“โชค-โคกหนองนา” Smart New Gen อุทัยธานี กับข้อแนะนำดีๆเพื่อคนอยากทำเกษตร
บนผืนดินที่เหือดแห้ง “โชค” สร้างโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง ธ.ก.ส.สานฝันให้เป็นจริง

เรื่องโดย : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล

หากฝันอยากทำเกษตร สิ่งสำคัญ ต้องมีใจ พร้อมสู้ ด้วยการวางแผนบริหารจัดการที่ดี ได้รับการสนับสนุนที่ดี โดยเฉพาะในด้านเงินทุน นี่คือสิ่งที่ Smart New Gen จังหวัดอุทัยธานี ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ที่ชื่อ “โชค-ศศเศรษฐโชค ตามพระหัตถิ์” ใช้เป็นแนวทางก้าวสู่ความสำเร็จบนเส้นทางการเป็นเกษตรกรในวันนี้

“ก่อนหน้านี้ ทำงานบริษัทที่กรุงเทพฯครับ กลับมาบ้านเกิดได้ประมาณ 10 ปี มาปรับพื้นที่มีอยู่ประมาณ 60 ไร่ให้เป็นแปลงเกษตรเลี้ยงชีวิต โดยยึดหลักตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9”

โชค ได้พลิกเปลี่ยนพื้นที่ที่เป็นมรดก ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 61 หมู่ 6 ตำบลหนองไผ่  อำเภอหนองขาหย่าง ที่ครั้งอดีตเคยแห้งแล้ง มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าว ให้กลายเป็นแปลงเกษตรที่มีกิจกรรมหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้มากมายอย่างน่าสนใจ ไม่ว่า จากการจำหน่ายข้าวกล้อง, ข้าวไรซ์เบอร์รี่, ข้าวเหนียวกล่ำการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ด้วยการทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เช่น แป้งข้าวหมาก ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย เช่น กล้วยฉาบ กล้วยอบน้ำผึ้งผลิตภัณฑ์น้ำอ้อยคั้นสด รวมถึงผลผลิตด้านปศุสัตว์ ทั้งเป็ด ไข่ และควาย

“ผมช่วยกันทำงานแบบครอบครัวครับ 3 คน เราใช้หลักของการบริหารพื้นที่เข้ามาช่วย โดยจัดพื้นที่ออกเป็นแปลงๆ เพื่อทำกิจกรรมตามเป้าหมายที่กำหนด เช่น ล่าสุด ได้จัดทำแปลงโคกหนองนาในพื้นที่ 5 ไร่” ภายใต้ชื่อ “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” เป็นชื่อที่มีความหมายมากๆสำหรับผู้หัวใจการเกษตรที่จะต้องต่อสู้อดทน..

โชคกับข้อแนะนำ สำหรับคนที่อยากเริ่มต้น

เพราะการทำงานที่เน้นการวางแผน และมีหลักมั่นในการปฏิบัติ จากวันที่เริ่มต้นในวัย 39 ปี ผ่านมาวันนี้ 10 ปี จึงก้าวมาสู่ความสำเร็จ

“อย่างตอนเริ่มต้น ผมเริ่มจากพื้นที่ 5 ไร่ก่อน ปลูกไม้ยืนต้นผสมผสานกับพืชสวนอย่าง มะม่วง มะกรูด มะนาว เพราะไม้ยืนต้นนั้น ไม่ต้องเข้าไปดูแลมากนัก จากนั้นก็มาจัดการบริหารเรื่องที่นา และแหล่งน้ำ ค่อยๆทำ ค่อยๆสร้างมาตามกำลังครับ”

จากสิ่งที่ค่อยๆ ทำในแปลงเกษตร ได้นำมาซึ่งรายได้อย่างต่อเนื่องทั้งแบบรายวัน รายเดือน และรายปี สามารถสร้างสุขให้ชีวิตได้เป็นอย่างดี ผ่านจุดขายที่เน้นการผลิตที่ปลอดภัยจากสารพิษ

แต่สิ่งสำคัญอีกประการที่เป็นข้อแนะนำ คือ การลดต้นทุนการผลิต ด้วยโชคบอกว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตของเกษตรกรนั้นเพิ่มสูงมากขึ้น ดังนั้น การที่จะอยู่ได้อยู่รอด ต้องลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด

“อย่างที่ผมทำและได้แนะนำให้กับเพื่อนเกษตรกรเสมอ คือ ใช้วิธีการปรับปรุงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช เช่น การใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก เพื่อปรับโครงสร้าง และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน การใช้วิธีการห่มฟาง เป็นต้น เมื่อดินเรามีความอุดสมบูรณ์แล้ว จะทำให้ต้นพืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรสามารถลดเรื่องการใช้ปุ๋ยใช้ยาลงไปได้ครับ”

“ดังนั้นในวันนี้ หากใครสนใจ อยากกลับบ้านมาทำอาชีพเกษตร ที่เป็นนักธุรกิจเกษตร เป็นสิ่งที่ต้องเติมแต่งให้สมบูรณ์ คือ แนวคิดในการบริหารจัดการพื้นที่ เช่น ดูว่า มีอะไรที่เราพอจะเริ่มทำได้เองบ้าง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น การทำปุ๋ยหมักใช้เอง การปลูกพืชผักสวนครัว เพาะเห็ด ไว้บริโภคในครัวเรือนก่อน เหลือแล้วค่อยขาย เป็นต้น หรือ ถ้ามีทุนน้อย ก็เริ่มทำน้อยๆ ตามกำลัง ค่อยๆ ทำที่ละนิด แล้วใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ทั้งการสื่อสารไปสู่ลูกค้าเป้าหมาย และใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่รู้ผู้ที่สำเร็จ เพื่อนำมาสู่การพัฒนาของเรา”

เริ่มต้นแล้วมีปัญหา ต้องแก้

สิ่งหนึ่งที่ Smart New Gen ผู้นี้ได้บอกเล่า คือ ความยากลำบากในการเริ่มต้น ที่ต้องอาศัยสรรพกำลังมากมาย กว่าจะทำให้ทุกอย่างออกมาสวยงาม เหมือนกับภาพของแปลงเกษตรสวยๆ ที่เผยแพร่กันตามสื่อต่างๆ

“อย่างพื้นที่ 3 ไร่ ที่ทำโคกหนองนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอหนองขาหย่าง ดินที่ขุดจากบ่อซึ่งลึก 6 เมตร แล้วนำขึ้นมาถมพื้นที่ จะเป็นดินที่เรียกว่า ดินเลนผสมกรวด พอแห้งแล้วน้ำจะไม่ซึมแห้งแล้วจะเหมือนปูนเลย  ซึ่งไม่อุดมสมบูรณ์แบบสุดๆ น้ำไม่ซึมผ่าน มีพืชชนิดเดียวที่ขึ้นได้งามมากคือ หญ้าแฝก ซึ่งหลายคนที่ผมได้พบ จะเจอปัญหานี้ คือขุดบ่อเอาดินขึ้นมาถมแล้ว ปลูกอะไรไม่ได้ และไม่รู้จะทำอย่างไร จึงทำให้ท้อและเลิกไปในที่สุด”

ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ด้วยการปรับปรุงบำรุงดิน เช่น การปรับโครงสร้างด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ใส่ปูนโดโลไมท์ ราดด้วยน้ำจุลินทรีย์ ห่มฟาง ปลูกหญ้าแฝก เป็นต้น โชคบอกว่า แม้ดินไม่ดี แต่แก้ไขได้ ขอเพียงศึกษาหาองค์ความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ค่อยๆทำค่อยๆปรับ แล้ววันหนึ่งจะสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายได้

“สิ่งที่ผมอยากแนะนำคือ จุดที่เราจะปลูกต้นไม้นั้น ยังไม่สามารถทำได้ ก็ปรับไปทำกิจกรรมอื่นที่จะเข้ามาช่วยสร้างรายได้ อย่างเช่น ไปเลี้ยงปลาในคลองไส้ไก่ เป็นปลาดุก หรือปลาธรรมชาติ เลี้ยงไปประมาณ 3 เดือนก็สามารถได้จับมากินมาขายแล้ว หรือจะเลี้ยงเป็ด เลี้ยงกบ โดยกบตอนนี้ราคาดีมาก กิโลกรัมหนึ่งอยู่ที่ 70 บาท หากเลี้ยงกบ 1 กระชังก็สามารถสร้างเงินหมื่นได้ หรือถ้าเป็นพืช ที่เก็บขายได้เร็วก็จะเป็นกล้วยและอ้อยคั้นน้ำ เป็นต้น ผมอยากให้เริ่มตรงจุดไหนที่สามารถทำได้ทำก่อน ตรงไหนที่ต้องปรับต้องปรุงก็ค่อยๆทำไป ซึ่งขึ้นอยู่แนวความคิดของแต่ละคน เป็นเรื่องสำคัญ”

ธ.ก.ส. ร่วมสนับสนุนสุดๆ

อย่างไรก็ตาม บนก้าวแห่งชีวิตการเป็นเกษตรกรที่สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นวันนี้ หนึ่งในพลังสำคัญที่จะเสริมและสนับสนุนคือ หน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง “ถนนทุกสายมุ่งสู่โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” โดยในจำนวนนี้ ธ.ก.ส. คือ หนึ่งพลังที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนด้านทุนดำเนินการ จนทำให้สามารถก้าวเดินได้อย่างไม่ติดขัด

“ธ.ก.ส.ให้โอกาสผมหลายอย่าง ไม่ว่า การสนับสนุนด้านการเพิ่มพูดความรู้ ด้วยการส่งเข้ารับการอบรมในโครงการต่างๆ ของ ธ.ก.ส. ทำให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากวิทยากร มาต่อยอดการประกอบอาชีพได้ และการสนับสนุนด้านเงินทุนจากโครงการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลผ่าน ธ.ก.ส. เช่น สินเชื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อผู้ประสบภัยแล้ง สินเชื่อ Green Credit ผ่านพันธบัตร Green Bond ปลาในนาข้าวครับ” โชคกล่าว

โชคกับเป้าในอนาคต

อีกสิ่งที่ได้เห็นจากความมุ่งมั่นของเกษตรกรผู้นี้คือ การสร้างอนาคตในด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่เน้นกิจกรรมเกี่ยวกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ผมอยากตั้งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ภายใต้ชื่อ Ecovillage by Chok มีการใช้พลังงานสะอาด เช่น ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ มีการจัดการเรื่องป่า เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีก 3 ปีครับ ผมจะทำ Ecovillage by Chok ให้สำเร็จ” โชค กล่าวทิ้งท้าย

โชค-ศศเศรษฐโชค ตามพระหัตถิ์ นี่คืออีกอีกตัวอย่างความสำเร็จที่ไม่ได้เพราะโชคช่วย แต่มาจากโชคที่ลงมือทำจริง ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเททำจริง และได้นำมาซึ่งความมั่นคงอย่างยั่งยืนในอาชีพตลอดไป

(ชมคลิป LIVE สด ประกอบข่าวได้ที่ https://youtu.be/gJXAQLDDTVM)

พบกับคลิปที่ 2 “โชค โคกหนองนา” กับเป้าหมายแห่งอนาคต..คลิกชมได้เลย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated