สวก. และ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ เบทาโกร ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาช่อนในพื้นที่ปลูกข้าว

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมง สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาช่อนในพื้นที่ปลูกข้าว  สนับสนุนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามนโยบายประชารัฐ เพิ่มความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรไทย โดยร่วมกันจัดทำโครงการขยายผล “การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาช่อนในพื้นที่ปลูกข้าว” โดยในปี 2560 จะมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวเปลี่ยนมาเลี้ยงปลาช่อนให้ได้ 200 ราย ซึ่งมีจังหวัดนำร่อง 5 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา หนองคาย กำแพงเพชร และอ่างทอง ภายใต้งบประมาณกว่า 8 ล้านบาท

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “การวิจัยและพัฒนาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ รวมทั้งการผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ความร่วมมือดำเนินโครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาช่อนในพื้นที่ปลูกข้าว ระหว่าง สวก. กับกรมประมง และ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ในวันนี้ เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยการส่งเสริมผลักดันการเพาะเลี้ยงปลาช่อนให้เป็นอาชีพทางเลือกใหม่ ลดความเสี่ยง และเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการลดพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม โดยส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด และสนับสนุนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ 70,000 แห่ง นโยบายการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวเป็นอาชีพเกษตรกรรมอื่น (Zoning) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” ของรัฐบาล”

“ดิฉันขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมกันดำเนินงานเพื่อผลักดันผลงานวิจัยด้านการเกษตรไปสู่ทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรไทย และประเทศชาติ และขอให้การดำเนินการภายใต้ความร่วมมือนี้ สำเร็จผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้” นางสาวชุติมากล่าวปิดท้าย

นายอดิศร  พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ร่วมถ่ายภาพการลงนามการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาช่อนในพื้นที่ปลูกข้าว
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ร่วมถ่ายภาพ “การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาช่อนในพื้นที่ปลูกข้าว”

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า “ปลาช่อน” เป็นปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของไทย ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลายในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือของไทย ซึ่งที่ผ่านมา เกษตรกรบางส่วนยังใช้ลูกพันธุ์ที่จับจากธรรมชาติ ทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงปลาชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมประมงจึงได้ขอสนับสนุนงบประมาณจาก สวก. เพื่อศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลาช่อนแบบครบวงจรให้ได้ปริมาณมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนลูกพันธุ์ให้แก่เกษตรกร ซึ่งในการวิจัยได้มีการศึกษาวิธีการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ การเพาะพันธุ์ การอนุบาลลูกปลา จนประสบความสำเร็จทำให้สามารถพัฒนารูปแบบการเลี้ยงปลาช่อนให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้นทั้งในบ่อดินและบ่อซีเมนต์ พัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาช่อนโดยใช้โฮโมนสังเคราะห์ ซึ่งทำให้สามารถผลิตลูกปลาช่อนให้มีมาตรฐาน โดยมีอัตรารอดตายเฉลี่ย 30-40 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของลูกปลาช่อนจากการกินอาหารมีชีวิตเป็นอาหารเม็ดได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาคู่มือเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ปลาช่อนและรูปแบบโรงเพาะพันธุ์มาตรฐาน พร้อมถ่ายทอดให้เกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการนำความรู้ไปขยายผลทางธุรกิจต่อไป

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าทีในการสนับสนุนทุนวิจัยและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยด้านการเกษตร
การลงนามข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในภารกิจในการสนองตอบนโยบายภาครัฐและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะร่วมกันส่งเสริมการนำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชนเชิงสาธารณะอย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรเกษตรกร และช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ช่วยสร้างผู้นำเกษตรกรที่จะเป็นต้นแบบในการประกอบชีพให้แก่เกษตรรายอื่นต่อไป ซึ่งโครงการขยายผล “การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาช่อนในพื้นที่ปลูกข้าว” จะส่งเสริมผลักดันการเพาะเลี้ยงปลาช่อนให้เป็นทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพ เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดนำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา หนองคาย กำแพงเพชร และอ่างทอง ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวเป็นการเพาะเลี้ยงปลาช่อน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 200 ราย จะมีรายได้สุทธิที่เป็นตัวเงินจากการเลี้ยงปลาช่อนในบ่อดิน เพื่อจำหน่าย บ่อละ 80,000 บาท ในระยะเวลา 3-4 เดือน คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,000,000 บาท และจากการประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์พบว่า หากมีการส่งเสริมผลักดันอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลา 10 ปี จะมีมูลค่าถึง 5,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อโครงการเสร็จสิ้นจะได้นำเทคโนโลยีไปถ่ายทอดและขยายผลให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าว รวมทั้งพื้นที่ที่มีความพร้อมและเหมาะสมต่อไป

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินชมบอร์ดขั้นตอนการเพาะเลี้ยงปลาช่อนในพื้นที่ปลูกข้าว
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินชมบอร์ดขั้นตอนการเพาะเลี้ยงปลาช่อนในพื้นที่ปลูกข้าว

นายชยานนท์ กฤตยาเชวง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารสายงานปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีการส่งเสริมผลักดันยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคธุรกิจ หรือภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน อย่างเช่น การลงนามความร่วมมือการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาช่อนในพื้นที่ปลูกข้าว ระหว่าง สวก. กับกรมประมง และ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ในวันนี้ เป็นการร่วมกันส่งเสริมผลักดันให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นการเพาะเลี้ยงปลาช่อน ซึ่งเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ ลดความเสี่ยง และเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเบทาโกรเล็งเห็นความสำคัญ และยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือและการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของหน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ”

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated