เปิดแผน 5ปี
เปิดยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ 5 ปี

เกษตรฯ เปิดยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ 5 ปี ตั้งเป้าปี 2564 ขยายพื้นที่ผลิตกว่าล้านไร่   พร้อมส่งเสริมเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มกว่า 9 หมื่นราย ชงไทยเป็นผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์ครบวงจรในเขตอาเซียนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

จากซ้าย ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายอนัน สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว
จากซ้าย ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายอนัน สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในระยะ 5 ปีได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบไปด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 11 กลยุทธ์  ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาการผลิตสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์

แผนการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์โดยกรมวิชาการเกษตรและสหกรณ์
แผนการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์โดยกรมวิชาการเกษตรและสหกรณ์

การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรฯ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564  มีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 2564 ไม่น้อยกว่า 1,333,860 ไร่  และมีจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 96,670 ราย เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์และตลาดต่างประเทศ  60 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น โดยมุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่มีความพร้อมเป็นผู้นำต้นแบบในการดำเนินการเพื่อให้มีอาหารปลอดภัยและได้มาตรฐาน

แผนการขับเคลื่อนนโยบานเกษตรอินทรีย์ ในปี 2560-2564
แผนการขับเคลื่อนนโยบานเกษตรอินทรีย์ ในปี 2560-2564

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกรวม 318 ล้านไร่ ใน 183 ประเทศ ในขณะที่ด้านการตลาดมีมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกรวม 3.0 ล้านล้านบาท สำหรับในประเทศไทยมีพื้นที่ผลิตรวม 0.3 ล้านไร่ ถือเป็นอันดับ 8 ของเอเชีย  และอันดับ 60 ของโลก สินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยที่สำคัญได้แก่ กะทิ เครื่องแกง ซอส มูลค่า 1,201 ล้านบาท  ข้าว 552 ล้านบาท   และอื่นๆ เช่น มะพร้าวน้ำหอม ชา กาแฟ และสมุนไพร 558 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวม 2,310 ล้านบาท ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การค้า  การบริโภค และการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ขั้นตอน และมาตราฐานเกษตรอินทรีย์
ขั้นตอน และมาตราฐานเกษตรอินทรีย์

นายสุวิทย์  ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ในปี 2560 ว่า ได้แบ่งพื้นที่การดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ที่จังหวัดยโสธร ซึ่งมีการปลูกข้าวอินทรีย์เป็นพืชหลัก ปลูกพืชผักหลังนา และเลี้ยงไก่อินทรีย์เป็นกิจกรรมเสริม และพื้นที่ทั่วไปซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายทั้งพืช  ปศุสัตว์ และประมงอินทรีย์ ส่วนกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานได้แบ่งเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มเริ่มใหม่ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการและได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตหรือความรู้เบื้องต้น กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มเกษตรกรที่พร้อมยกระดับ โดยเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ยู่แล้ว และอยู่ระหว่างการขอรับรอง โดยจะให้การสนับสนุนตั้งโรงผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศ ปัจจัยการผลิต จัดทำแปลงสาธิต หมู่บ้านต้นแบบ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ พัฒนาต่อยอดการผลิต และกลุ่มสุดท้ายได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์แล้ว จะมีการเชื่อมโยงตลาดและเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าส่งเสริมการแปรรูปและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ สร้างตราสินค้าเกษตรอินทรีย์ และติดตั้งระบบตรวจสอบสินค้า

สินค้าเกษตรอินทรีย์
สินค้าเกษตรอินทรีย์

ผลการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ในปี 2560 พื้นที่รวมทั้งประเทศ 109,040 ไร่  แยกเป็นข้าว 98,239  ไร่ และพืชผสมผสาน 9,103 ไร่

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated