ภาคเอกชนเด้งรับโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ ชี้ ฟางข้าว ซังข้าว ซังข้าวโพด และหญ้าเนเปียร์ เป็นวัตถุดิบสำคัญ คาดมีเม็ดเงินสะพัดเศรษฐกิจฐานรากมากถึง 3-4 แสนล้านบาท งานนี้ “น้าสน”ดันสุดตัวถือเป็นการให้ของขวัญที่มีคุณค่าให้กับชุมชนมีโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเอง ได้ส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟ และซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกร แถมเกิดการจ้างงานนับหมื่นอัตรา

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

โดยปี 2563 จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) แบ่งออกเป็น แบบ Quick win เป็นโครงการที่ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จเข้ามาร่วมโครงการ และแบบโครงการทั่วไปเปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป และอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป กำหนดปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดกระตุ้นเศรษฐกิจมากถึง 3-4 แสนล้านบาท

นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่ กพช. ได้อนุมัติโรงไฟฟ้าชุมชนในครั้งนี้ถือเป็นการมอบขวัญปีใหม่ที่มีคุณค่ามากให้กับเกษตรกร เพราะในปี 2563-2564 จะมีโรงไฟฟ้าชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นโดยมีชุมชนเจ้าของเป็นกิจการเอง และใช้วัตถุดิบจากวัสดุเหลือใช้จากเกษตรกรโดยตรง เช่น ฟางข้าว ซังข้าว ซังข้าวโพด และหญ้าเนเปียร์ นอกจากนี้ ชุมชนยังจะมีส่วนแบ่งรายได้จากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ น้ำเสียหรือของเสีย และก๊าซชีวภาพที่ได้จากพืชพลังงานอีกไม่กว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไฮบริดจะได้ส่วนแบ่งรายได้ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย

สน5

ทั้งนี้ การลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ทำให้มีเม็ดสะพัด 3-4 แสนล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าชุมชนขนาด 1 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุน 100 ล้านบาท เมื่อรัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนทั้งหมด 700 เมกะวัตต์ จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดถึง 70,000 ล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียน 4 เท่า หรือประมาณ 2.8 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จจะมีการซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าขนาด 1.5 เมกกะวัตต์จะซื้อวัตถุดิบอยู่ที่ปีละ 15 ล้านบาท เมื่อคูณจำนวนโรงไฟฟ้าชุมชน 700 แห่ง จะทำให้มีเงินกระจายสู่ชุมชนปีละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้าบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียน 4 เท่า หรือประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ตลอดระยะเวลา 20 ปี

ไม่เพียงเท่านี้ ยังทำให้เกิดการจ้างงานในโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง จำนวน 10-12 คน หรือเกิดการจ้างงานในโรงไฟฟ้าชุมชนทั้งระบบ รวมถึงตลอดซัพลายเชนด้วยประมาณ 1 หมื่นคนอย่างแน่นอน

“สิ่งสำคัญในพื้นที่ทางภาคเหนือ รวมถึงภาคอีสานมีการปลูกข้าวโพด อ้อย กันมาก จะเห็นว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ของทุกปีจะมีการเผาซังข้าวโพด เผาอ้อยกัน ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ถ้านำวัตถุดิบมาป้อนโรงไฟฟ้าชุมชนก็จะลดปัญหามลพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนปีละ 15 ล้านบาท มีเงินหมุนเวียนในระบบไม่ต้อง รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินตั้งกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท”

นายชัชพล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยูเอซีมีโครงการโรง 1.5 เมกะวัตต์ ใช้วัตถุดิบจากพืชพลังงาน ยังไม่ได้รับใบอนุญาต PPA เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายยกเลิกการสนับสนุน ซึ่งบริษัทเตรียมจะยื่นเข้าร่วมโครงการแบบ Quick win กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างแน่นอน

สน7

ด้านนายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER กล่าวว่า ถือว่าเป็นข่าวดีที่ กพช.ได้อนุมัติเกณฑ์ลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน 700 เมกะวัตต์ ขณะนี้บริษัทมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กใช้เชื้อเพลิงจากหญ้าเนเปียร์ จำนวน 1 โรงขนาด 4 เมกะวัตต์ ซึ่งจะยื่นเข้าสู่โครงการ Quick win จ่ายไฟฟ้าในปี 2563 โดยใช้วัตถุดิบจากหญ้าเนเปียร์ที่ปลูกไว้ 1,200 ไร่ และรับซื้อจากเกษตรกรอีกจำนวน 600 ไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายวัตถุดิบหญ้าเนเปียร์ ซึ่งเป็นสร้างรายได้ให้กับชุมชนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากด้วย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated