อบก.รับรองพื้นที่การทำงานของเครือซีพีภาคเหนือ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยกลไก Less เพิ่มพื้นที่สีเขียว
อบก.รับรองพื้นที่การทำงานของเครือซีพีภาคเหนือ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยกลไก Less เพิ่มพื้นที่สีเขียว

โครงการเกษตรยั่งยืนแม่วากโมเดล บ้านแม่วาก ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ หนึ่งในความร่วมมือในการขับเคลื่อนการทำงานระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ และภาคีเครือข่ายแม่แจ่มโมเดล ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เชียงใหม่ ในโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) ปี 2565 ด้านป่าไม้และพื้นที่สีเขียว โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้ จำนวน 2,687.347 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มาจาก 14 แผนงานในการขับเคลื่อนในพื้นที่ ซึ่งจากการสำรวจเก็บข้อมูลพบว่ามีจำนวนต้นไม้ 340 ต้น และพันธุ์ไม้ที่พบ อาทิ  ต้นไผ่, ต้นสัก, ต้นอาโวคาโด, ต้นมะม่วง เป็นต้นไม้ที่มีมูลค่าสามารถสร้างป่า สร้างรายได้ไปพร้อมกัน

นายนนท์ นาคะเสถียร ผู้จัดการทั่วไป ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สำนักบริหารธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือซีพียังคงมุ่งมั่นการทำงานด้านความยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคการเกษตร เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน โดยปีนี้ก้าวสู่ปีที่ 5 ในการขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้บนพื้นที่ต้นน้ำปิง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งทุกภาคส่วนยังคงให้ความสำคัญด้านมิติสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนางานในพื้นที่ และเครือซีพีได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนและชุมชน หลายหน่วยงาน อาทิ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาจร สถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่วาก สำนักงานเกษตรอำเภอแม่แจ่ม  สมาคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ สถาบันอ้อผะหญา มูลนิธิไทยรักษ์ป่า และมูลนิธิอุ่นใจ ในการแก้ไขปัญหาของชุมชน

แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นการปรับเปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวมายาวนาน และการเผาวัสดุทางการเกษตร จะส่งผลให้เกิดปัญหาหมอกควันไฟป่า แต่ชุมชนได้ตระหนักถึงผลเสียต่อสภาพแวดล้อม รวมถึงสุขภาพของคนในพื้นที่ จึงมีความพยายามปรับเปลี่ยนแนวทางการปลูกพืชชนิดใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ชุมชนยังคง

ประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ขาดองค์ความรู้ต่างๆ และขาดงบประมาณ จึงมีจัดการระบบน้ำเพื่อการเกษตร บ้านแม่วาก โดยปัจจุบันโครงการแม่วากมีสมาชิกเกษตรกร 32 คน มีพื้นที่ทำการเกษตร 26 ไร่  มีการสนับสนุนงบประมาณการจัดซื้อท่อน้ำ รวมระยะทางแนวท่อ PVC จำนวน 4,556 เมตร ในการขยายผลระบบน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มเติม อีกทั้งยังเพิ่มบ่อพวงจำนวน 37 บ่อ พร้อมสนับสนุนสนุนกล้าไม้และส่งเสริมการปลูกไม้ผลเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น มะม่วง อาโวคาโด เงาะ และมะขามยักษ์ นอกจากนี้ยังมีการปลูกป่าสร้างรายได้ ได้เเก่ ไผ่ซางหม่น พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้การทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีการปรับเปลี่ยนอาชีพ ฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยใช้ไผ่เป็นไม้เบิกนำ อีกทั้งเครือซีพียังสนับสนุนการสร้างศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์บ้านแม่วาก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การปรับเปลี่ยนอาชีพด้วยพืชระยะสั้นและพืชระยะกลางพืชมูลค่าสูง อาทิ กาแฟ อีกด้วย

ปัจจุบัน โครงการเกษตรยั่งยืนแม่วากโมเดล บ้านแม่วาก ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) ปี 2565 ด้านป่าไม้และพื้นที่สีเขียว โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้ จำนวน 2,687.347 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นับเป็นพื้นที่ต้นแบบที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคการเกษตร ที่จะนำร่องสร้างความตระหนักในการร่วมลดปัญหาโลกร้อนไปพร้อมกัน เพื่อให้ประเทศและโลกของเราคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated