กล้วยเล็บมือนาง “หลงกรุง” ปลูกได้ผลดีที่นนทบุรี...ไม่แพ้ชุมพร!!
คุณมนตรี น้อยเปรม เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยเล็บมือนาง ที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

พอเอ่ยชื่อว่า “กล้วยเล็บมือนาง” ก็จะนึกถึงจังหวัดชุมพร เพราะที่นั่นปลูกกันมากจนได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวง” ของกล้วยชนิดนี้ แต่ด้วยความเป็นกล้วยที่มีรสชาติดีเป็นที่นิยมของผู้บริโภค จึงทำให้เกษตรกรนิยมปลูกกันทั่วไป เพียงแต่ไม่มากและไม่ขึ้นชื่อเหมือนจังหวัดบ้านเกิด-ชุมพรเท่านั้น

เครือสวยๆ
เครือสวยๆ

ณ ตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี บัดนี้ได้มีเกษตรกรปลูกกล้วยเล็บมือนาง คือ คุณมนตรี น้อยเปรม เล่าให้ฟังว่าได้ประกอบอาชีพชาวสวนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หลังจากจบชั้นประถมศึกษาก็ช่วยพ่อแม่ทำสวนเรื่อยมา จนแต่งงานอยู่กินกับภรรยาก็ยังยึดอาชีพนี้…ก่อนนี้เคยปลูกส้มโอ ส้มเขียวหวาน ต่อมาประสบปัญหาต่างๆและต้นเริ่มอายุมาก ก็เลยหันมาปลูกกล้วยเล็บมือนางเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา บนที่ดินจำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่…

“เหตุผลที่ผมปลูกกล้วยเล็บมือนาง เพราะดูแลไม่ยากและไม่ต้องใช้ไม้ค้ำยันต้น เนื่องจากเครือมีน้ำหนักเบา โรคแมลงก็แทบจะไม่มี…”

นอกจากกล้วยเล็บมือนาง ยังปลูกกล้วยหิน กล้วยน้ำว้า ฯลฯ แต่ปลูกเพียงไม่กี่ต้น…เน้นหนักเฉพาะกล้วยเล็บมือนาง ด้วยว่าตลาดไม่ต้องไปแย่งกับคนอื่นด้วย

ปลูกไม่ยาก (ถ้าอยากจะปลูก)

การปลูกกล้วยเล็บมือนางของคุณมนตรีนั้น ใช้ระบบทำเป็นท้องร่องตามรูปแบบของสวนดั้งเดิม ซึ่งจะเหมาะกับพื้นที่ราบลุ่ม โดยยกร่องปลูกให้สูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมและทำให้สะดวกต่อการให้น้ำ ..

เริ่มต้นจากการเตรียมแปลงปลูก ดินที่เหมาะจะต้องร่วนซุยดี ทำการขุดหลุมให้พอหน่อกล้วยลงไปอยู่ได้ ประมาณ 30×30 เซนติเมตร ลึกประมาณ 20 เซนติเมตร โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมใดๆ แต่จะต้องตากหลุมไว้ 7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อราต่างๆ จากนั้นให้นำหน่อกล้วยเลือกที่เหง้าใหญ่ ควรเป็นหน่อใบดาบที่มีใบอ่อนแตกออกแล้ว 2-3 ใบ ก่อนนำมาปลูกให้ตัดต้นเฉียงๆ ให้เหลือสูงประมาณ 50 เซนติเมตร และต้องดูว่าหน่อนั้นต้องไม่เป็นโรคหรือมาจากต้นแม่ที่ไม่เป็นโรคใดๆ นำมาวางในหลุม ใช้ดินเดิมกลบให้มิดและแน่นพอดี (กรณีที่แยกหน่อมาจากต้นแม่หากหน่อไม่ใหญ่มากก็ปลูกไปได้เลย ไม่ต้องตัดต้นหรือใบทิ้งแต่ประการใด)

ขนาดร่องกว้างประมาณ 5 เมตร ปลูกกล้วยได้ 3 แถว เฉลี่ยกล้วยแต่ละต้นจะปลูกห่างกัน 1.20×1.50 เมตร ซึ่งดูเหมือนว่าจะปลูกระยะชิดมาก แต่กับกล้วยเล็บมือนางไม่ถือว่าชิดจนเกินไป เพราะใบไม่แผ่กว้างมาก และจะต้องตัดแต่งใบเป็นระยะๆ

ในระยะแรกนั้นคุณมนตรียังต้องซื้อหน่อกล้วยมาปลูกเอง โดยซื้อมาจากจังหวัดชุมพร แต่เมื่อปลูกกล้วยไปสักระยะก็สามารถใช้หน่อพันธุ์ของตนเองได้

สวนกล้วยเล็บมือนางแบบเมืองกรุง (แปลงที่ 1)
สวนกล้วยเล็บมือนางแบบเมืองกรุง (แปลงที่ 1)
กำลังออกเครือพร้อมๆกัน
กำลังออกเครือพร้อมๆกัน
ดูแลดี ก็ได้ผลผลิตดี

ในช่วงที่ปลูกใหม่ๆ ให้รดน้ำบ่อยหน่อย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินว่ามีความชุ่มชื้นมากน้อยแค่ไหน ถ้าเห็นว่าดินแห้งหรือปลูกหน้าแล้งก็รดน้ำให้ชุ่มชื้นหรือรดให้ถี่หน่อย โดยน้ำที่ใช้รดก็มาจากร่องสวน จะเป็นน้ำที่มาจากลำคลองตามธรรมชาติ

เมื่อต้นกล้วยที่ปลูกเริ่มอยู่ตัวหรือตั้งตัวได้ก็ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 ประมาณ 1 กำมือ โรยรอบๆต้น จนเมื่อกล้วยแทงใบประมาณ 10 ใบ ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ประมาณ 1 กำมือ โรยรอบๆต้น เพื่อเร่งใบ เร่งให้กล้วยแทงปลี ซึ่งจะใส่เพียงครั้งเดียว และไม่นานนักกล้วยก็จะแทงปลี

ปลีสวยๆ
ปลีสวยๆ

การให้ปุ๋ยก็มีความจำเป็น เพราะธาตุอาหารในดินอาจไม่เพียงพอ ซึ่งจะต้องสังเกตต้นกล้วยแต่ละต้นด้วยว่าจะให้มากให้น้อย ถ้าให้เยอะก็ไม่คุ้มทุน เราเน้นความพอดีพอเพียง

เมื่อปลูกกล้วยไปได้ประมาณ 7-8 เดือน กล้วยจะออกปลี ประมาณ 1 เดือนเศษ กล้วยจะออกจากปลีจนสุดก็ให้ตัดปลีทิ้ง หลังจากนั้นรอไปอีกประมาณ 1 ½ เดือน กล้วยก็แก่ตัดได้

(ในกล้วย 1 หน่อที่ปลูกไปได้สักระยะนั้น จะมีหน่ออื่นๆออกตามมา ให้เว้นไว้ 2-3 หน่อ เพื่อทำเป็นต้นต่อไป ซึ่งเมื่อตัดเครือแรกออกไปแล้ว ประมาณ 2-3 เดือน เครือใหม่ก็จะออกตามมา จะให้ได้  3 รุ่น จึงจะตัดทิ้ง เพื่อปลูกใหม่อีกครั้งหนึ่ง)

ระหว่างที่รอให้กล้วยตกเครือนอกจากจะต้องใส่ปุ๋ยและกำจัดวัชพืชบ้างแล้ว ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการตัดแต่งใบกล้วยทิ้ง ถ้าปล่อยให้มีใบกล้วยติดลำต้นมากเกินไป จะทำให้ใบแผ่ปกคลุมดิน คลุมโคนต้น ทำให้แดดส่องไม่ทั่วถึงพื้นดิน เมื่อแดดส่องไม่ถึงพื้นจะมีปัญหาเรื่องความชื้นในดินที่มีมากเกินไป การปฏิบัติงานในสวนก็จะไม่สะดวก และยังเป็นการกำจัดใบที่มีโอกาสเป็นโรคออกไปด้วย

โดยจะต้องตัดใบที่อยู่ล่างๆ ที่มีลักษณะไม่เขียวสวย เช่น ใบแก่ ใบไหม้ ใบเหลืองซีด ฯลฯ ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากใบเป็นโรคก็ได้ ควรรีบกำจัดออกทันที

การตัดใบกล้วย จะต้องตัดให้ชิดกับต้นอย่าให้เหลือส่วนของก้านยื่นออกมามาก ควรตัดให้เหลือใบไว้กับต้น ประมาณ 10-15 ใบ ถ้าใบมากก็จะแย่งอาหารจากผลกล้วย จึงต้องให้สมดุลกัน

ในเรื่องของโรคแมลง ไม่พบว่ามีอะไรมากวนใจ ยกเว้นช่วงที่กล้วยออกเครือ บางครั้งอาจจะมีเพลี้ยแป้งมาเล่นงานบ้าง ทำให้ผลกล้วยสีดำ ซึ่งเพลี้ยแป้งนี้เกิดจากมดดำเป็นพาหะ วิธีแก้ไขใช้ยาฆ่ามดมาโรยบางๆที่โคนต้นกล้วย ซึ่งก็ได้ผลดี แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้เกิดบ่อยและถ้าไม่มากก็ไม่จำเป็น

อาจจะมีหนูที่มากัดกินผลกล้วยบ้าง ซึ่งจะกัดตอนที่กล้วยแก่จัดใกล้สุก แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นปัญหาอะไรมากมาย เพราะว่าแก้ไขโดยการหมั่นดูแลบริเวณโคนต้นกล้วยให้โล่งเตียนอยู่เสมอ ไม่ให้หนูมาทำรังได้

แปลงที่ 2
แปลงที่ 2
ไปขายที่ตลาดน้ำตลิ่งชัน

เมื่อกล้วยมีผลแก่ ประมาณ 80% สังเกตดูลักษณะผลที่กลมมนสีเขียวเข้ม “สุกคาต้นจะเสียของ” ทั้งนก ทั้งกระรอก จะถามหา จึงควรรีบตัดที่ยังแก่ๆเพื่อให้เหมาะกับการขนส่งและรอเวลาไปขาย โดยทุกเช้าวันพุธคุณมนตรี จะเดินสำรวจตามต้นที่ออกเครือว่าเครือไหนควรตัดได้

วิธีการตัดหรือการเก็บเกี่ยวกล้วยเล็บมือนางจะง่ายกว่ากล้วยอื่นๆ เพราะต้นเล็ก เครือกล้วยไม่หนัก และต้นก็ไม่สูงนัก โดยคุณมนตรีกับภรรยาจะเก็บเกี่ยวกันเองทั้งหมด โดยใช้มือข้างหนึ่งจับปลายเครือ แล้วใช้มีดฟันก้านเครือให้ขาดออก

เมื่อตัดเครือกล้วยมาแล้วก็จะขนมาที่บ้านเพื่อทำการตัดแยกเป็นหวีๆ โดยทุกวันเสาร์-อาทิตย์จะนำกล้วยไปขายที่ตลาดน้ำตลิ่งชัน ราคาหวีละ 20-25 บาท ขึ้นอยู่กับว่าหวีใหญ่หรือหวีเล็ก กลุ่มลูกค้าก็จะเป็นนักท่องเที่ยวและผู้มาจับจ่ายสินค้า อาทิตย์หนึ่งๆ เคยขายได้ 700-800 หวี เพิ่งมาปีที่ผ่านมาที่มีผลผลิตลดลงเหลือขายได้อาทิตย์หนึ่งๆ ประมาณ 200-300 หวี เหตุเพราะน้ำเค็มหนุนขึ้นสูง ซึ่งเป็นน้ำที่มาจากคลองบางกอกน้อย ทำให้กล้วยไม่เติบโต และกล้วยอีกแปลงอายุเริ่มเยอะ จึงตัดทิ้งปลูกใหม่ แต่คาดว่าอีกไม่นานก็จะเข้าสู่ภาวะปกติและผลผลิตก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

แปลงที่ 3 เพิ่งปลูกใหม่
แปลงที่ 3 เพิ่งปลูกใหม่
ลุงพร สอนอาชีพ กับเจ้าของสวนกล้วยเล็บมือนาง นนทบุรี
ลุงพร สอนอาชีพ กับเจ้าของสวนกล้วยเล็บมือนาง นนทบุรี
รสชาติ ขนาดผล แทบไม่ต่างถิ่นกำเนิด

ถามคุณมนตรีว่า จากที่ปลูกกล้วยเล็บมือนางขายมา 3 ปี มีอะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคหนักใจบ้าง คุณมนตรี ตอบว่าแทบไม่มีเลย จะมีก็แต่เรื่องน้ำทะเลหนุนในบางปี แต่เมื่อฝนตกลงมาก็ช่วยได้

ส่วนเรื่องตลาดก็คิดว่าไปได้เรื่อยๆ ราคากล้วยไม่ค่อยตก ยืนราคาหวีละ 20-25 บาท มานานแล้ว

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องรสชาติ ความหวาน ความหอม ความหนึบของเนื้อกล้วย และขนาดของผลกล้วยแตกต่างกับถิ่นเกิดชุมพรอย่างไรบ้าง เรื่องนี้คุณมนตรีบอกว่าเหมือนกันมาก “แยกไม่ออกเลยก็ว่าได้” เคยมีบ้างที่ลูกค้าถามว่าเป็นกล้วยเล็บมือนางที่ไหน ก็ตอบไปตามตรงว่าเป็นกล้วยเล็บมือนางปลูกเองที่สวนย่านบางกรวย ก็ไม่มีผลต่อการขายใดๆ มีบางคนก็บอกว่าผลกล้วยเล็บมือนางของชุมพรจะต้องมีขน แต่ส่วนตัวของคุณมนตรีก็ดูไม่ออกว่ามีขนหรือไม่มีขน แต่ที่ดูออกก็คือว่าผิวของกล้วยเล็บมือนางของตนเองจะมีผิวเหลืองสวยกว่า ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะการขนส่งระหว่างบ้านไปยังตลาดไม่ไกลกันนัก…

สรุปว่ากล้วยเล็บมือนางที่ปลูกที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี แทบไม่ต่างกันทั้งเรื่องรสชาติความหอมหวานและขนาดผล….ใครจะไปพิสูจน์ก็เชิญได้ที่ตลาดน้ำตลิ่งชัน หรือจะโทร.ไปพูดคุยเรื่องการปลูกกล้วย หรือจะติดต่อขอซื้อหน่อกล้วยก็พอแบ่งได้ แต่ก็ไม่ได้ทำเป็นกิจจะลักษณะ ขายกันหน่อละ 20 บาท โทร. 099 0876877 ครับ

ภาพนี้-กล้วยเล็บมือนาง ของฝากจากชุมพร
ภาพนี้-กล้วยเล็บมือนาง ของฝากจากชุมพร-ขอบคุณภาพจาก http://www.thaipost.net
  • ประวัติความเป็นมา “กล้วยเล็บมือนาง”

กล้วยเล็บมือนางเป็นไม้ผลที่มีการปลูกมากในจังหวัดชุมพร กล้วยเล็บมือนางนั้นไม่ปรากฏชัดเจนว่าถิ่นกำเนิดมาจากที่ใด แต่นักวิชาการเกษตรสันนิษฐานว่า เป็นกล้วยที่มีสายพันธุ์มาจากกล้วยป่า อยู่ในสกุล Muse ซึ่งเป็นกล้วยแตกกอ กล่าวคือ มีการแตกหน่อเพื่อขยายพันธุ์ กล้วยเล็บมือนาง มีลักษณะทางกายภาพ เช่นเดียวกับกล้วยพันธุ์อื่น ๆ กล่าวคือ เป็นต้นไม้ล้มลุกอยู่ในตระกูล Musaccac ลำต้นที่แท้จริง คือ เหง้า ซึ่งอยู่ใต้ผิวดิน ส่วนของลำต้นที่พ้นผิวดินนั้นเป็นลำต้นเทียม ซึ่งประกอบด้วยกาบใบอัดกันแน่น ภายในลำต้นเทียมจะมีท่อน้ำเลี้ยงเต็มไปด้วยน้ำยางอยู่ทุกส่วนซึ่งมีสภาพเป็นกรดอ่อน ๆ และมีรสฝาด ในระยะแรกของการเจริญเติบโตของกล้วยเล็บมือนางจะมีปมรากแก้วปรากฏอยู่และกลายสภาพเป็นรากฝอยเช่นเดียวกับรากกล้วย การเกิดรากจะกระจายเป็นกลุ่ม ๆ ยาวประมาณ ๒๐-๓๙ ซม. ลึกลงในดิน ลำต้นที่แท้จริงของกล้วยซึ่งเรียกว่า “เหง้ากล้วย” นั้นเป็นส่วนสร้างอาหารจำพวกแป้ง จุดเจริญของเหง้าจะเป็นรูปครึ่งวงกลมซึ่งเป็นจุดเริ่มของการเกิดใบและช่อดอกตามลำดับ ใบแต่ละเหง้าอาจจะมีหลาย ๆ ตา และอายุที่แตกต่างกัน ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นหน่ออันเป็นส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ต่อไป

กล้วยเล็บมือนาง จัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์อะคิวมินาตา (Acuminata cultivars) ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปเช่น กล้วยหมาก (นครศรีธรรมราช) กล้วยทองหมาก (พัทลุง) และกล้วยเล็บมือ (นครสวรรค์) ลักษณะของกล้วยพันธุ์นี้จะมีลำต้นไม่สูงมากนัก มีผลขนาดเล็ก รสชาติหอมหวานเปลือกของผลเมื่อสุกมีสีเหลือง

ปัจจุบันกล้วยเล็บมือนางได้รับการยอมรับว่าเป็นกล้วยที่มีรสชาติชนิดหนึ่งและได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดชุมพร ดังคำขวัญของจังหวัดที่ว่า

“ชุมพรประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก”

นอกจากนี้ กล้วยเล็บมือนาง ยังได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) ของจังหวัดชุมพรอีกด้วย

(ประวัติ-อ้างอิงจาก : http://kanchanapisek.or.th/kp8/culture/chp/chp503.html)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated