งาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปี 59” ...โชว์ปลูกข้าวแบบประณีต เพื่อความยั่งยืน
นี่ละ...นวัตกรรมเครื่องหย่อนกล้าข้าว ที่จะนำมาโชว์ศักยภาพล่าสุดในงานครั้งนี้

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงข่าวถึงการจัดงาน “เพื่อนพึ่ง(ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปี 2559 วันที่ 15 มิถุนายน 2559 ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปีว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ มาตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ณ บริเวณหอประชุม มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์

งาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปี 59” ...โชว์ปลูกข้าวแบบประณีต เพื่อความยั่งยืน
ถ่ายภาพร่วมกันในวันแถลงข่าว นำโดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ (คนที่ 4 จากขวา) รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สำหรับปี 2559 กำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2559 รวมเวลา 10 วัน ภายใต้แนวคิด “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ แนะการทำนาแบบประณีต เป็นอาชีพที่ยั่งยืน” และ มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนสถานที่จัดงานจากเดิมบริเวณหอประชุม ย้ายมาจัดบริเวณรอบสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรตั้งแต่ประตูงามวงศ์วาน 3 ผ่าน KU Avenue จนถึงสำนักการกีฬาหรือยิมเนเซี่ยม ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับการจราจรด้านถนนพหลโยธินที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีเขียว

สำหรับแนวคิดการจัดงานปีนี้เน้น การทำนาแบบประณีต เพื่อเป็นการยกระดับเกษตรกร และชาวนาของประเทศได้ปลูกข้าวให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล มีประสิทธิภาพในการทำนาที่รวดเร็ว ลดต้นทุน และได้ผลผลิตสูง และถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ล้ำค่าที่เป็นของคนไทยอย่างแท้จริง นั่นก็คือ นวัตกรรมเครื่องหย่อนกล้าข้าวที่เป็นผลงานของอาจารย์ ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งผลงานนี้ได้จดสิทธิบัตรในนามมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก  สภากาชาดไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ที่ได้รับการพัฒนาเป็นครั้งแรกของโลก รวมทั้งเป็นเผยแพร่ผลการดำเนินงานของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ ) ยามยาก สภากาชาดไทย ให้ประชาชนได้รับรู้แนวทางการประกอบอาชีพเสริม และความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตร การป้องกัน การฟื้นฟู และการช่วยเหลือสังคมภายหลังเกิดภัยพิบัติ อาทิ อุทกภัย วาตภัย และภาวะภัยแล้ง เป็นต้น

ดร.แสงดาว แสนรอด (เขาแก้ว) (ชุดเหลือง) จะมาโชว์วิธีการทำนาแบบสั่งตัดเงินล้าน
ดร.แสงดาว แสนรอด (เขาแก้ว) (ชุดเหลือง) จะมาโชว์วิธีการทำนาแบบสั่งตัดเงินล้าน…ส่วนขวามสุด อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา จะมาโชว์รถหย่อนกล้ารุ่นใหม่ล่าสุด

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังนำผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาจัดแสดง เช่น การปลูกข้าวเชิงพาณิชย์เป็นมิตรต่อระบบนิเวศ ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตด้วย “เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดและเทคนิคการทำนาแบบชาวนาเงินล้าน” โดย ดร.แสงดาว แสนรอด (เขาแก้ว) อีกทั้งแป้งข้าวไรซ์เบอรี่สำเร็จรูป  เครื่องสีข้าวขนาดชุมชน หรือเมนูข้าวเพื่อสุขภาพผู้สูงวัย เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้และนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ หรือนำไปประยุกต์ในการประกอบอาชีพเสริม ตลอดจนการนำผลผลิตของเกษตรกร กลุ่มลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กลุ่มสินค้าของจังหวัดต่าง ๆ มาจำหน่าย รวมถึงสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค ของดีจากตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย สินค้าที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือ สินค้า Q หรือ “Q Restaurant” เป็นต้น โดยจะนำรายได้จากการจัดงานหลังหักค่าใช้จ่ายสมทบมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย

โชว์ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวไรซ์เบอรี่
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวไรซ์เบอรี่

รศ. ดร. นพ.หมอพิชิต สุวรรณประกร รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง   (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย แถลงว่า ในการจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อหาเงินรายได้นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติต่อไป สำหรับปีนี้ได้เปลี่ยนตำแหน่งสถานที่จัดจากด้านถนนพหลโยธินมาทางด้านถนนงามวงศ์วานประตู 3  เป็นลักษณะถนนคนเดินให้ชม ชิม ช็อปอย่างจุใจ  แต่ยังคงบรรยากาศของงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์  โดยเน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรและชาวนาทำนาแบบประณีต โดยนำเครื่องหย่อนกล้าข้าวแบบประณีตของอาจารย์ปัญญา ซึ่งได้จดสิทธิบัตรร่วมกันระหว่างมูลนิธิ ฯ กับ มหาวิทยาลัย  ในการที่จะช่วยให้ชาวนามีโอกาสปลูกข้าวอินทรีย์ได้ปริมาณข้าวมากขึ้น การดูแลง่าย ต้นทุนต่ำ ตลอดจนนำเทคโนโลยีโปรแกรมการปลูกข้าวบนมือถือ มาประยุกต์ใช้ เป็นต้น

สำหรับร้านค้ามูลนิธิฯ จะจัดร้านแบบใหม่ ทั้งชิม ช้อป เพลินตาเพลินใจ ทั้งอาหารคาวหวานจากข้าว riceberry ข้าวอินทรีย์ เบเกอรรี่ ตลาดสดของอินทรีย์ ของฝากจากร้านส่วนพระองค์ ร้านผลพลอยพอเพียง ร้านค้าชุมชน ร้านผักอินทรีย์ รวมทั้งร้านพันธมิตรของมูลนิธิ ฯ จะได้นำผลิตภัณฑ์อาหารที่แปรรูปจากข้าวไรซ์เบอรี่  เช่น ขนมปัง ขนมครก  ชา เบเกอรี่  และเป็นครั้งแรกที่ทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมออกร้านโดยนำผลิตภัณฑ์จากข้าวไรซ์เบอรี่ของมูลนิธิ ฯ มาใช้ในการสาธิตการประกอบอาหารร้าน Q restaurant เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค มาจัดแสดงด้วย

ด้าน ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปีนี้ ได้เปลี่ยนสถานที่มาจัดบริเวณ ตั้งแต่ประตูงามวงศ์วาน 3 เลี้ยวซ้ายเข้ามาในบริเวณรอบสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร จนถึงแยกสำนักการกีฬา โดยจะทำการปิดการจราจรเฉพาะฝั่งขาเข้าประตูงามวงศ์วาน 3 จนถึงแยกยิมเนเซี่ยม ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2559 ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วางแผนและจัดการจราจรไม่ให้ติดขัด และสามารถใช้ประตูงามวงศ์วาน 1 และ 2 รวมทั้งประตูพหลโยธิน และประตูอื่น ๆ ได้ตามปกติ ยกเว้นขาเข้าประตูวิภาวดีรังสิตแยกยิมเนเซี่ยมจัดการเดินรถทางเดียวออกประตูงามวงศ์วาน 3 ขาออกได้ตามปกติ

จึงขอเชิญชวนประชาชน และผู้สนใจมาเที่ยวงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปี 2559ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2559 เวลา 10.00 – 22.00 น. ณ บริเวณสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร และร่วมทำบุญด้วยการอุดหนุนสินค้าของร้านค้าส่วนพระองค์ ร้านของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ร้านผลพลอยพอเพียง และตลาดสดอินทรีย์ รวมทั้งชมนวัตกรรมผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเลือกซื้อของดีจากตลาดน้ำ ของดี 77 จังหวัด ตลาดนัดต้นไม้ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย

(ข่าวโดย : จุไร เกิดควน/ประชาสัมพันธ์ มก./15 มิถุนายน 2559)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated