นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่สำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลัง

กรมวิชาการเกษตร เตือน โรคพุ่มแจ้ ระบาดแปลงปลูกมันสำปะหลัง พบระบาดระยองและจันทบุรีมากสุด แนะเกษตรกรหมั่นสำรวจแปลง หากพบให้เผาทำลาย ย้ำช่วยสร้างภูมิต้านทานและป้องกันการระบาดโรคได้ต้องให้ปุ๋ยน้ำและปรับปรุงดินอย่างพอเพียง พร้อมใช้ท่อนพันธุ์จากต้นพันธุ์แปลงปลอดโรค

 "โรคพุ่มแจ้" ระบาดแปลงปลูกมันสำปะหลัง
“โรคพุ่มแจ้” ระบาดแปลงปลูกมันสำปะหลัง

นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้กรมวิชาการเกษตรได้ลงพื้นที่สำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรจำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี  ระยอง จันทบุรี  ปราจีนบุรี สระแก้ว นครราชสีมา บุรีรัมย์ และกาฬสินธุ์ พบอาการแตกพุ่มแจ้ ระบาดในแปลงมันสำปะหลังมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ โดยพบมากที่สุดที่ จ.ระยอง และจันทบุรี สาเหตุเกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา  โดยอาการของโรคพุ่มแจ้ มีผลทำให้ส่วนยอดของต้นมันสำปะหลังแคระแกรน พืชแตกตาข้างมาก ใบเล็กลดรูป  ข้อถี่สั้น ใบมีอาการเหลือง ท่อน้ำท่ออาหารเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ผลผลิตหัวมันลดลง ทั้งขนาดและจำนวนของหัวมันต่อต้น โดยหัวมันที่เป็นโรคจะมีน้ำหนักเบา   

ต้นมันสำปะหลัง
ต้นมันสำปะหลัง

โรคพุ่มแจ้แพร่ระบาดโดยท่อนพันธุ์และแมลงพาหะ ดังนั้นแนะนำให้เกษตรกรสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ  เนื่องจากเป็นเชื้อสามารถเข้าทำลายต้นมันสำปะหลังได้ทุกฤดูกาลเมื่อต้นอ่อนแอ หากพบโรคพุ่มแจ้ให้กำจัดต้นที่เป็นโรคด้วยการเผาทำลาย และกำจัดวัชพืชในแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการระบาดและจำกัดพื้นที่การระบาดของโรคพุ่มแจ้ไม่ให้ขยายวงกว้าง บำรุงดูแลต้นมันสำปะหลังให้เติบโตสมบูรณ์แข็งแรง โดยให้ปุ๋ย น้ำ และปรับปรุงดินอย่างพอเพียง จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานต่อการเกิดโรค และเพื่อป้องกันการระบาดของโรคควรใช้ท่อนพันธุ์จากต้นพันธุ์แปลงที่ปลอดโรคหรือแปลงพันธุ์สะอาด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2579-9588

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated