ด่วน...ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามแดงเป็นการค้าต้องขึ้นทะเบียน...ภายใน 60 วัน
ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามแดงเป็นการค้าต้องขึ้นทะเบียน...ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดี กรมประมง มาแถลงด้วยตนเอง

กุ้งก้ามแดง “เลี้ยงได้หรือไม่ได้” ยังคงกังขาอยู่ในหัวใจของเกษตรกร…และแล้ววันเสาร์ที่ผ่านมา (23 ก.ค. 59) ได้มีการสัมมนาเรื่อง “แนวทางส่งเสริมและการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงอย่างไรให้ถูกกฎหมาย” โดย สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมบุหลันพิทักษ์พล อาคารอมรภูมิรัตน์

สัมมนาเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ม.เกษตรฯ
เกษตรกรและผู้สนใจเข้าร่วมเกือบ 200 คน

ในการสัมมนาครั้งนี้ มีวิทยากรหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงมาขึ้นเวทีกันหลายคน แต่จุดที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ก็เห็นจะเป็นเรื่องการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงอย่างไรที่ไม่ผิดกฎหมาย โดยผู้ที่มาให้ความรู้ก็คือ ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดี กรมประมง

ดร. จูอะดี กล่าวว่า  เรื่องกุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิชนั้นได้รับความสนใจจากเกษตรกรที่ต้องการเลี้ยงจำนวนมาก จากการสำรวจของกรมประมงพบว่ามีเลี้ยงทั้งหมด 62 จังหวัด มีผู้เลี้ยงประมาณ 4 พันราย เหตุที่ได้รับความสนใจก็เพราะมีการสื่อกันว่าจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก โดยเฉพาะในแง่ของกฎหมายว่าได้กำหนดอย่างไรบ้าง

“เวลานี้เราจะทำอะไร เราจะเลี้ยงอะไรก็แล้วแต่ ไม่ได้ขึ้นกับเราคนเดียว แต่ขึ้นกับโลกทั้งหมด เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่เฉพาะเรื่องกุ้งก้ามแดงเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับสัตว์น้ำอีกหลายชนิด และโยงใยกับอีกหลายอาชีพ ผู้เลี้ยงจำเป็นจะต้องศึกษาให้เข้าใจ” รองอธิบดีกรมประมง กล่าว

ตัวเลขการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงที่กรมประมงสำรวจได้มา
ตัวเลขการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงที่กรมประมงสำรวจได้มา

กุ้งก้ามแดง-สัตว์น้ำควบคุม

กฎหมายที่เกี่ยวข้องฉบับแรกที่ควบคุมเรื่องการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงคือ กฎกระทรวงกำหนดกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม พ.ศ. 2559  ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ให้ไว้ ณ วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 โดย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ) สาระสำคัญดังนี้

ให้กิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดังต่อไปนี้ เป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม

(1) การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล

(2) การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง หรือ กุ้งเครย์ฟิชอเมริกัน (Procambarus clarkii)

(3) การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง หรือ กุ้งเครย์ฟิชทุกชนิดในสกุล Cherax (Cherax spp.)

(4) การเพาะเลี้ยงจระเข้

(5) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง

(6) การเพาะเลี้ยงหอยทะเล

เกษตรกรสอบถามเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง
คุณฉกาจ ศรีโพธิ์ เกษตรกรกุ้งก้ามแดง จาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ลุกขึ้นถามรองอธิบดีกรมประมงในประเด็นต่างๆ

ผู้เลี้ยงต้องแจ้งภายใน 60 วัน

ฉบับต่อมาคือ ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม (กุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิช Procambarus clarkii หรือ Cherax spp.) ต้องปฏิบัติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559  ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 78 (1) และ (7) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยอธิบดีกรมประมงออกประกาศไว้ ดังนี้

“ให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม (กุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิช Procambarus clarkia หรือ Cherax spp.) อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ต้องแจ้งการประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดังกล่าว ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดประกาศกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ตามคำขอแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการการเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำควบคุม แนบท้ายประกาศนี้

กรณีเป็นผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม (กุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิช Procambarus clarkii หรือ Cherax spp.) ภายหลังจากวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ต้องแจ้งการประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนจะดำเนินกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตามคำขอแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม แนบท้ายประกาศนี้”

(ผู้ประกอบกิจการ หมายถึง บุคคลหรือนิติบุคคลที่ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมเพื่อขายหรือจำหน่ายหรือได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทน)

ผู้สนใจกุ้งก้ามแดง...คึกคักจริงๆ
มีการนำพ่อแม่พันธุ์และลูกกุ้งก้ามแดงมาขายที่หน้าห้องสัมมนาด้วย

ห้ามไม่ให้หลุดรอดจากสถานที่เลี้ยง

ในประกาศฉบับเดียวกันนี้ ได้กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม (กุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิช Procambarusclarkii หรือ Cherax spp.) ต้องปฏิบัติดังนี้

(1) กรณีการเลี้ยงในบ่อดิน บ่อปูแผ่นพลาสติก หรือนาข้าว ต้องดำเนินการจัดทำที่กั้นบริเวณขอบบ่อโดยรอบ โดยจัดวางเป็นแนวเอียงเข้าหาบ่อ และมีความสูงตามแนวดิ่งไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตรเพื่อป้องกันการหลุดรอดของกุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิชออกไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก

(2) กรณีการเลี้ยงในบ่อคอนกรีตต้องมีผนังบ่อสูงเหนือระดับเก็บกักน้ำไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการหลุดรอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก

(3) กรณีการเลี้ยงในภาชนะที่ใช้เลี้ยงอื่น ๆ เช่น ตู้กระจก กล่อง ลังพลาสติก กาละมัง ถัง เป็นต้น ต้องมีที่ปิดมิดชิดสามารถป้องกันการหลุดรอดของกุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิชออกไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก

(4) ทางระบายน้ำออกจากที่เพาะเลี้ยงต้องมีระบบป้องกันการหลุดรอดของกุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิชไม่ให้ออกไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก

(5) ห้ามนำกุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิช ไปเลี้ยง หรือปล่อย ในแหล่งน้ำสาธารณะ

(กรณีฝ่าฝืนจะมีบทกำหนดโทษ…ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ฯลฯ)

เกิดเป็นกุ้งก้ามแดง ต้องถูกควบคุมไม่ให้ออกนอกพื้นที่
เกิดเป็นกุ้งก้ามแดง ต้องถูกควบคุมไม่ให้ออกนอกพื้นที่

ทำไมต้องควบคุม…

“กุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิช เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่นำมาเข้ามาจากออสเตรเลีย จากรายงานวิจัยของต่างประเทศพบว่าเป็นสัตว์น้ำที่อาจทำลายสิ่งแวดล้อมได้ เช่น เลี้ยงในนาข้าวก็อาจจะกัดกินต้นข้าว แต่ทั้งนี้ในบ้านเราเองยังไม่ได้มีการทำรายงานวิจัยอย่างชัดเจนว่าจะเหมาะกับสภาพแวดล้อมของเราหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านก็มีสัตว์น้ำหลายชนิดที่อาจจะเหมาะกับบ้านเรา เช่น ปลาช่อน ในขณะที่อเมริกาห้ามนำเข้าปลาช่อนไปเลี้ยงเพื่อขายหรือจำหน่าย เพราะเขามองว่าไปกินสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ”

จากเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวนี้ จึงมีการควบคุมไว้ก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่า “ห้ามเลี้ยง” ตรงประเด็นนี้ รองอธิบดีกรมประมงได้ย้ำหลายครั้ง และเมื่อสักระยะเวลาหนึ่งที่นักวิจัยของไทยได้ทำความชัดเจนให้เกิดขึ้นก็อาจจะมีการผ่อนผัน และเปิดเสรีให้เลี้ยงก็เป็นได้

 สอบถามรายละอียดเพิ่มเติมได้ที่ไหนบ้าง?

  • สำนักงานประมงจังหวัด
  • สำนักงานประมงอำเภอ
  • กองกฎหมาย กรมประมง หรือเว็บไซต์กรมประมง

(กรณีต้องการรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายการเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆสามารถเข้าถึงได้ที่  http://www.fisheries.go.th/law/index.php?option=com_content&view=article&id=80&Itemid=183

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated