กรมหม่อนไหม เฟ้นหาสุดยอดนักดีไซน์ชุดผ้าไหม ยกระดับไหมไทยสู่ตลาดโลก
ประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2560

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าเพื่อกระตุ้นเกษตรกร และผู้ประกอบการด้านหม่อนไหมตื่นตัวในการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ตลอดจนส่งเสริมให้เยาวชน ประชาชนเห็นคุณค่าของผ้าไหมไทย และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อร่วมกันอนุรักษ์อย่างยั่งยืน และสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในการอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้ดำรงอยู่ตลอดไป กรมหม่อนไหมจึงได้จัดงาน “ประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2560” ระดับประเทศขึ้นเป็นประจำทุกปี

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมถ่ายรูป

ปัจจุบันผ้าไหมไทยเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ทั้งในด้านความสวยงามและความมีเอกลักษณ์ ส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการส่งออกสูงมีตลาดการส่งออกกว้างขวางเกือบทั่วโลก เพราะผ้าไหมทอด้วยมือที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งมีความละเอียดอ่อนประณีตสวยงาม มีความแวววาวในตัวเองมีลวดลายและสีสันโดษเด่นเป็นพิเศษ แตกต่างจากผ้าไหมของประเทศอื่นๆ ไหมไทยจึงได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดีและเป็นสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภคในต่างประเทศตลาดส่งออกที่สำคัญ  จึงจำเป็นที่กรมหม่อนไหมต้องสร้างเวทีในการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต  การออกแบบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้เกษตรกรและผู้ประกอบการพัฒนาฝีมือและการผลิตรองรับอุตสาหกรรมไหมไทยครบวงจรที่กำลังขยายการเติบโตในตลาดภายในและต่างประเทศ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมการออกแบบชุดผ้าไหม
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมการออกแบบชุดผ้าไหม

“ปัจจุบันผ้าไหมไทย ได้รับการยอมรับในตลาดโลกทั้งด้านความงดงามของสีสันและลวดลาย รวมถึงฝีมือการทอผ้าของคนไทยได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นบรรพบุรุษมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน จนกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มขยายการเติบโตทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ” รมช.เกษตรฯ  กล่าว

ด้านนางสุดารัตน์ วัชรคุปต์เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวถึงรายละเอียดในการจัดประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2560 ระดับประเทศที่จัดขึ้นในครั้งนี้ว่า แบ่งประเภทการประกวดออกเป็น 34 ประเภท ประกอบด้วย

  • การประกวดเส้นไหมไทยพื้นบ้าน 6 ประเภท
  • การแข่งขันศิลปะการแสดงภูมิปัญญาหม่อนไหม 1 ประเภทการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน 20 ประเภท
  • การประกวดผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม/รังไหม  2 ประเภท
  • การประกวดออกแบบชุดผ้าไหม 2 ประเภท
  • การแข่งขันทำสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม (ประดิษฐ์พานพุ่มรัชกาลที่10) 1 ประเภท และ
  • การประกวดผลิตภัณฑ์จากทายาทหม่อนไหม 2 ประเภท
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชมการออกแบบชุดผ้าไหมทอมือของเกษตรกร
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชมการออกแบบชุดผ้าไหมทอมือของเกษตรกร

โดยการประกวดที่เป็นไฮไลท์สำคัญได้แก่ การประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน 20 ประเภท แบ่งเป็นผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีทอง 8 ประเภท อาทิ ผ้ามัดหมี่ลายโบราณ สีธรรมชาติ ผ้าโฮล(สตรี) สีธรรมชาติ  ผ้าโฮล(บรุษ) สีธรรมชาติ ผ้าโฮล(สตรี) สีเคมี ผ้าโฮล(บรุษ) สีเคมี  ผ้าแพรวา สีธรรมชาติ ผ้าพื้น สีธรรมชาติและผ้าคลุมไหล่ สีธรรมชาติ ส่วนผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีเงิน 2 ประเภท ประกอบด้วยผ้ามัดหมี่ลายประยุกต์  สีธรรมชาติ และผ้าพื้น สีเคมี ในขณะที่ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน 9 ประเภท  ประกอบด้วย ผ้าแพรวา สีเคมี  ผ้าแพรวา สีธรรมชาติ ผ้ายก ผ้าจก ผ้าขิด ผ้าหางกระรอก ผ้ามัดหมี่  สีเคมี ผ้ามัดหมี่ สีธรรมชาติ  ผ้าขาวม้า และสีเคมี  ส่วนผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีเขียว 1 ประเภท ได้แก่ ผ้าเทคนิคผสม

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินชมงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินชมงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย

สำหรับรางวัลชนะเลิศการประกวดในทุกประเภทในครั้งนี้ จะนำไปจัดแสดงภายในงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 12 ประจำปี 2560”  ที่กรมหม่อนไหมเตรียมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13- 17 กรกฎาคม 2560 ณ. ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค  เมืองทองธานี โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้เข้ารับโล่พระราชทานฯ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานวันที่ 14 กรกฎาคม 2560

ผ้าไหมที่ได้รับรางวัล จากภูมิปัญญาชาวบ้านสู่เศรษฐกิจ
ผ้าไหมที่ได้รับรางวัล จากภูมิปัญญาชาวบ้านสู่เศรษฐกิจ

“ การจัดประกวดครั้งนี้ ยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชน และหมู่บ้านที่ผลิตผลงานที่มีคุณภาพ สามารถรักษาวิถีการผลิตเส้นไหม การทอผ้าไหมให้คงอยู่คู่ชุมชนอย่างเข้มแข็ง ตลอดจนช่วยกระตุ้นภาคการผลิตให้ก้าวทันความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของตลาดภายในและตลาดโลกในอนาคต” นางสุดารัตน์ กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated