เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้จัดงานประชุมสัมมนาวิชาการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ประจำปี 2565 เรื่อง “การตรวจสอบบัญชีกับความท้าทายของโลกยุคใหม่ CAD Audit VS a VUCA World” พร้อมมอบรางวัลผลงาน นวัตกรรม ดีเด่น ประจำปี 2565 เพื่อพัฒนาคุณภาพการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใส ป้องปรามการทุจริต และเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยมีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวรายงาน ณ สวนลอยฟ้า ฮอลล์ 1 นงนุช เทรดดิชั่น รีสอร์ต (สวนนงนุช) จังหวัดชลบุรี

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก โดยขับเคลื่อนผ่านระบบสหกรณ์ ให้สามารถเป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ และตอบสนองความต้องการแก่สมาชิก มุ่งประโยชน์และเป็นที่พึ่งแก่สมาชิกอย่างแท้จริง จึงได้มอบนโยบายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำเนินงานสร้างความเข้มแข็งทางการเงินการบัญชีแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีระบบการเงินการบัญชีและการควบคุมภายในที่ดี สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิก สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการตรวจสอบบัญชีตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ เป็นการยกระดับศักยภาพสถาบันเกษตรกรและพัฒนาสหกรณ์ ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สมาชิกสหกรณ์และคนในชุมชน

“โดยในปัจจุบันมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ต้องเข้าปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชี จำนวน 11,800 แห่ง ให้สามารถใช้ประโยชน์จากผลการตรวจสอบบัญชีและข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชีไปปรับปรุงการบริหารจัดการและอํานวยประโยชน์แก่มวลสมาชิกโดยรวม ทั้งนี้ จากการดำเนินงานของสหกรณ์ที่มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการเกิดเหตุทุจริตในสหกรณ์ จึงต้องมีมาตรการเชิงรุกในการยกระดับมาตรฐานการสอบบัญชีให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนาระบบการตรวจสอบบัญชีและการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชี เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์ที่มีมูลค่ากว่า 3.58 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.54 ของ GDP ทั้งประเทศ พร้อมทั้งดำเนินงานเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพด้านการเงินการบัญชีแก่เกษตรกร ผ่านกระบวนการเรียนรู้การจัดทำบัญชีให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย”

“ขอให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทุกท่าน ทำหน้าที่ตรวจสอบระบบการเงินการบัญชี การควบคุมภายใน และการดำเนินงานของสหกรณ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดอย่างโปร่งใส สามารถป้องปรามการทุจริตและข้อผิดพลาดทางการเงินการบัญชี พร้อมทั้งพัฒนาสมรรถนะบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น มีการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน ซึ่งล้วนเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาให้สถาบันเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน” รมช.กษ. กล่าว

ด้าน นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านการเงินและการบัญชีของสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร ทั้งในด้านการสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรและในด้านการสอนบัญชีแก่เกษตรกรและกลุ่มเป้าหมาย โดยได้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ทั้งในรูปแบบการเป็นผู้สอบบัญชีเอง และการควบคุมกำกับคุณภาพงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ให้ทำการตรวจบัญชีอย่างโปร่งใส เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยกำหนดให้มีการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีทุกราย และมีการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งในปัจจุบัน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีผู้สอบบัญชี จำนวน 500 คน และผู้สอบบัญชีภาคเอกชนหรือบุคคลอื่นอีก 280 คน รวมจำนวนผู้สอบบัญชี จำนวน 780 คน ซึ่งได้รับการเสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพดำเนินงานสอบบัญชีให้มีคุณภาพและมีความโปร่งใส  

พร้อมกันนี้ ยังทำหน้าที่ผู้สอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ รู้เท่าทันกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายใหม่ ๆ มีทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสอบบัญชี เพื่อสร้างคุณภาพและความเชื่อมั่นของผลงานการสอบบัญชี และการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีตามขนาดและความซับซ้อนของการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ พร้อมควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี เพื่อให้การตรวจสอบบัญชีเป็นไปตามมาตรฐานในทุกขั้นตอน โดยยังได้จัดทีมตรวจสอบพิเศษ เข้าประเมินระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์ขนาดใหญ่ และจำแนกสหกรณ์ที่เข้าประเมินเป็น 3 ระดับ เพื่อวางมาตรการเฝ้าระวังตามระดับความเสี่ยงของสหกรณ์อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยในการสอบบัญชี โดยผลักดันให้สหกรณ์ใช้ Application Smart4m ในการตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายจัดการ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและให้ทุกภาคส่วนของสหกรณ์ได้มีส่วนร่วมในการสร้างระบบการควบคุมภายในที่ดีให้เกิดขึ้นในสหกรณ์ และอีกด้านสำคัญ คือ การสร้างความตระหนักรู้ให้คณะกรรมการสหกรณ์ ฝ่ายจัดการ ผู้ตรวจสอบกิจการ และสมาชิกสหกรณ์ ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเงินการบัญชีของตนเอง โดยส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการสหกรณ์ และส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของตนเอง ผ่านแอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ ร่วมเป็นหนึ่งในกลไกการตรวจสอบและเสริมสร้างความโปร่งใสให้ระบบสหกรณ์ ลดช่องโหว่การเกิดเหตุทุจริตได้

“พร้อมกันนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้ส่งเสริมการจัดทำบัญชีในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ ให้เกษตรกรและสมาชิกสถาบันเกษตรกร พร้อมทั้งกำกับแนะนำกระตุ้นและติดตามการจัดทำบัญชีของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการจัดทำบัญชีให้ขยายผลไปในทุกกลุ่มเป้าหมายกว่า 64,000 ราย” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated