หนอนกระทู้โผล่แปลงข้าวโพดแนะปราบตามหลักวิชาการเอาอยู่
หนอนกระทู้โผล่แปลงข้าวโพดแนะปราบตามหลักวิชาการเอาอยู่

สายด่วนแจ้งหนอนกระทู้ fall armyworm รุกแปลงข้าวโพด กรมวิชาการเกษตรแนะกำจัดตามหลักวิชาการใช้ร่วมกันทั้งชีวภัณฑ์และสารเคมีชนิดและอัตราที่แนะนำ พ่นทุก 7 วันพร้อมสลับกลุ่มสาร เตือนอย่าใช้สารเคมีที่ไม่อยู่ในคำแนะนำ ยันไม่ได้ผลแถมระบาดเพิ่มขึ้น

หนอนกระทู้โผล่แปลงข้าวโพดแนะปราบตามหลักวิชาการเอาอยู่
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 ได้รับรายงานผ่านสายด่วนเฝ้าระวังหนอนกระทู้ fall armyworm ว่า พบการระบาดของหนอนกระทู้ fall armyworm ในแปลงปลูกข้าวโพดจังหวัด ตาก กำแพงเพชร อุทัยธานี พิษณุโลก และนครสวรรค์ โดยพบการระบาดของหนอนกระทู้ fall armyworm หลายระยะการเจริญเติบโตในแปลงเดียวกัน และเริ่มพบตัวเต็มวัยที่เพิ่งออกจากดักแด้ โดยหนอนกระทู้ fall armyworm จะเข้าทำลายข้าวโพดตั้งแต่ระยะเพิ่งงอกไปจนถึงข้าวโพดออกฝัก และถ้าเข้าทำลายข้าวโพดอายุ 1-15 วัน จะทำให้ต้นข้าวโพดตายทั้งแปลง หากไม่สามารถป้องกันกำจัดได้ทันท่วงทีเมื่อข้าวโพดอายุ 30 วันขึ้นไปหนอนที่เริ่มโตจะเข้าไปหลบอาศัยอยู่ในส่วนยอด หลังจากนั้นหนอนจะย้ายเข้าไปอาศัยในดอกตัวผู้และฝักทำให้ยากต่อการป้องกันกำจัด หากพบระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหาย 73 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของหนอนกระทู้ fall armyworm ที่สำรวจพบสามารถควบคุมได้หากปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร โดยเกษตรกรที่พบการระบาดของหนอนกระทู้ fall armyworm เกือบทั้งหมดที่ใช้วิธีการกำจัดตามคำแนะนำสามารถควบคุมการระบาดของหนอนกระทู้ fall armyworm ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือมีเกษตรกรที่ใช้สารฆ่าแมลงชนิดอื่นๆ ที่ไม่ได้แนะนำ รวมทั้งยังพ่นสารไม่ถูกช่วงเวลาที่หนอนออกจากที่หลบซ่อน ทำให้การกำจัดไม่ได้ผลและเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้น

หนอนกระทู้โผล่แปลงข้าวโพดแนะปราบตามหลักวิชาการเอาอยู่
หนอนกระทู้ fall armyworm

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า วิธีการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ fall armyworm ที่ได้ผลตามหลักวิชาการ คือ หากพบหนอนขนาดเล็กให้เก็บหนอนทำลายทิ้ง และใช้ชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อ BT สายพันธุ์ไอซาไว หรือ สายพันธุ์เคอร์สตากี้ ชนิดผง อัตรา 40-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4-7 วัน เมื่อพบการระบาด หากพบไข่ให้ทำลายโดยเก็บกลุ่มไข่ทำลายทิ้งและใช้แมลงหางหนีบ ส่วนตัวเต็มวัยให้ทำลายโดยใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 80 กับดัก/ไร่ สำหรับหนอนขนาดใหญ่ให้ทำลายโดยใช้แมลงตัวห้ำ ได้แก่ แมลงหางหนีบหรือมวนพิฆาต และในกรณีที่ใช้เคมีให้ใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่

1.สารสไปนีโทแรม (spinetoram) 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

2.สารคลอแรนทรานิลิโพรล (chlorantraniliprole) 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สารฟลูเบนไดอะไมด์ (flubendiamide) 20% WG อัตรา 6 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

3.สารคลอร์ฟีนาเพอร์ (chlorfenapyr) 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

4.สารอินดอกซาคาร์บ (indoxacarb) 15% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

ทั้งนี้ ให้พ่นสารฆ่าแมลงทุก 7 วัน ติดต่อกัน 2-4 ครั้ง และต้องสลับกลุ่มสารทุก 30 วัน เพื่อลดความต้านทานสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช

หนอนกระทู้โผล่แปลงข้าวโพดแนะปราบตามหลักวิชาการเอาอยู่

“กรมวิชาการเกษตรมีคำแนะนำการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ fall armyworm ซึ่งสามารถกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการระบาดของหนอน fall armyworm จึงไม่น่ากังวลแต่อย่างใด สิ่งที่เป็นห่วงคือเกษตรกรใช้วิธีการป้องกันกำจัดไม่ถูกวิธีทำให้การระบาดเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีมาใช้แล้วไม่ได้ผล ดังนั้นหากพบการระบาดของหนอน fall armyworm ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร หรือหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนหนอนกระทู้ fall armyworm โทร. 06-1415-2517” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated