“ชั่งหัวมัน” แปลงสาธิตเกษตร “ของพ่อ” เพื่อลูกทุกคน
โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ...แปลงสาธิตเกษตรเพื่อคนไทย

แค่ชื่อโครงการ “ชั่งหัวมัน” ก็ทำให้ผมเกิดความสนใจที่อยากจะไปเยี่ยมชมโครงการนี้ ซึ่งตั้งใจมานานว่าจะไปสักครั้งหนึ่ง และแล้วฝันก็เป็นจริงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา …

แต่ก่อนที่จะไปดูว่าภายในโครงการพระราชดำริแห่งนี้มีอะไรให้เยี่ยมชมบ้าง ผมขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อโครงการและประวัติความเป็นมากันก่อน

บ้านไร่ของพ่อ...เลขที่ 1 หมู่ที่ 5 บ้านหนองคอกไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 5 บ้านหนองคอกไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

ที่มาของโครงการนี้…ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล  ได้นำมันเทศที่ชาวบ้านถวาย วางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ แล้วพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ ครั้นเมื่อเสด็จมายังพระราชวังไกลกังวลอีกครั้ง ก็พบว่ามันเทศที่วางบนตัวชั่ง มีใบงอกออกมา จึงมีพระราชดำริว่า “มันอยู่ที่ไหนก็งอกได้” และรับสั่งให้นำหัวมันนั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ

ในปี  พ.ศ. ๒๕๕๑  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินจากราษฎรบริเวณอ่างเก็บน้ำ หนองเสือ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ประมาณ  ๑๒๐ ไร่ และต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก ๑๓๐ ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๒๕๐ ไร่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เป็นต้นมา

ในอดีตผืนดินแห่งนี้แห้งแล้งมาก จะปลูกอะไรก็ลำบาก ติดปัญหาเรื่องน้ำ พระองค์ท่านได้ทรงทำเพื่อพิสูจน์ให้เป็นแม่บท สำหรับการเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมของชาวบ้าน โดยมีพระราชดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ อ.ท่ายาง และพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ และแน่นอนว่าได้นำหัวมันเทศที่ทรงปลูกไว้ที่พระราชวังไกลกังวลมาปลูกในผืนดินแห่งนี้ด้วย

บนรถนำเยี่ยมชม (ในภาพนี้เป็นนักเรียนและคุณครูโรงเรียนท่าตะคร้อ ซึ่ง "ศรแดง" ได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานวันนี้)
บนรถนำเยี่ยมชม (ในภาพนี้เป็นนักเรียนและคุณครูโรงเรียนท่าตะคร้อ ซึ่ง “ศรแดง” ได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานวันนี้)
เจ้าหน้าที่ขับรถนำเยี่ยมชม ทำหน้าที่บรรยายให้ความรู้ไปด้วย
เจ้าหน้าที่ขับรถนำเยี่ยมชม ทำหน้าที่บรรยายให้ความรู้ไปด้วย

ในการมาเยี่ยมชมครั้งนี้ ผมได้ยึดตามโปรแกรมที่โครงการกำหนดไว้ คือเริ่มต้นจากชมดูวิดีทัศน์เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการให้พอเข้าใจภาพรวม จากนั้นก็นั่งรถนำเที่ยวเยี่ยมชมตามจุดต่างๆ ซึ่งถ้าใครไม่นั่งรถหรือไม่ไปตามโปรแกรมทางโครงการจะมีรถจักรยานไว้บริการนับร้อยๆคัน แต่ถ้ามาเป็นหมู่คณะแนะนำว่าควรนั่งรถจะสะดวกกว่า เพราะบนรถยังมีเจ้าหน้าที่ขับรถทำหน้าที่บรรยายให้ความรู้ในแต่ละจุดที่เยี่ยมชมไปด้วย

รถจะนำเราไปตามเส้นทางรอบๆ ผ่านแปลงปลูกพืชผลต่างๆ ซึ่งจะไม่ได้เรียงตามกลุ่มหรือชนิดของพืชผล ผมจึงขอสรุปให้คร่าวๆ ดังนี้

แปลงปลูกผักบุ้ง (ภาพนี้จาก วราภรณ์ ขุนพิทักษ์)
แปลงปลูกผักบุ้ง (ขอบคุณภาพนี้จาก วราภรณ์ ขุนพิทักษ์)
แปลงปลูกมะนาว
แปลงปลูกมะนาว

ขอเริ่มที่กลุ่มพืชผักที่ปลูก ตั้งแต่พืชสวนครัว เช่น มะเขือเทศ มะเขือเปราะ พริกขี้หนู กะเพรา โหระพา ผักชี ผักบุ้ง มะระ บวบ มะนาวแป้น มะนาวยักษ์ ฯลฯ โดยพืชผักที่ปลูกจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปบ้าง

เรื่องมะนาวนั้น ผมได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ว่ามะนาวแป้นที่เห็นออกลูกทั้งปีนั้น จะใช้ต้นตอมะนาวยักษ์ ซึ่งในโครงการมีปลูกโชว์ไว้ตรงใกล้ๆห้องประชุม มะนาวพันธุ์นี้มีระบบรากที่หากินได้เก่ง และเนื่องจากเป็นพื้นที่แห้งแล้ง จึงเหมาะแก่การทำเป็นต้นตอได้ดี

แปลงปลูกสับปะรด
แปลงปลูกสับปะรด
แปลงปลูกชมพู่เพชรสายรุ้ง
แปลงปลูกชมพู่เพชรสายรุ้ง

ผลไม้ เช่น สับปะรด แก้วมังกร มะละกอแขกดำ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวแกง ชมพู่เพชรสายรุ้ง ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก มะยงชิด ฯลฯ

วันที่ไปนั้น ได้มีโอกาสลงไปเดินชมแปลงปลูกสับปะรด ซึ่งทราบว่าเป็นพันธุ์เพชรบุรี 1 หรือ “สับปะรดฉีกตา” บางส่วนกำลังให้ผลผลิตจะเห็นห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ คาดว่าอีกไม่กี่วันคงเก็บได้แล้ว

ใกล้ๆกันนั้น ยังมี “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” ผลไม้ที่ขึ้นชื่อของเพชรบุรี วันที่ไปเยี่ยมชมยังไม่ใช่ช่วงที่ให้ผลผลิต แต่ได้เห็นนั่งร้านที่แปลกกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆก็ถือว่าตื่นใจแล้ว

แปลงปลูกข้าวพันธ์ุปทุมธานี 1
แปลงปลูกข้าวพันธ์ุปทุมธานี 1

พืชเศรษฐกิจ  เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพด มันเทศญี่ปุ่น มันต่อเผือก มันเทศออสเตรเลีย มันปีนัง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวเหนียวพันธุ์ชิวแม่จัน ข้าวเจ้าพันธุ์ลีซอ ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวขาว ข้าวเจ้าพันธุ์สังข์หยด ข้าวหอมปทุมธานี ยางนา ยางพารา ฯลฯ

เจ้าตุ้ม...โคนมที่ทรงพระราชทานชื่อ
เจ้าตุ้ม…โคนมที่ทรงพระราชทานชื่อ

นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโคนม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เคยพระราชทานหญ้าแก่แม่โคนม และพระราชทานนมแก่ลูกวัวเพศผู้ พันธุ์โฮลสไตล์ ฟรีเชี่ยนหรือพันธุ์ขาว-ดำ  และได้พระราชทานชื่อว่า “ตุ้ม” ขณะนี้เป็นวัวหนุ่ม ลักษณะเหมาะเป็นพ่อพันธุ์ ซึ่งคณะของเราได้ให้เจ้าหน้าที่จอดรถและถ่ายรูปด้วย

ยังมีพระราชดำริด้านพลังงานทดแทนที่สามารถอยู่ด้วยกันในแปลงเกษตร คือกังหันลมผลิตไฟฟ้า  เพื่อใช้พลังงานลมผลิตกระแสไฟฟ้า  มีกำลังการผลิตขนาด  ๕๐ กิโลวัตต์  ปัจจุบันมีทั้งหมด  ๒๐  ต้น เป็นจุดที่กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของโครงการก็ว่าได้

อีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับพลังงานคือ ได้มีการสาธิตปลูกสบู่ดำ เพื่อนำมาเป็นพืชพลังงานทางเลือก จะเห็นว่ามีสถานีน้ำมันไบโอดีเซลตั้งอยู่ด้วย

ตรงพื้นที่บริเวณนี้ ใกล้กับจุดที่จะขึ้นรถเยี่ยมชมโครงการ จะปลูกไม้ดอกไม้ประดับ สนับสนุนโดย "ศรแดง"
ตรงพื้นที่บริเวณนี้ ใกล้กับจุดที่จะขึ้นรถเยี่ยมชมโครงการ จะปลูกไม้ดอกไม้ประดับ สนับสนุนโดย “ศรแดง”

ทั้งหมดที่ผมนำมาบอกเล่านี้ เป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่ผมได้คิดในใจของผมก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวงของเรานั้น ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา มุ่งที่จะช่วยเหลือให้ราษฎร์มีอาชีพพออยู่พอกิน โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากทั้งหมดกว่า 4,000 โครงการ เฉพาะที่เกี่ยวกับการเกษตรมีกว่า 3,000 โครงการ จึงกล่าวได้ว่าทรงเป็น “กษัตริย์เกษตร” อย่างแท้จริง และเนื่องจากโครงการชั่งหัวมันนี้เป็นที่ดินส่วนพระองค์ จึงเลือกปลูกพืชผลตามที่ต้องการ ที่นี่จึงเสมือน “บ้านไร่ของในหลวง” แต่ไม่ได้ทำเพื่อในหลวง แต่ทำเพื่อคนไทยทุกคน

ณ บัดนี้ ผืนดินอันแห้งแล้งกลับชุ่มชื้น “หัวมันบนตาชั่งยังขึ้นได้  แล้วที่แห้งแล้งขนาดไหน  มันก็ต้องขึ้นได้” เช่นเดียวกับพืชผลต่างๆที่งอกงาม รอลูกหลานไทยไปเก็บเกี่ยวได้ไม่มีวันหมดสิ้น…นี่คือความสำเร็จอันยั่งยืน.

นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้บริหาร "ศรแดง" มอบเมล็ดพันธุ์ผัก เพื่อใช้ในโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ผ่านนายธานินทร์ นครชัยกุล นักจัดการงานในพระองค์ ชำนาญการ
นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้บริหาร “ศรแดง” มอบเมล็ดพันธุ์ผัก เพื่อใช้ในโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ผ่านนายธานินทร์ นครชัยกุล นักจัดการงานในพระองค์ ชำนาญการ

ขอบคุณ : บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผัก ในนามตราสินค้า “ศรแดง” ที่ได้นำคณะสื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ มาเยี่ยมชมโครงการชั่งหัวมันในครั้งนี้ โดยที่ “ศรแดง” ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผักให้กับโครงการมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดนี้ได้มาปลูกดอกดาวเรืองสายพันธุ์ต่างๆอีกด้วย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated