถุอันตรายก่อน    

เกษตรฯย้ำ! ไม่ยื้อ 2 วัตถุอันตราย “พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส”
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ประกอบกับในกรณีนี้ข้อมูลด้านสุขอนามัยโดยเฉพาะอันตรายต่อมนุษย์นั้น คณะอนุกรรมการฯเห็นว่ายังขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะพิจารณา จึงเห็นสมควรส่งเรื่องดังกล่าวไปขอคำปรึกษาจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ (มาตรา 7) ที่จะให้คำปรึกษาเรื่องใดๆ เกี่ยวกับวัตถุอันตราย นอกจากนี้ในการที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะพิจารณาตัดสินใจประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย และมีไว้ในครอบครอง ก็จำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวก่อน หรือถ้าข้อมูลยังไม่เพียงพอและสมควรที่จะให้มีใช้ต่อไป ก็จะยังคงจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 คือสามารถผลิต นำเข้า ส่งออกและมีไว้ในครอบครองได้ต่อไป โดยมีคำแนะนำจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการเพื่อลดความเสี่ยง และจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 2 ชนิด   โดยกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการส่งข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายภายในสัปดาห์นี้

“กรมวิชาการเกษตรขอยืนยันว่าการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับวัตถุอันตรายทุกชนิด ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญในการลดใช้สารเคมี  และการที่จะผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะสนับสนุนการลด ละ เลิก การใช้ เมื่อมีความจำเป็น โดยคำนึงถึงความเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จะศึกษาและเร่งรัดหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้สารดังกล่าวต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated