สยามคูโบต้า เดินหน้า “เกษตรปลอดเผา” ชูมหาสารคามต้นแบบเกษตรยั่งยืน
สยามคูโบต้า เดินหน้าโครงการ “เกษตรปลอดการเผา (Zero Burn)” ชูจังหวัดมหาสารคาม เป็นต้นแบบนำร่องการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

สยามคูโบต้า ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จังหวัดมหาสารคาม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ในจังหวัดมหาสารคาม มุ่งสร้าง “มหาสารคาม มหานครปลอดการเผา” เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5  สร้างรายได้เพิ่มหลังการเก็บเกี่ยวจากการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ภายใต้องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร สานต่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

นายวีรพงศ์ วิรบุตร์
นายวีรพงศ์ วิรบุตร์

นายวีรพงศ์ วิรบุตร์ ผู้จัดการภาคอีสานอาวุโส – แทรกเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัดเปิดเผยว่า “ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5” ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน สยามคูโบต้าในฐานะผู้นำด้านเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน ได้เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงดำเนินโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน”สยามคูโบต้า เดินหน้า “เกษตรปลอดเผา” ชูมหาสารคามต้นแบบเกษตรยั่งยืน

ในปีพ.ศ. 2562 สยามคูโบต้า ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชน จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้ง “โครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn)” โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรปลอดการเผา เพื่อลดมลพิษที่บางส่วนมาจากการเผาในที่โล่งจากภาคเกษตรกรรม ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว ใบอ้อย และใบข้าวโพด โดยนำนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (Machinery Solutions) และองค์ความรู้ด้านการเกษตร (Knowledge Solutions) ภายใต้องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจรมาประยุกต์ใช้เพื่อจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

โครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่ภาคการเกษตรของไทยกว่า 140 ล้านไร่ ให้ปลอดการเผา 100% ภายในปีพ.ศ. 2565 สยามคูโบต้าจึงมุ่งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการปลอดการเผาผ่านกิจกรรมรณรงค์และสัมมนาโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เชียงใหม่ และมหาสารคาม พร้อมทั้งลงพื้นที่ส่งเสริมการจัดตั้งจังหวัดปลอดการเผา ในพื้นที่เกษตรเป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ชัยนาท อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และมุกดาหาร โดยมีจังหวัดมหาสารคามและชัยนาทเป็นจังหวัดต้นแบบที่พร้อมนำร่องแนวคิดการทำเกษตรปลอดการเผาแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ   สยามคูโบต้า เดินหน้า “เกษตรปลอดเผา” ชูมหาสารคามต้นแบบเกษตรยั่งยืน

ในปีนี้ สยามคูโบต้าจึงเดินหน้าสานต่อโครงการฯ ดังกล่าว โดยการร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จังหวัดมหาสารคาม และผู้แทนจำหน่ายคูโบต้า มหาสารคาม เพื่อผลักดันให้เป็นจังหวัดต้นแบบนำร่องแห่งแรกในการขับเคลื่อนโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “มหาสารคาม มหานครปลอดการเผา” โดยได้รับเกียรติจาก ว่าที่ร้อยตรี กฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีวันนี้

“สยามคูโบต้าร่วมส่งเสริมองค์ความรู้และวิธีการทำการเกษตรปลอดการเผา  พร้อมหาช่องทางการตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดมหาสารคามจากการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยวางแผนสนับสนุนด้านเครื่องจักรกลการเกษตร ด้วยการมอบส่วนลดเครื่องอัดฟางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เกษตรเป้าหมาย” นายวีรพงศ์ กล่าวสยามคูโบต้า เดินหน้า “เกษตรปลอดเผา” ชูมหาสารคามต้นแบบเกษตรยั่งยืน

ด้าน นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ประธานในพิธี เปิดเผยว่า “หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จังหวัดมหาสารคาม พร้อมร่วมมือกับสยามคูโบต้า ผลักดันนโยบายงดการเผาในพื้นที่การเกษตรของภาครัฐผ่านโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn)  เพื่อแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในจังหวัดมหาสารคาม พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาการเผาทำลายหน้าดิน มุ่งสู่เป้าหมายในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรของจังหวัดมหาสารคามให้เป็น 0% ภายในปี 2565 พร้อมทั้งยังมุ่งสร้างรายได้เกษตรกรในจังหวัด ด้วยการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างยั่งยืน”สยามคูโบต้า เดินหน้า “เกษตรปลอดเผา” ชูมหาสารคามต้นแบบเกษตรยั่งยืน

สยามคูโบต้ามุ่งมั่นที่จะผลักดันให้แนวคิดการทำเกษตรปลอดการเผาเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ด้วยการขยายพื้นที่ความร่วมมือโครงการฯ ไปยังทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปปรับใช้และลงมือปฏิบัติจริงกับพื้นที่การเกษตรของตนเอง พร้อมส่งต่อความรู้ไปยังภาคการเกษตรทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated