รู้จัก “รมช.เกษตร-หญิงแกร่ง”...ชุติมา บุณยประภัศร จะมาเป็นขวัญใจเกษตรกรได้หรือไม่?
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนใหม่ กำลังเป็นที่ถูกจับตามอง... (ขอบคุณภาพ http://chaoprayanews.com/)

ตามที่ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ณ วันที่ ๑๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ให้ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง ชื่อของรัฐมนตรีใหม่หลายคนถูกจับตามองทันที

หนึ่งในนั้นคือ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “หญิงแกร่ง” คนแรก ก่อนหน้านั้นเราเคยมี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการที่เป็นผู้หญิงคนแรกมาแล้ว

ขณะเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์
ขณะเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ (ภาพนี้ประกอบพิธี ฉลองครบรอบ 94 ปี ของการสถาปนากระทรวงพาณิชย์)

ชุติมา บุณยประภัศร (อ่านว่า บุนยะ- ประ-พัดสอน) เป็นใครมาจากไหน หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคย เพราะเธอไม่ได้มีชื่อเสียงให้เป็นข่าวในวงสังคมมากนัก แต่ผลงานที่ผ่านมาถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว ไม่อย่างงั้นคงจะไม่แซงคิวหลายต่อหลายคนที่มีข่าวว่าจะมานั่งรมช.ก่อนหน้านี้

รัฐมนตรีหญิงคนใหม่ เป็นชาวลำปาง วัยย่าง 61 ปี เพิ่งเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์มาหมาดๆ ก็มาคว้าตำแหน่งใหญ่ในคราวนี้

การศึกษา จบรัฐศาสตร์บัณฑิต (การคลัง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MA (Econs.) Western Michigan University จากสหรัฐอเมริกา

ศึกษาอบรม อาทิ นักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 36 ก.พ. หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรปี 2550 โครงการอบรมผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ชีวิตราชการ เริ่มต้นขึ้นในปี 2525 ตำแหน่ง เศรษฐกร 3 กองนโยบายการพาณิชย์ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ แค่ 3 ปีให้หลัง (ปี 2528) ก็ขยับสู่ตำแหน่ง เศรษฐกร 6 ประจำ สำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์ ณ นครเจนีวา ปี 2536 ตำแหน่งผู้อำนวยการ กองการค้าพหุภาคี กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ พอ 3 ปีต่อมา (ปี2539) ขยับสู่ตำแหน่ง อัครราชทูตที่ปรึกษา สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ปี 2541 นักวิชาการพาณิชย์ 9 ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการค้าพหุภาคี ปี 2544 เป็นรองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปี 2548 เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ปี 2550 ก้าวสู่ตำแหน่ง อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ชีวิตราชการถือว่าโลดโผนโจนทะยาน…ถูกโยกย้ายไปมา กล่าวคือ

ระหว่างเดือนเมษายน 2552-กันยายน 2552 เป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ  พอเดือนตุลาคม 2552-เมษายน 2553 เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน และเดือนพฤษภาคม 2553-มิถุนายน 2557 ชีวิตพลิกผันไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กระทั่งถึงยุครัฐบาล คสช. ได้กลับมาผงาดเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว

ว่ากันว่าผลงานที่ฝากไว้ในอดีตมีมากมาย โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศ เช่น ดำเนินการให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เจรจาปัญหาการเปิดตลาดข้าวและการกำหนดโควต้าไก่แช่แข็งกับสหภาพยุโรป เจรจาการจัดทำเอฟทีเอ ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู EFTA และสหภาพยุโรป

ในระหว่างที่เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ มีเรื่องเล่าขานกันว่า ได้โชว์ความเป็น “หญิงแกร่ง” ไว้มาก (อ้างอิง http://www.prachachat.net/ โดย เลดี้ สมหวิว) จากภาพลักษณ์ “อินเตอร์” ที่เจรจาแต่กับฝรั่งมังค่า ครั้นมาเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์มีข่าวว่าต้องปรับตัวแบบ 360 องศา มานั่งคุยกับชาวไร่ชาวนาแทน ข่าวว่า ลูกน้องลุ้นกันสุดตัว กลัว “นายหญิง” จะคุยกับรากหญ้าไม่รู้เรื่อง… แต่ทำไปทำมา เกิดพลิกล็อก “ท่านชุ” (ชื่อที่ลูกน้องเรียกขานสมัยเป็นปลัด) รู้ตัวว่า ตัวเองเป็นอธิบดี “มือใหม่” ของกรมปราบเซียน

จำเป็นต้องโหมงานหนัก ลุยตรวจงานลงพื้นที่ต่างจังหวัด ไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ โชคดีเธอไม่มีครอบครัว จึงไม่มีห่วง เพราะเธออยากรู้ว่า ระบบโรงสีเป็นอย่างไร ข้าวนึ่งต่างกับข้าวขาวยังไง ราคาซื้อขายกำหนดจากอะไร แล้วทำไมชาวนายากจนตลอด

มาวันหนึ่ง เมื่อเธอเดินสายมาถึงจังหวัดที่ขอไม่เอ่ยชื่อ และได้รู้ซึ้งถึงความเดือดร้อนของชาวนาในจังหวัดนั้นที่เงินยังตกไม่ถึงมือ ข้าวไม่ถึงท้อง

เพราะยังไม่ได้รับเงินประกันรายได้จากนโยบายจำนองข้าวในรัฐบาลสมัยนั้น         

ปรากฏว่า เธอสวมบท “สาวใหญ่ใจถึง” ควักเงินส่วนตัวจ่ายให้ชาวนาจังหวัดนั้นไปก่อน รู้ทั้งรู้ว่า เงินสำรองก้อนนี้อาจไม่ได้คืน หรือได้คืนไม่ครบจำนวน แต่ “สาวปาน” ไม่แคร์

บวกกับบุคลิกที่ดูนิ่ง เรียบร้อย ไม่ค่อยแต่งตัว และออกแนวอนุรักษ์นิยม หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า บางครั้งเธอเหมือนผู้ชาย สไตล์ “ชี อีส อะ แมน” (เธอคือผู้ชาย) ที่ไม่ค่อยกลัวอะไร แถมหนักแน่น กล้าตัดสินใจ อย่างกรณีแก้ปัญหาที่ไม่รอเงินหลวง

เธอเลยกลายเป็น “ขวัญใจ” คนในกระทรวงและชาวรากหญ้าได้อย่างไม่น่าเชื่อ….

นั่นคือ เรื่องเล่าวีรกรรมสมัยอยู่กระทรวงพาณิชย์ที่มีโอกาสสัมผัสกับ “เกษตร” อยู่ไม่น้อย แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มากพอ เพราะของแท้ ต้องมาที่กระทรวงเกษตรฯ จะได้พบว่าปัญหาของเกษตรกรมีมากมาย…ภัยแล้งเอย พืชผลราคาตกต่ำเอย ต้นทุนการผลิตสูงเอย ฯลฯ หล่านี้ล้วนเป็นวงจรเดิมๆ ที่แก้กันไม่ตก ความที่อยู่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำเรื่องค้าๆขายๆมานาน จะนำความรู้ความสามารถเหล่านั้นมาช่วยกอบกู้ในเรื่องตลาดสินค้าเกษตรได้หรือไม่ ซึ่งสมัยที่อยู่กระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีนโยบายหลายเรื่องที่จะแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร อย่างเช่นเรื่องข้าวที่เคยบอกว่าต้อง “วางระบบข้าวครบวงจร” พัฒนาข้าวไทยให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เป็น Super food รวมทั้งสินค้าหรือผลผลิตอื่น ๆ

หลายคนบอกว่าคนไทยเรา เกษตรกรไทยเรา เก่งผลิต แต่ไม่เก่งค้าขาย ไม่เก่งการตลาด ณ วันนี้เราได้รัฐมนตรีหญิงที่ทำงานเกี่ยวข้องอยู่กับค้าๆขายๆมาตลอดชีวิต จะมาแบ่งเบาภาระของรัฐมนตรีว่าการ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ ได้มากน้อยแต่ไหน จะมาสร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร จะทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรไทยส่งออกได้เยอะๆ จะทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยลืมตาอ้าปากได้…เราขอมอบความไว้วางใจให้แก่ท่านแล้ว.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated