สวทน. จับมือ ม.เกษตรศาสตร์ “ปั้นนักวิจัยภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหาร”
เปิดตัวโครงการปั้นนักวิจัยภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหาร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระดมอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัยให้คำแนะนำและช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยรูปแบบและวิธีการใหม่เพื่อช่วยให้ภาคเอกชนมีนักวิจัยที่สามารถดำเนินการวิจัยและพัฒนาได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึงพาที่ปรึกษา หรือนักวิจัยจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรวิจัยในอุตสาหกรรมอาหาร” “R&D Talent Development Program for Food Industry” โดยผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย คาดอุตสาหกรรมอาหารไทยจะขึ้นอันดับหนึ่งของโลกด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม ตอบโจทย์กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4.0 ของประเทศ

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถ่ายรูปร่วมกับคณะ สวทน.ในเปิดตัวโครงการปั้นนักวิจัยภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหาร
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถ่ายรูปร่วมกับคณะ สวทน.ในเปิดตัวโครงการปั้นนักวิจัยภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหาร

วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรวิจัยในอุตสาหกรรมอาหาร” “R&D Talent Development Program for Food Industry” ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เกียรติเป็นประธานในงาน

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ให้เป็นสถาบันการศึกษาหลักในการผลักดันการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิจัยจากภาครัฐไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และที่สำคัญในปี 2560 นี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับเลือกให้นำร่องรูปแบบการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นที่การส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบุคลากรวิจัยที่สามารถดำเนินการวิจัยและพัฒนาได้ด้วยตนเองของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งจะช่วยให้เอกชนมีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน โดยไม่จำเป็นต้องพึงพาที่ปรึกษา หรือนักวิจัยจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก” การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ทำให้ภาคเอกชนจำเป็นต้องมีการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยอย่างต่อเนื่องให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตรเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติว่าเป็นผู้นำทางวิชาการและการวิจัยด้านอุตสาหกรรมเกษตรในเอเชียที่มีความเชี่ยวชาญและบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จมาอย่างมากมาย

นักศึกษาโชว์ผลงานเกี่ยวกับงานวิจัยอาหาร
นักศึกษาโชว์ผลงานเกี่ยวกับงานวิจัยอาหาร

นอกจากนี้ ในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และการพัฒนากำลังคนสำหรับอุตสาหกรรม” โดย ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษีนชยาภรณ์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนากำลังคนสะเต็ม สวทน. เปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวข้ามภาวะกับดักรายได้ปานกลาง และนำพาประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจ 4.0 ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาของโครงการ Talent Mobility (โครงการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิจัยจากภาครัฐไปปฏิบัติงานในภาคเอกชน) เราพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดถึง 37% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี สวทน. ต้องการผลักดันให้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหารไทยสร้างนวัตกรรม และองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่มากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ร่วมงานกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์โดยเฉพาะในด้านเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร จึงจัดให้มีโครงการนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการคือ 1) ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่สามารถสร้างเทคโนโลยี และนวัตกรรมได้ด้วยตนเอง และ 2) นำร่องรูปแบบการบริหารหน่วยงานพัฒนานักวิจัยในภาคเอกชนเพื่อให้การช่วยเหลือจากภาครัฐมีประสิทธิภาพ และเกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น”

ผลงานอาหารตัวอย่าง
ผลงานอาหารตัวอย่าง

ผศ.ดร. ธนิต พุทธพงษ์ศิริพร หัวหน้าโครงการชี้แจงประโยชน์ที่ภาคเอกชนจะได้รับว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถยืมตัวผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยผู้ช่วยจากสถาบันการศึกษาไปให้คำปรึกษา และช่วยดำเนินงานวิจัยและพัฒนาถึงสถานประกอบการเป็นเวลา 3-7 เดือน โดย สวทน. จะสนับสนุนออกค่าใช้จ่ายให้ สำหรับกรณีที่สถานประกอบการยังไม่มีความพร้อมทางด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสถานที่ ผู้ประกอบการสามารถส่งบุคลากรของตนเข้ามาฝึกหัดทำงานเชิงวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในสถาบันอุดมศึกษาได้ และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ ผู้ประกอบการสามารถเลือกรับนักวิจัยผู้ช่วยเป็นพนักงานในองค์กรเพื่อสานต่องานวิจัยในระยะต่อไปได้

ข้าวขาหมูพร้อมรับประทานในรูปแบบกระป๋อง
ข้าวขาหมูพร้อมรับประทานในรูปแบบกระป๋อง

ภายในงาน คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังได้จัดกิจกรรม “Food Fashion Show” เพื่อนำเสนอตัวอย่างนวัตกรรมของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งที่มีเอกชนมารับถ่ายทอดเทคโนโลยีไปแล้ว และที่ยังรอให้ผู้ที่สนใจเข้ามาติดต่อเพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ อาทิ บะหมี่ข้าว / โซบะใบหม่อนข้าว / สปาเก็ตตี้ข้าว ที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์สูง และปราศจากกลูเตน / ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมูที่บรรจุถุงด้วยกระบวนการปลอดเชื้อ / ไอศกรีมโยเกิร์ตที่ใช้อินนูลินแทนน้ำตาลและให้สารพรีไบโอติกสูง / ขนมวาฟเฟิลที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง  / ขนมขบเคี้ยวจากข้าวกล้องผสมเห็ด บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ ฯลฯ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้เข้าร่วมงาน

โซบะชาใบหม่อนจากแป้งข้าว
โซบะชาใบหม่อนจากแป้งข้าว

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนานักวิจัยในอุตสาหกรรมอาหาร ชั้น 4 อาคาร อก. 5 คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) โทรศัพท์หมายเลข 064-324-0020 ในวันและเวลาราชการ หรือทางอีเมล info-rdc@ku.ac.th

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated