มก.จัดเสวนาวิชาการ “วิกฤต...โรคลัมปี สกิน โรคระบาดในสัตว์” เร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เกษตรกร และผู้บริโภค
มก.จัดเสวนาวิชาการ “วิกฤต...โรคลัมปี สกิน โรคระบาดในสัตว์” เร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เกษตรกร และผู้บริโภค (ภาพจาก กรมปศุสัตว์)

ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากกระแสข่าวเกี่ยวกับโรคลัมปี สกิน ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus หรือเชื้อไวรัสฝีดาษในตระกูล Capripoxvirus เกิดในโค กระบือ ซึ่งการติดต่อของโรคเกิดจากแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ และจากสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ป่วย โดยระบาดครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมาที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด จากนั้นแพร่กระจายไปทั่วใน 35 จังหวัด อีกทั้งยังมีการระบุว่าโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง จำเป็นต้องรักษาตามอาการร่วมกับยาปฏิชีวนะและใช้ยารักษาแผลภายนอกจนกว่าจะหาย อีกทั้งยังมีกระแสข่าวที่แชร์ต่อๆกันว่า เกษตรกรสามารถนำสมุนไพรพื้นบ้านมาทารอบๆแผล รวมทั้งให้โคกระบือรับประทานสมุนไพรเพื่อเป็นยาซึ่งมีมากมายหลายสูตรยา ในส่วนนี้ส่งผลให้เกษตรกรหลงเชื่อถือปฏิบัติตาม ล่าสุดมีการใช้วัคซีนควบคุมโรค ถือเป็น 1 ใน 5 มาตรการที่สำคัญของการควบคุมการระบาดที่ได้ดำเนินการโดยกรมปศุสัตว์จัดหาและสั่งซื้อวัคซีน เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา นับเป็นความหวังของเกษตรกรไทย

ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก
ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก

จากปัญหาเร่งด่วนดังกล่าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเปิดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “วิกฤต…โรคลัมปี สกิน โรคระบาดในสัตว์” ในวันที่ 10 มิถุนายน 2564 เวลา 9.00 -12.00 น. วิทยากรผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในประเด็น นโยบายการบริหารจัดการปัญหาการแพร่ระบาดโรคลัมปี สกิน ในสัตว์ของประเทศไทย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ น.สพ.ดร.สถาพร จิตตปาลพงศ์ คณบดีคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในประเด็นรู้จักสาเหตุ วิธีการป้องกัน และการแก้ปัญหาการระบาดของโรคลัมปี สกิน ดำเนินรายการเสวนา โดย ผศ.ดร.วุฒินันท์ รักษาจิตร์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและนวัตกรรม คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มก.จัดเสวนาวิชาการ “วิกฤต...โรคลัมปี สกิน โรคระบาดในสัตว์”

ผู้สนใจ สามารถเข้าร่วมการเสวนาผ่านระบบออนไลน์โปรแกรม Zoom , Facebook : สถานีวิทยุ มก. , You Tube : kuradio thailand และถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุ มก. บางเขน AM.1107 KHz. , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มก.ขอนแก่น  AM.1314 KHz. , ภาคเหนือ มก.เชียงใหม่ AM. 61 2 KHz. , ภาคใต้ มก.สงขลา AM.1269 KHz.

ข้อมูลเพิ่มเติม และลงทะเบียนเข้าร่วมที่ https://sites.google.com/ku.th/serviceconference

(ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated