“มหกรรมตลาดเกษตรกร” โชว์สินค้า พัฒนาตลาด...30 มิ.ย.- 2 ก.ค. 59
ข้าวอินทรีย์ที่ได้รับรองคุณภาพมาตรฐาน...ตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาสินค้าเกษตรที่เป็นของเกษตรกรโดยตรง

กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) จัดงาน “มหกรรมตลาดเกษตรกร Farmer Market” คัดเลือกสุดยอดผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรเกรดพรีเมี่ยมจาก “ตลาดเกษตรกร” 26 จังหวัดทั่วประเทศ มาเปิดตัวพร้อมจัดจำหน่าย เปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ผลิตได้พบกับผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภคโดยตรง เพื่อเป็นช่องทางในการยกระดับการผลิตและการจัดจำหน่ายให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อขยายไปสู่ตลาด Modern Trade และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรของไทย

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึงการจัด“มหกรรมตลาดเกษตรกร Farmer Market” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกว่า เพื่อสนับสนุนการจัด “ตลาดเกษตรกร” ในจังหวัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการยกระดับการผลิตและพัฒนาสินค้าของเกษตรกรไปสู่ตลาดในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการหนุนเสริมความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรไทย ด้วยการใช้โจทย์ “สินค้าเกษตรเกรดพรีเมียม” และ “ตลาดของเกษตรกรจริงจริง ทุกสิ่งปลอดภัย” เป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

แพ็กเกจจิ้งที่สวยงามและมีข้อมูลให้กับผู้บริโภค
แพ็กเกจจิ้งที่สวยงามและมีข้อมูลให้กับผู้บริโภค

“ตลาดเกษตรกรได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการผลิตและการตลาดขึ้นกับตัวของเกษตรกร ที่นอกจากต้องผลิตสินค้าให้มีคุณภาพแล้ว ยังต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รูปลักษณ์ของสินค้า การนำเสนอสินค้า ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งผลการดำเนินงานของตลาดเกษตรจำนวน 26 จังหวัดภายใต้การดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร มีเกษตรกรเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าจำนวน 962 ร้าน มียอดจำหน่ายสะสมตั้งแต่เปิดตลาดจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนเงินมากกว่า 143 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างงานสร้างอาชีพด้านการเกษตรที่มีความมั่นคงให้กับเครือข่ายเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี”

แต่ในระยะแรกของการดำเนินงานตลาดเกษตรกรนั้น กลับไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเท่าที่ควร เพราะผู้รับผิดชอบพื้นที่และตัวเกษตรกรเองยังขาดความรู้และเข้าใจในการพัฒนาตลาดให้เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรเกรด “พรีเมี่ยม” ตามนิยามที่ได้กำหนดไว้

จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง “กรมส่งเสริมการเกษตร” ที่ดูแลตลาดเกษตรกรในพื้นที่ 26 จังหวัดกับ “คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์” ในการเข้าไปติดอาวุธองค์ความรู้ด้าน “นวัตกรรมการจัดการเกษตร” หรือ Innovative Agricultural Management (IAM) ที่ผสมผสานองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งด้านการเกษตร เศรษฐศาสตร์ การจัดการ และการตลาด ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้มีศักยภาพในจัดการตลาดให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐาน

สินค้าแปรรูปจัดวางให้ดูน่าซื้อหา
สินค้าแปรรูปจัดวางให้ดูน่าซื้อหา

ดร.มนตรี คงตระกูลเทียน คณบดี คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เปิดเผยว่าปัญหาของเกษตรกรไทยคือมีความสามารถในการผลิต แต่ขาดความรู้เรื่องการจัดการ การขาย และการตลาด ทำให้การเปิดตลาดในช่วงแรกจึงไม่มีความแตกต่างไปจากตลาดสดหรือตลาดนัด ที่ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์และความต้องการของผู้บริโภค

“ตลาดเกษตรกรเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การสร้างแนวคิดการตลาดนำการผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งจะเกิดจากการที่เกษตรกรได้มาพบและรับรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภค แล้วกลับไปคิดว่าควรจะผลิตอะไร ทำอย่างไรให้ผลิตผลดูดีเหมือนกับที่ขายอยู่ในห้าง ให้ผู้ซื้อเมื่อเดินเข้าไปในตลาดเกษตรกรรู้สึกว่าได้สินค้าที่มีคุณภาพ เริ่มจากนำสินค้าที่มีอยู่มาพัฒนา ทำอย่างไรให้มีคุณภาพได้มาตรฐานต่างๆ เช่น GAP และ GMP”

แต่การที่ผลผลิตที่ได้มาตรฐานอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่ “ตลาด” ดังนั้นทีมคณาจารย์ของสถาบัน PIM จึงนำเรื่องของ “การบริหารเข้าไปปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ ผ่านการพัฒนาศักยภาพของผู้จัดการตลาดและตัวเกษตรกรด้วยหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ เพื่อให้เข้าใจแนวคิดและวิธีการบริหารจัดการตลาดมากขึ้น และร่วมกันปรับเปลี่ยนพัฒนายกระดับการผลิตและจำหน่ายให้มีคุณภาพ จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคว่าเป็นตลาดสินค้าเกษตรเกรดพรีเมี่ยม

ไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบเน้นคุณภาพเพื่อสุขภาพ
ไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบเน้นคุณภาพเพื่อสุขภาพ

นายสุพัฒน์ อ่อนคง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ และผู้จัดการตลาดเกษตรกรจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ เล่าว่าเมื่อได้รับการอบรมก็นำเอาแนวคิดต่างๆ ที่ได้รับมาปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตลาดใหม่ทั้งหมด จากแบกะดินก็มีเปลี่ยนเป็นกระบะไม้เพื่อให้จัดวางสินค้าได้สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย สินค้าก็ต้องมีมาตรฐานต่างๆ รับรองคุณภาพ เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจสามารถแนะนำสินค้าของตัวเองได้ มีการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ให้ดูสวยงามน่าซื้อ จนผู้ซื้อเกิดความเชื่อมั่นและทำให้ตลาดเกษตรกรแห่งนี้มีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาทภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง

“วันนี้เกษตรกรของเราจะมีความรู้แต่ในเรื่องการผลิตเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เรื่องการตลาดเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ใช่ผลิตก่อนแล้วค่อยไปหาตลาด แล้วก็ต้องผลิตอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วพ่อค้าก็จะวิ่งเข้ามาหาเราเอง และเราก็ยังเป็นผู้ที่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้อีกด้วย”

คนรุ่นใหม่เรียนรู้การเกษตรครบวงจร
คนรุ่นใหม่เรียนรู้การเกษตรครบวงจร

นางสาวกานต์สินี จิตพนนมกาญจน์ เกษตรกรจากอำเภอจอมบึง ที่นำสลัดผักเพื่อสุขภาพแบรนด์ “ปากานต์” มาจำหน่ายเล่าให้ฟังว่า เดิมก็ทำเหมือนกับที่ขายในตลาดนัด แต่พอได้รับคำแนะนำทำให้รู้จักการคัดเลือกผักต่างๆ ที่จะนำมาใช้ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากขึ้น

“วัตถุดิบต่างๆ ก็ได้มาจากเกษตรกรเครือข่ายที่ปลูกส่งผักให้กับทางกลุ่มมากกว่า 20 คน น้ำสลัดก็ปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นเป็นน้ำสลัดที่ไม่ใส่ไข่ไม่ใส่นม แต่ใช้นำเต้าหู้และข้าวไรซ์เบอรี่แทนมังสะวิรัติ เจ หรืออาหารสุขภาพก็สามารถรับประทานได้ บรรจุภัณฑ์ก็เปลี่ยนใหม่ให้ดูสวยงาม มีป้ายแนะนำสินค้า วันนี้ผักโตไม่ทันจึงเอามาขายได้เพียง 200 กล่องๆ ละ 30 บาท แต่ก็ขายหมดในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง”

สำหรับ “มหกรรมตลาดเกษตรกร” มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. ณ Exhibition Hall ชั้น 1 อาคารหอประชุม สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี โดยเปิดจำหน่ายสินค้าเกษตรเกรดพรีเมี่ยมจากตลาดเกษตรกร 26 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ตลาดเกษตร นวัตกรรมตลาดเพื่อผู้บริโภค” เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรและผู้สนใจ มีการจัดแสดงสินค้าในแนวนวัตกรรมทางการเกษตรของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และการสาธิตการผลิตสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรต่างๆ อีกด้วย.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated