เพลี้ยไฟ-เพลี้ยแป้ง บุกสวนเงาะระยะผลอ่อน...หยุดมันให้ได้
เพลี้ยไฟ-เพลี้ยแป้ง บุกสวนเงาะ

สวนเงาะในระยะที่มีสภาพอากาศร้อน และมีอุณหภูมิสูงเช่นนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกเงาะเฝ้าระวังเพลี้ยไฟพริก และเพลี้ยแป้ง ซึ่งจะพบในช่วงที่ต้นเงาะติดผลอ่อน สำหรับเพลี้ยไฟพริก จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเขี่ยดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชส่วนเนื้อเยื่ออ่อน ขนเงาะผลอ่อนที่ถูกทำลายจะเป็นรอยตกสะเก็ดแห้งสีน้ำตาล ปลายขนจะม้วนงอและแห้ง ส่งผลให้คุณภาพของเงาะลดลง และผลร่วงในที่สุด ในระยะที่มีอากาศร้อนอบอ้าวและฝนทิ้งช่วง ให้เกษตรกรสำรวจการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟพริกอย่างสม่ำเสมอ โดยการสุ่มเคาะช่อดอกเงาะบนกระดาษแข็งสีขาว หากพบเพลี้ยไฟพริก 2-3 ตัวต่อช่อดอก ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นตั้งแต่ในระยะที่เงาะแทงช่อดอกถึงติดผลอ่อน อย่างน้อย 1-2 ครั้ง และให้ระมัดระวังในช่วงที่ต้นเงาะมีดอกบานเต็มที่ เพราะเป็นระยะที่มีการผสมเกสร ซึ่งสารฆ่าแมลงบางชนิดอาจเป็นอันตรายต่อผึ้งที่ช่วยผสมเกสรได้

สวนเงาะเกษตรกร
สวนเงาะเกษตรกร

ส่วนเพลี้ยแป้ง มักพบดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลอ่อน กิ่งอ่อน และช่อดอก ซึ่งจะพบเข้าทำลายบริเวณขั้วผลและโคนขนของผลเงาะ หากเข้าทำลายรุนแรงในระยะผลอ่อนจะทำให้ผลร่วง กรณีเพลี้ยแป้งเข้าทำลายเงาะผลแก่ จะทำให้เกิดราดำขึ้นสกปรกจากมูลที่ขับถ่ายออกมา ซึ่งเพลี้ยแป้งบางชนิดอาจอาศัยอยู่ในดินบริเวณโคนต้นพืชหรือรากวัชพืช โดยมีมดเป็นตัวพาหนะนำพาไปยังส่วนต่างๆ ของพืชอาหาร ให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่งเงาะเพื่อลดปริมาณมด จากนั้นให้ใช้เศษผ้าชุบน้ำมันเครื่องผูกรอบโคนต้น เพื่อป้องกันมดและเพลี้ยแป้งที่อาศัยอยู่ในดินไต่ขึ้นมาบนต้นเงาะ กรณีพบเพลี้ยแป้งระบาดน้อยและพบอยู่เป็นกลุ่มตามส่วนต่างๆ ของต้นเงาะ เกษตรกรควรตัดส่วนที่พบเพลี้ยแป้งนำไปเผาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก หากพบระบาดรุนแรง ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated