วิสาหกิจฯวัยหวานเพชรบุรี ใช้นวัตกรรมแปรรูปกล้วย “รากจรดใบ” ธ.ก.ส.หนุนธุรกิจชุมชนสร้างไทย
วิสาหกิจฯวัยหวานเพชรบุรี ใช้นวัตกรรมแปรรูปกล้วย “รากจรดใบ” ธ.ก.ส.หนุนธุรกิจชุมชนสร้างไทย

เรื่องโดย : จตุพล เกษตรก้าวไกล

ได้รับทราบข้อมูลจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาชะอำ ว่า มีวิสาหกิจชุมชนแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี ที่แปรรูปกล้วยทั้งต้น โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาจัดการแปรรูปกล้วยตั้งแต่รากจรดใบ กล้วยที่ใช้เป็นวัตถุดิบคือ กล้วยหอมทองที่ปลูกมากที่สุดในเขต อ.ชะอำ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

ทีมงานเกษตรก้าวไกล ภายใต้โครงการธ.ก.ส.เกษตรก้าวไกล จึงเดินทางไปพบ “คุณเปิ้ล” ปนิดา มูลนานัด ประธานวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ตามที่ธ.ก.ส.แจ้งเรามา ซึ่งพบว่าเธอมีรางวัลเป็นเครื่องการันตีมากมาย ล่าสุดเป็นผู้ชนะเลิศจากโครงการ “ฟอร์ดเติมฝันเกษตรกรหญิงรุ่นใหม่ (FORD MOVES HER BUSINESS) ในฐานะที่นำนวัตกรรมมาพัฒนาอาชีพ และสิ่งสำคัญเธอทำเพื่อเกษตรกรและชุมชน ซึ่งบังเอิญว่าในวันที่เราไปเยือนนั้น ฟอร์ดประเทศไทยได้นำคณะมาเยี่ยมชมและ Work Shop เค้กกล้วยหอมจากแป้ง Dry ที่ทำขึ้น รวมทั้งทำขนมโมเลนจากกล้วยตากอีกด้วย

คุณเปิ้ล เล่าว่า ที่ตั้งชี่อ วิสาหกิจชุมชนวัยหวาน เพราะสมาชิกอยู่ในช่วงวัยเป็นเบาหวาน อายุ 60-70 ปี ทั้งนี้เพื่อสร้างการจดจำ โดยทุกคนที่ได้ฟังมักเข้าใจว่าวัยละอ่อน ชุมชนเรายึดหลัก BCG MODEL ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกลุ่มเราใช้งานวิจัยมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยใช้พลังงานสะอาดแปรรูปกล้วยหอมทอง ตั้งแต่รากจรดใบ ผลนำมาทำกล้วยกวน กล้วยตาก กล้วยอัดเม็ด หัวปลีทำเป็นสะแน็ก ต้นเรานำมาตีเป็นเส้นใยผลิตเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึงกระเป๋า รองเท้า น้ำในต้นกล้วยทำเป็นเซรั่ม ส่วนกาบนอกนำไปขึ้นรูปเป็นภาชนะใส่อาหาร

คุณเปิ้ล พาเราเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตอาหารที่เป็นผลงานการแปรรูปจากกล้วยหอมทอง พอเปิดประตูเข้าไปก็หิวเลย เพราะได้กลิ่นขนมล้วนๆ มีขนมวาฟเฟิลกรอบ ที่ทำจากแป้งกล้วยที่ผลิตขึ้นเอง กล้วยตากจะนำมาตัดเป็นชิ้นๆเพื่อให้ทานง่ายขึ้น เพราะเคยขายเป็นลูกๆ ลูกค้าบอกว่าทานยากและเหมือนปลิงทะเล ยังมีขนมหนุบหนับ กล้วยกวนสามรส ฯลฯ ทั้งหมดจะผลิตภายในวิสาหกิจชุมชนที่เป็นโรงงานขนาดกะทัดรัด แต่ผลิตขนมได้หลายรายการ ซึ่งจะมีห้องบรรจุภัณฑ์อยู่ต่างหากแต่อยู่ติดกัน

สำหรับกล้วยหอมทองตากนั้น คุณเปิ้ลเล่าให้ฟังว่า แรกๆคิดว่าจะทำได้ง่าย เคยไปศึกษาดูงานกล้วยตากที่พิษณุโลก และนำความรู้มาพัฒนาต่อยอด ปรากฏว่าหมดกล้วยหอมทองไปเป็นตันกว่าที่ทุกอย่างจะลงตัว

จบจากการดูโรงงานผลิตอาหารแปรรูปจากกล้วยหอมทอง คุณเปิ้ลพาเราไปดูผลิตภัณฑ์ที่ทำจากใยกล้วย มีทั้งเสื้อผ้า หมวก ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋าถือ ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถือเป็นนวัตกรรมที่เพิ่งผลิตได้ไม่นานเป็นการต่อยอดกล้วยจากรากจรดใบ ซึ่งค่อยๆสำเร็จไปในทีละส่วน และได้รับการตอบรับที่ดีตามลำดับ

ผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างได้รับการออกแบบเป็นอย่างดี และวัตถุดิบหลักคือต้นกล้วยจะซื้อจากเกษตรกร ซึ่งเดิมนั้นเกษตรกรเคยตัดทิ้ง อย่างเช่น กระเป๋าถือจากใยกล้วยใบหนึ่งเราต้องใช้กล้วยหอมทองถึง 25 ต้น ขายในราคา 5,900 บาท ต้นทุนเราอาจจะสูง เพราะเราทำด้วยมือ ที่สำคัญเราทำจากต้นกล้วยที่เคยตัดทิ้ง ถ้าขายเยอะๆ เราก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น จากต้นกล้วยที่ไม่มีมูลค่า แต่เราไปเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น

ถามคุณเปิ้ลว่า ความรู้ที่นำมาพัฒนางานทั้งอาหารและเครื่องใช้จากต้นกล้วยจากรากจรดใบได้องค์ความรู้มาจากไหน ได้รับคำตอบว่า..

“ความรู้ที่จะแปรรูปผลิตภัณฑ์ต้นกล้วยจากรากจรดใบ เริ่มต้นเราต้องเดินเข้าไปหหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะให้ความรู้และถ่ายทอดนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็น มทร.กรุงเทพ มทร.พระนคร ราชภัฏเพชรบุรี ม.ศิลปากร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการพัฒนาชุมชน มีทั้งในระดับอำเภอและระดับจังหวัด เราเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เราต้องประสานหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อวิสาหกิจและชุมชนของเรา” คุณปนิดา กล่าวและว่า ในส่วนของเงินทุนเราเป็นลูกค้าของธ.ก.ส.ในโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ธ.ก.ส. ส่งเสริมเราเป็นอย่างดี ทำให้เราเดินต่อได้

คุณเปิ้ล กล่าวต่อไปว่า จากการทำงานอย่างจริงจัง เราได้รับรางวัลมากมาย ทั้งชุมชนอุดมสุขจากธ.ก.ส. รางวัลจากกรมการพัฒนาชุมชน และรางวัลจากฟอร์ดเติมฝันเกษตรกรหญิงรุ่นใหม่ (FORD MOVES HER BUSINESS)

“ส่วนช่องทางการจำหน่ายของเรา จะเป็นทางออนไลน์ ส่วนออฟไลน์ จะขายที่หน้าร้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน หรือจะโทรศัพท์ตรงมาถึงตน ที่เบอร์  086-3806338” ประธานวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน กล่าวทิ้งท้าย

(ชมคลิปประกอบข่าวได้เต็มๆที่ https://youtu.be/i8K6fyGJY1g ในคลิปนี้จะเห็นภาพชัดว่าวิสาหกิจชุมชนวัยหวานสามารถยกระดับสู่ความสำเร็จได้อย่างไร)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated