ดีเดย์…ฝนหลวงฯ พร้อมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชวันแรก
วันแรกของการปฏิบัติการ โปรยเมล็ดพันธุ์พืชใน 3 พื้นที่หลักของประเทศเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเพิ่มผืนป่า

กรมฝนหลวงและการบินเกษตรพร้อมสำหรับการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชใน 3 พื้นที่หลัก ของประเทศเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเพิ่มผืนป่า ภายใต้แนวคิด “9 วัน สู่วันมหามงคล 65 วัน สืบสาน พระราชปณิธาน” ตามโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทย สานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

พื้นที่โปรยเมล็ดพันธุ์พืช
พื้นที่โปรยเมล็ดพันธุ์พืช

เมื่อเร็วๆนี้ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมฝนหลวงและ การบินเกษตร ดำเนินโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศหลังการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 28 กรกฎาคม 2560 ภายใต้แนวคิด “9 วัน สู่วัน หามงคล 65 วัน สืบสานพระราชปณิธาน” กับหน่วยงาน ร่วมบูรณาการ 7 หน่วยงาน เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า เป็นอาหารของสัตว์ป่า และเป็นต้นทุนความชื้นในการปฏิบัติการ ฝนหลวง ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมด้านการปั้นเมล็ดพันธุ์พืชไปเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา และสำหรับในวันนี้ เป็นวันแรกที่จะเริ่มปฏิบัติการ จึงได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อนำขึ้นเครื่องบินไปโปรยหลังเสร็จสิ้นจากภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันในบริเวณพื้นที่เป้าหมายที่รับผิดชอบ ได้แก่ ภาคกลาง บริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและอุทยานแห่งชาติเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และภาคใต้ บริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

สำรวจพื้นที่โปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ
สำรวจพื้นที่โปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ

สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่ใช้โปรยในโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ จำนวน 14 ชนิด แบ่งตามลักษณะพื้นที่เป้าหมายการโปรย คือ ภาคกลาง จำนวน 11 ชนิด ได้แก่ กัลปพฤกษ์ กาฬพฤกษ์ ขี้เหล็ก แดง พฤกษ์ มะค่าแต้ ราชพฤกษ์ (คูน) สาธร (กระเจาะ) สีเสียด (สีเสียดแก่น) อะราง (นนทรีป่า) และมะค่าโมง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ไผ่รวกและพะยูง และภาคใต้ จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ประดู่ (ตีปีก) และมะค่าโมง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มผืนป่าตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ช่วยเพิ่มพื้นที่แหล่งต้นน้ำ เป็นอาหารของสัตว์ป่า และเป็นต้นทุนความชื้นสำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและพื้นที่การเกษตรได้ต่อไป นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย

ปฏิบัติการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ
ปฏิบัติการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated