"นายกตู่" บุกจันทบุรี ปฏิรูปการเกษตร

รมว.กษ. แจงผลงานปฏิรูปภาคเกษตรพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเน้นการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เพื่อชี้ความเหมาะสมของพื้นที่ในการทำเกษตร และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก). เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการทำเกษตรที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมการพัฒนาแหล่งน้ำ และ ระบบกระจายน้ำ และส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำเกษตรแปลงใหญ่ ส่งผลให้ลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรเกิดความมั่นคง และยั่งยืนในการทำการเกษตร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี เพื่อตรวจเยี่ยม การดำเนินงานการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี เพื่อตรวจเยี่ยม การดำเนินงานการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ และ การพัฒนาการเกษตรสู่ความยั่งยืน ณ สหกรณ์การเกษตรเขาคิชกูฎ อ.เขาคิชกูฎ จ.จันทบุรี ในวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้ และ มีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร ซึ่งต้องลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และยกมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ในห้วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผลการดำเนินการในภาพรวม และ ใน จ.จันทบุรี ที่สำคัญ คือ

(1) การจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map เพื่อบ่งชี้ความเหมาะสมของพื้นที่ในการทำเกษตร ซึ่งในปัจจุบัน สามารถใช้ผ่านคอมพิวเตอร์ที่มีอินเตอร์เน็ต และ แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ได้ ซึ่งในพื้นที่ จ.จันทบุรี มีสินค้าเกษตรที่สำคัญ 6 ชนิด คือ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย มันสำปะหลัง และ ยางพารา รวมพื้นที่ 1.77 ล้านไร่ พบว่าปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ร้อยละ 12.68 ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรที่เหมาะสมโดยความสมัครใจของเกษตรกรต่อไป

(2) จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์ และ ได้ขยายผลเป็น ศพก. เครือข่าย 8,892 ศูนย์ย่อย โดย จ.จันทบุรี มี 10 อำเภอ มี ศพก. 10 ศูนย์ และ ศพก. เครือข่าย 100 ศูนย์ย่อย ซึ่ง ศพก. นี้ จะเป็นผู้ที่ถ่ายทอดความรู้ในการทำเกษตรที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำเกษตรแปลงใหญ่

(3) การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีลักษณะเพื่อให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันบริหารจัดการ และ ทำการตลาด ทำให้สามารถใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่มาราคาสูงร่วมกันได้ แบ่งแยกหน้าที่ทำให้เกิดความชำนาญเฉพาะด้าน สินค้าในกลุ่มยกระดับเป็นสินค้า GAP มีคุณภาพ ความปลอดภัย ตรงความตรงการของตลาด ใน 2 ปีที่ผ่านมา มีเกษตรแปลงใหญ่ทั้งประเทศ 2,138 แปลง รวมพื้นที่ 3.10 ล้านไร่ เกษตรกร 224,698 ราย จำนวน 67 ชนิดสินค้า

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประเมินผลการดำเนินการพบว่า การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยการนำของเอกชนทำให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น 1,241-1,565 บาท/ไร่ สำหรับแปลงใหญ่ โดยการนำของภาครัฐ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 992-1,168 บาท/ไร่ โดยรวมแล้วการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวม 4,864.94 ล้านบาท/ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ เยี่ยมชมบูธผลไม้ของเกษตรกร

สำหรับในจังหวัดจันทบุรี มีเกษตรแปลงใหญ่ 17 แปลง ใน 9 ชนิดสินค้า ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ลำไย ชันโรง ยางพารา กุ้งขาว โคนม และ หญ้าเนเปียร์ รวมพื้นที่ 10,581 ไร่ เกษตรกร 956 ราย โดยมีตัวอย่างเกษตรแปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ เช่น แปลงใหญ่ทุเรียน ลดต้นทุน ได้ร้อยละ 9.9 จาก 25,551 บาท/ไร่ เหลือ 22,996 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิต ได้ร้อยละ 11.0 จาก 1,461 กก./ไร่ เป็น 1,622 กก./ไร่ แปลงใหญ่มังคุด  ลดต้นทุน ได้ร้อยละ 7.9 จาก 8,622 บาท/ไร่ เหลือ 7,939 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิต ได้ร้อยละ 20.0 จาก 900 กก./ไร่ เป็น 1,080 กก./ไร่ แปลงใหญ่ลำไย ลดต้นทุน ได้ร้อยละ 9.3 จาก 15,000 บาท/ไร่ เหลือ 13,600 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิต ได้ร้อยละ 10.0 จาก 2,000 กก./ไร่ เป็น 2,200 กก./ไร่  ซึ่งหัวใจที่สำคัญของเกษตรแปลงใหญ่ คือ การมุ่งสู่การผลิตสินค้ามีมาตรฐาน GAP ตรงความต้องการ ทำให้สินค้าเป็นที่เชื่อมั่น โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ที่เป็นที่ต้องการของต่างประเทศมาก

(4) การพัฒนาแหล่งน้ำ และ ระบบกระจายน้ำ เพื่อทำให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนในการทำการเกษตรในภาพรวมภาคตะวันออก  ปี 2557-2559 ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และ อื่นๆ รวม 83 แห่ง เพิ่มปริมาณน้ำได้ 197.40 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตร 82,259 ไร่ ใน ปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการกระจายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร ได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และ อื่นๆ รวม 107 แห่ง เพิ่มปริมาณน้ำได้ 362.61 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตร 72,360 ไร่ รวมระยะเวลา 3 ปี เพิ่มปริมาณน้ำได้ 560.01 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตร 154,619 ไร่ มากว่ารัฐบาลที่ผ่านมาถึง 6 เท่า สำหรับในภาพรวม จ.จันทบุรี ปี 2557-2559 เพิ่มปริมาณน้ำได้ 6.85 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตร 17,895 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 68.48 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตร 51,000 ไร่ จากการประเมินผล พบว่าเกษตรกรสวนทุเรียน จ.จันทบุรี ที่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 200,000 บาท/ไร่ เป็น 260,000 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 60,000 บาท/ไร่ สำหรับในส่วนเกษตรแปลงใหญ่ จ.จันทบุรี 17 แปลง มีแหล่งน้ำอยู่แล้ว 10 แห่ง ยังขาดแหล่งน้ำ 7 แห่ง ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้วางแผนจัดทำแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนน้ำให้แปลงใหญ่ และ พื้นที่เกษตรที่อยู่ข้างเคียง จำนวน 14 โครงการ ดำเนินการเสร็จแล้ว 1 โครงการ คือ โครงการเพิ่มความจุเก็บกักอ่างเก็บน้ำศาลทราย อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560 อีก 7 โครงการ จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2561

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี

ในภาพรวม เกษตรแปลงใหญ่ภาคตะวันออก 78 แปลง มีแหล่งน้ำแล้ว 35 แปลง ยังขาดแหล่งน้ำ 43 แปลง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมงบประมาณ 300.45 ล้านบาท ดำเนินการในปี 2560-2561เพื่อให้ เกษตรแปลงใหญ่ทุกแปลง จะมีความมั่นคงด้านน้ำ สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

“ผลการดำเนินการตามนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรเกิดผลเป็นรูปธรรม เพิ่มผลผลิตในภาพรวม และ เป็นที่เชื่อมั่นของตลาดส่งออก โดย GDP ภาคการเกษตร ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากปี 2558 ขยายตัวร้อยละ -5.67 ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 ไตรมาสแรก ขยายตัวร้อยละ 7.74 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส หรือ ในรอบ 5 ปี ด้านการส่งออกภาคการเกษตรของไทยก็มีมูลค่าสูงขึ้น โดยในปี 2560 ช่วง 4 เดือนแรก มีมูลค่าการส่งออกสินค้าการเกษตร 433,782 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง เนื้อไก่ อาหารทะเล และ ผลไม้ โดยในระยะต่อไปจะขยายผลเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน เพื่อยกระดับพี่น้องเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้น มีเกียรติ ความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร” รมว.กษ. กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated