เกษตรฯ เร่งสกัดโรคระบาดใบด่างลามเข้าประเทศ วางมาตรการปิดเส้นทางระบาดทุกจุด
เกษตรฯ เร่งสกัดโรคระบาดใบด่างลามเข้าประเทศ วางมาตรการปิดเส้นทางระบาดทุกจุด

โรคใบด่างมันสำปะหลังจ่อระบาดไทย หวั่นทำลายเศรษฐกิจของประเทศ กรมวิชาการเกษตรงัดมาตรการฉุกเฉินสั่งทำลายแปลงต้องสงสัยอาการคล้ายใบด่าง ขุดรากถอนโคนฝังกลบ 68 ไร่ ใน 2 จังหวัด พร้อมระดมเจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่เสี่ยงโรคระบาด 6 จังหวัดชายแดนไทย กัมพูชา กำชับด่านเข้มงวดตรวจนำเข้าหัวมันสดและมันเส้นเข้มข้น

ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์
ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์

ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับการแจ้งเตือนจากสถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยสินค้าเกษตรเขตร้อน (CIAT) เกี่ยวกับพบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในจังหวัดรัตนะคีรี  ในขณะที่สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แจ้งว่าพบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังกระจายเป็นบริเวณกว้างในแปลงปลูกมันสำปะหลังในเขตพื้นที่อำเภอตะเบียงปราสาท จังหวัดอุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งใกล้กับชายแดนไทยจุดผ่านแดนถาวรด่านช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 40 กิโลเมตร

เกษตรฯ เร่งสกัดโรคระบาดใบด่างลามเข้าประเทศ วางมาตรการปิดเส้นทางระบาดทุกจุด

ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันโรคใบด่างมันสำปะหลังไม่ให้เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย จึงได้สั่งการให้ด่านตรวจพืชตามแนวชายแดนเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบการนำเข้ามันสำปะหลังบริเวณชายแดนไทย กัมพูชา พร้อมกับจัดทำมาตรการด้านวิชาการ ด้านกฎหมาย และแผนปฏิบัติการฉุกเฉินเตรียมไว้ในกรณีหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังขึ้นในประเทศไทย โดยได้จัดประชุมชี้แจงกับผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ หัวหน้าด่านศุลกากร หัวหน้าด่านตรวจพืช นักวิชาการเกษตร ผู้นำชุมชน เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย มูลนิธิมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย และสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ให้ร่วมกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วย

การทำลายแปลงมันสำปะหลัง
การทำลายแปลงมันสำปะหลัง

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงระหว่างปี 2558 – 2560 จากผลการดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศจำนวน 50 จังหวัดอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ไม่พบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยแต่อย่างใด แต่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 เจ้าหน้าที่ได้สำรวจพบต้นมันสำปะหลังแสดงอาการใบด่างต้องสงสัยในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ของเกษตรกร ในอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และ อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 8 ราย พื้นที่ 68 ไร่ ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับขบวนการผลิตมันสำปะหลังของประเทศไทย กรมวิชาการเกษตรจึงได้ดำเนินการทำลายแปลงมันสำปะหลังที่พบอาการต้องสงสัยทั้งหมดตามแผนปฏิบัติการฉุกเฉินที่กำหนดไว้ทันที โดยการ ถอน และขุดหลุมฝังต้นมันสำปะหลังโดยราดด้วยสารกำจัดวัชพืชก่อนฝังกลบ

อาการใบด่างต้องสงสัย
อาการใบด่างต้องสงสัย

โรคใบด่างมันสำปะหลังเป็นโรคที่มีความสำคัญทำให้ผลผลิตเสียหาย 80-100 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ และสามารถเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเชื้อไวรัสสาเหตุโรคใบด่างสามารถติดมากับท่อนพันธุ์และมีแมลงหวี่ขาวยาสูบ เป็นแมลงพาหะจึงทำให้มีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสนี้จะแพร่เข้ามาในประเทศไทยได้ จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชร้ายแรงเข้ามาระบาดทำความเสียหายให้กับผลผลิตของเกษตรกรและอาจส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated