"ปูนากำแพง" เกิดที่พิจิตร ดังที่สิงห์บุรี ส่งขายหลายร้อยกิโลต่อเดือน

เรื่อง/ภาพ : ดินดี นิตยสารไม่ลองไม่รู้

หลายคนได้ยินดังนี้เป็นต้องออกอาการสงสัยไฉนได้ชื่อว่าเป็นปูนา พันธุ์กำแพง แต่ดันไปแจ้งเกิดอยู่ที่ จ.สิงห์บุรี เรื่องนี้คงต้องให้ คุณตูมตาม-ปานศิริ ปาดกุล เกษตรกรซุปตาร์หน้าคุ้นที่ในยามนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเขาครบเครื่องเรื่องปูนาบ่อดิน&บ่อปูน แถมยังสามารถผสมพันธุ์ปูนาได้ปีละ 3 ครั้งทำให้มีผลผลิตส่งขายได้ทั้งปูสด ปูดอง ก้ามปู กะปิมันปู น้ำพริกเผาปู ปูนิ่ม ฯลฯ ส่งขายไปทั่วทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนหลายร้อยกิโลกรัมต่อเดือน

คุณตูมตาม-ปานศิริ ปาดกุล
คุณตูมตาม-ปานศิริ ปาดกุล

ด้วยวัยเพียง 25 ปี แต่เกษตรกรรุ่นใหม่อย่างคุณตูมตาม กลับกลายเป็นหนึ่งในผู้ปลุกกระแสการเลี้ยงปูนา ปูสามัญประจำถิ่นที่ใครหลายคนมองข้ามแม้จะถามหาเป็นอาหารจานเด็ดที่มาบริโภคกันเกือบทุกวัน โดยคุณตูมตามบอกว่าปูนาที่เห็นกันอยู่ทุกวันตอนนี้ใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากนาจริงๆ แล้ว ที่เห็นเป็นปูดองอยู่ในครกส้มตำส่วนใหญ่นั้นคือปูแสม ซึ่งถ้าหากแบ่งชนิดของปูนาคร่าวๆ ตอนนี้ที่นิยมก็มีอยู่ 2 พันธุ์ พันธุ์แรกเป็นปูนาพื้นบ้าน ลักษณะจะตัวเล็ก กระดองบาง เนื้อน้อย นิยมเอามาทำปูดอง แต่สำหรับปูพันธุ์กำแพงที่ตนเลือกเลี้ยงนั้นจะตัวใหญ่ กระดองหนา มีเนื้อและมันเยอะ ขายสดได้ราคาหรือจะเอามาแปรรูปก็ทำได้หลายอย่าง ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดมาก

สำหรับปูนาพันธุ์กำแพงเป็นปูที่อยู่แถวจังหวัดพิจิตร ซึ่งถือว่ายังมีอยู่เยอะในธรรมชาติ มีลักษณะตัวใหญ่ แต่ข้อเสียคือไม่ทน ตายง่าย “แรกๆ ผมให้ชาวบ้านไปหาปูนาธรรมชาติมาขายให้ผมเพื่อจะนำมาทดลองเลี้ยง พอเลี้ยงไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าตัวไม่ใหญ่ ทั้งที่ปูนาขายได้ทั้งก้าม ปูนิ่ม ปูจ๋า ปูดองก็ขายได้ แต่ตัวที่เลี้ยงกลับเล็ก ไม่ใหญ่เหมือนเขาขาย และถ้าปูเล็กจะได้กำไรหรือเปล่า เลยตระเวนหาปูจนได้เจอที่พิจิตร ญาติแนะนำว่าตอนนี้ปูนามีเยอะมากไปจับตามธรรมชาติมา ผมก็เลยขอซื้อมาเลี้ยง ปรากฏว่าปูนาตัวใหญ่มากตัวละประมาณ 1 ½ – 2 ขีด และจากการศึกษาเลยทำให้ทราบว่าปูนามีหลายสายพันธุ์และสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการคือปูนาสายพันธุ์กำแพง เนื่องจากมีขนาดใหญ่เพราะอาหารสมบูรณ์ ดินที่อยู่เป็นธรรมชาติ แถวนั้นจะปลูกข้าวหอมมะลิปีละครั้งโดยไม่ใช้สารเคมีมาก ทำให้ปูนาที่นั่นอุดมสมบูรณ์ ตัวโต ไม่แกร็นครับ”

ปูนาพันธุ์กำแพง
ใส่หยวกกล้วยช่วยสมานแผลและเป็นอาหารปู

ปัจจุบันคุณตูมตามจึงเลี้ยงทั้งปูนาที่จับได้ตามธรรมชาติแถวจังหวัดของตนเอง และเลี้ยงปูนาพันธุ์กำแพงที่ได้มาจากจังหวัดพิจิตรด้วย ส่วนวิธีการเลี้ยงปูนา ปัจจัยที่สำคัญคือที่อยู่อาศัย เพราะธรรมชาติปูนาจะอยู่ในนาข้าว เมื่อจับมาเลี้ยงต้องสร้างบ่อที่เหมาะกับเขา ซึ่งคุณตูมตามบอกว่า บ่อของปูนานั้นมีทั้งที่เลี้ยงในบ่อดินและบ่อปูน ซึ่งถ้าพอมีพื้นที่ควรมีบ่อทั้ง 2 แบบ เพื่อความเหมาะสมของปูนาที่อายุต่างกัน อย่างเช่นที่ฟาร์มของเจ้าตัวเลี้ยงปูนาไว้ประมาณ 40 บ่อ เป็นทั้งบ่อดินและบ่อปูน ขนาดบ่อ 2×4 เมตร และ 5×6 เมตร

โดย การเลี้ยง เมื่อได้ปูนาพ่อแม่พันธุ์มาแล้ว ให้นำมาปล่อยลงในบ่อได้เลยประมาณ 50-70 คู่/บ่อขนาดบ่อ 2×3 เมตร หรือประมาณ 100-140 ตัว (ถ้าเป็นลูกปูนาอนุบาลในวงบ่อซีเมนต์ขนาด 2×2 เมตร เลี้ยงได้ประมาณ 10 แม่  [1,000 ตัว ต่อ 1 แม่] หรือประมาณ 10,000 ตัว) และแนะนำว่าให้เลี้ยงในบ่อดิน เพื่อให้ปูปรับตัวให้ชินกับสภาพอากาศและพื้นที่ลดอัตราการตายได้ พอเลี้ยงจนปูนาเริ่มกินอาหารประมาณ 3-5 วัน จึงค่อยย้ายไปอยู่บ่อปูน

ปูนาพันธุ์กำแพง
ปูนาพันธุ์กำแพง

ทั้งนี้บ่อเลี้ยงปูนาสามารถทำได้หลายขนาด ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่มี และเป้าหมายในการเลี้ยง ที่นี่จะแบ่งบ่อไว้สำหรับพ่อแม่พันธุ์ บ่ออนุบาล ซึ่งสำหรับบ่อปูนใหม่ก่อนนำปูนาลงเลี้ยงให้สับต้นกล้วย 1-2 ต้น ใส่ลงไปในบ่อแช่น้ำไว้ (น้ำประปาก็ได้) ประมาณ 7 วัน แล้วจึงปล่อยน้ำออกเพื่อลดค่าความเป็นกรดเป็นด่าง หรือเพิ่มปูนขาวเล็กน้อย ส่วนบ่อดินจะง่ายกว่า ไม่ต้องทำอะไรมากแค่สังเกตให้ดินเหนียว ไม่แห้งแข็ง สีของดินเป็นสีเข้ม ดำ แสดงว่ามีธาตุอาหารเยอะแต่ถ้าดินเป็นสีแดงแสดงว่าขาดธาตุอาหาร ไนโตรเจน โพแทสเซียมไม่ค่อยมี ปูนาจะชอบดินเหนียวสีดำ

ลักษณะการทำบ่อดินสำหรับมือใหม่งบน้อยเพิ่งเริ่มทำ จะทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม หรือวงกลมได้หมดแล้วแต่ความชอบ ขนาดแล้วแต่พื้นที่ โดยให้ขุดคูตรงกลางบ่อแล้วนำผ้าซาแรนสีดำ หรือผ้าใบสีดำวางลงไปในบ่อ จากนั้นนำอิฐบล็อกก่อบ้านมาวางทับก่อสูงขึ้นมา 3 ก้อน ฉาบข้างในขัดมันด้านนอกไม่ต้องฉาบ แล้วค่อยเอาน้ำใส่ลงไป ตามด้วยผักปอด จอก แหน เลียนแบบธรรมชาติ ปูนาจะลงไปเล่นน้ำฟอกอากาศ

กะปิมันปู
กะปิมันปู

ส่วนลักษณะบ่อปูนเมื่อก่อปูนเสร็จแล้ว ให้เอาดินใส่ลงไปวางเอียง 45-50 องศาเซลเซียส และด้านที่เป็นปูนล้วนๆ ให้ใส่น้ำลงไปประมาณ 10 เซนติเมตร ซึ่งปูนาจะลงไปเล่นน้ำได้และขึ้นมาอยู่บนดินได้ด้วย ขอบด้านข้างให้ขัดมันเพื่อไม่ให้ปูนาปีนขึ้นมา แต่โดยธรรมชาติถ้าซื้อปูนาเลี้ยงมาขยายพันธุ์ ปูนาจะไม่ปีนหนีเพราะชินกับการให้อาหารของคนเลี้ยง จะหาอาหารเองไม่เป็น

ดังนั้น การให้อาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์ ปูโตที่นี่จะให้อาหารวันละ 2 มื้อ ช่วงเช้ามืดไม่ต้องมากและให้ช่วงมืดอีกครั้ง เป็นอาหารปลาดุกหรืออาหารลูกอ๊อด (ไฮเกรด) เม็ดเล็กโปรตีน 32 ให้ตามพื้นดินวางไว้ตามจุดเดิมทุกวัน 2-3 จุด เมื่ออาหารเม็ดโดนน้ำและดินก็จะละลาย ตกกลางคืนและช่วงเช้ามืดปูนาก็จะออกมากินกันอย่างเพลิดเพลิน ถ้ามีเวลาจะเพิ่มอาหารเสริม เช่น รำผสมกับอาหารที่ให้ประจำ หรือรำผสมกับต้นกล้วยสับก็ได้เช่นกัน ส่วนลูกปูเบบี้ (ลูกปูนาลงเดิน) ให้อาหารวันละ 1 มื้อ ในช่วงเช้าจะให้กินไข่ (เป็ด) แดงต้ม วางตามจุดแล้วใส่น้ำซาวข้าวลงไปในบ่อเล็กน้อย เพื่อให้ลูกปูได้สารอาหารโตเร็วขึ้น หลังจากนั้น 3 เดือน ให้เปลี่ยนมากินอาหารปลาดุกเม็ด

ปูดอง หรือปูแช่น้ำปลา
ปูดอง หรือปูแช่น้ำปลา

ทางด้านเทคนิคการเลี้ยงที่สำคัญซึ่งจะทำให้ปูออกลูกได้ปีละ 3 ครั้ง มีผลผลิตขายไม่ขาดมือ คุณตูมตาม แนะนำว่า “ปกติปูนาจะออกลูกปีละ 1 ครั้ง คือช่วงฤดูฝน ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน แต่ผมทำให้ออกได้ปีละ 2-3 ครั้ง คือหลังจากปูนาออกลูกไปแล้วในช่วงฤดูฝน ให้ปล่อยดินให้แห้งแตกระแหงเหมือนปูนาจะใกล้ตาย ประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นให้ฉีดน้ำเข้าไปเต็มที่ ทำให้ปูนาคิดว่าเข้าฤดูฝนอีกครั้งก็จะออกมาผสมพันธุ์กันเองครับ”

 โดยปัจจุบันแม้อาชีพการเพาะเลี้ยงปูนาดูจะเป็นอาชีพที่กระแสแรง จนทำให้หลายคนอดหวั่นใจไม่ได้ว่าจะแรงดีไม่มีตก หรือจะแรงหมดตอนปลาย จนทำให้หลายๆ ยังไม่กล้าแหย่ขาเข้ามาทดลอง ซึ่งในมุมมองของคุณตูมตาม บอกว่า “อาชีพนี้สามารถเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้แน่นอน เพราะไม่เพียงแต่กระแสความนิยมที่มาแรงแต่ในส่วนของยอดสั่งซื้อก็มาแรงอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะล่าสุดมีพ่อค้าคนกลางมาติดต่อผมให้ส่งปูนาให้ 200-300 กิโลกรัม ทุกอาทิตย์เพื่อเขาจะนำไปอัดกระป๋องส่งเกาหลี และยังมีตลาดในประเทศอย่าง ตลาดไท สี่มุมเมือง ตลาดท้องถิ่น ที่เขายังต้องการผลผลิตปูนากันอยู่ทุกวัน เพราะฉะนั้นอยากให้คนที่กำลังตัดสินใจเข้ามาลองทำซึ่งผมเองก็ยังอยากมีเพื่อนร่วมอาชีพมาช่วยกันทำผลผลิตเพื่อให้เราส่งออกปูนาไปขายต่างประเทศกันได้เยอะๆ”

ย่างปูนากำแพง เตรียมพร้อมทำน้ำพริก
ย่างปูนากำแพง เตรียมพร้อมทำน้ำพริก

โดยปัจจุบันคุณตูมตามจำหน่ายปูนาหลายรูปแบบ ทั้งพ่อแม่พันธุ์ปูนาพันธุ์กำแพงคู่ละ100 บาท ก้ามปูกิโลกรัมละ 1,000 บาท (ประมาณ 50 ตัว/กิโลกรัม) ปูนิ่ม กิโลกรัมละ 1,200 บาท (ประมาณ 5-8 ตัว/กิโลกรัม) ปูนาพันธุ์เล็กกิโลกรัมละ 80 บาท มีพ่อค้ามารับที่หน้าฟาร์ม นอกจากนี้เจ้าตัวยังแปรรูปปูนาเพิ่มมูลค่าเป็น ปูดอง และปูแช่น้ำปลา ตัวละ 5 บาท กะปิมันปู และน้ำพริกปูนาสูตรเด็ดของคุณแม่ (แม่ฉลวย ปาดกุล) กระปุกละ 60 บาท เอาไว้ให้เลือกซื้อเป็นของฝากอีกด้วย

ท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “คุณปานศิริ ปาดกุล” เลขที่ 71/2 หมู่ 3 ตำบลโพทะเล อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี 16150 โทร.08 5420 3813

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated