จ่อคิวประกาศมาตรฐาน “เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์”
เสริมแกร่งการค้า-ส่งออก ประกาศมาตรฐานสินค้า “เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์” เป็นเกณฑ์กำหนดคุณภาพ

เกษตรฯ จ่อคิวประกาศมาตรฐานสินค้า “เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์” เป็นเกณฑ์กำหนดคุณภาพสำหรับซื้อขายปกป้องเกษตรกร ชี้พื้นที่ทุ่งหญ้าสาธารณะลด แถมปัญหาอาหารสัตว์ขาดแคลนช่วงฤดูแล้ง แนวโน้มธุรกิจจำหน่ายอาหารสัตว์เติบโต เสริมแกร่งการค้า-ส่งออก

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการขยายตัวของการผลิตโคเนื้อ โคนม กระบือ แพะ แกะ และม้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทุ่งหญ้าสาธารณะลดน้อยลงมาก และมักเกิดปัญหาพืชอาหารสัตว์ชนิดหยาบโดยเฉพาะหญ้าคุณภาพขาดแคลนในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ธุรกิจจำหน่ายพืชอาหารสัตว์ชนิดหยาบมีความสำคัญและมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น จากปัญหาการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ดังกล่าว ทำให้เกษตรกรต้องมีการเพาะปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกหญ้า/พืชอาหารสัตว์ รวมกว่า 6.24 แสนไร่ เกษตรกร ประมาณ 21,000 ครัวเรือน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปลูกหญ้าอาหารสัตว์เพื่อใช้เองภายในฟาร์มและผลิตเพื่อจำหน่ายด้วย

 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีเกณฑ์กำหนดและชั้นคุณภาพที่เหมาะสมในการซื้อขายเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ชนิดอาหารหยาบที่ได้มาตรฐาน และเป็นการปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ซื้อเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ไปใช้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ มกอช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ ขึ้น
เพื่อเป็นแนวทางยกระดับการผลิตเมล็ดพันธุ์หญ้า/พืชอาหารสัตว์ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และตรงตามความต้องการของผู้ใช้เพิ่มขึ้น

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

นางสาวเสริมสุขกล่าวด้วยว่า ร่างมาตรฐานฯ เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์นี้ มีเนื้อหาครอบคลุมพันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่ผลิตเป็นการค้าทั้งพืชตระกูลหญ้าและพืชตระกูลถั่ว ที่ใช้ปลูกเพื่อเป็นอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น หญ้าอะทราทัม หญ้าพลิแคทูลัม หญ้ากินี หญ้ารูซี่ หญ้ามูลาโต ถั่วฮามาตา ถั่วสไตโล ถั่วคาวาลเคด และกระถิน เป็นต้น โดยมีสาระสำคัญ อาทิ ข้อกำหนดคุณภาพขั้นต่ำ การแบ่งชั้นเมล็ดพันธุ์เป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นพันธุ์หลัก ชั้นพันธุ์ขยาย และชั้นพันธุ์จำหน่าย ซึ่งต้องมีลักษณะตรงตามพันธุ์และมีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งด้านความชื้นของเมล็ดพันธุ์ ความบริสุทธิ์ เปอร์เซ็นต์ความงอก และมีเมล็ดพันธุ์พืชอื่นปนได้ไม่เกินที่กำหนดด้วย

“นอกจากนั้น ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการบรรจุหีบห่อ การแสดงฉลากและเครื่องหมาย เช่น การแสดงฉลากบนบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการแสดงเครื่องรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ การขนย้าย วิธีวิเคราะห์และการชักตัวอย่างมาทดสอบคุณภาพ เป็นต้น ขณะนี้ มกอช. อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงร่างมาตรฐานฯ ดังกล่าวให้ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ และอยู่ในแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ก่อนเสนอให้คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรพิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้เป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป เบื้องต้นคาดว่า จะประกาศใช้มาตรฐานเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ได้ ภายในปี 2561 นี้” เลขาธิการ มกอช. กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำและประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรเกี่ยวกับอาหารสัตว์แล้ว 5  เรื่อง ได้แก่ มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีในการผลิตและการให้อาหารสัตว์ (มกษ.9017-2550) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับหญ้าแพงโกลา (มกษ.8900-2554) หญ้าแพงโกลาสด (มกษ.8800-2554) หญ้าแพงโกลาแห้ง (มกษ.8801-2555) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหารสัตว์ (มกษ.8901-2556) หากมีการประกาศใช้มาตรฐานฯ เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ของประเทศ คาดว่า จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเสริมขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของไทยสามารถแข่งขันได้ตลาดโลก และเป็นจุดแข็งที่จะช่วยผลักดันการส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นในอนาคต ที่สำคัญยังช่วยเสริมแกร่งให้กับภาคปศุสัตว์ของไทยด้วย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated