ไทย-ญี่ปุ่น
ไทย-ญี่ปุ่น ลงนามแถลงการณ์ร่วมผนึกกำลังต้านประมงไอยูยู

พลเอกฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือและการลงนามในแถลงการณ์ร่วมในการต่อต้านการทำประมงไอยูยู กับนายยูจิ ยามาโมโต้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น  (H.E. Mr. Yuji YAMAMOTO, Minister of Agriculture, Forestry and Fisheries: MAFF) ณ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น ว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของสองประเทศที่จะร่วมกันต่อต้านกิจกรรมการทำการประมงไอยูยู และมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันในการส่งเสริมการอนุรักษ์และการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไอยูยูระหว่างกัน ภายใต้กลไกของทั้งสองประเทศ ตามวิธีการต่าง ๆ ขององค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวัง ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อการต่อต้านการประมงไอยูยู ร่วมมือกันในการปฏิบัติตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSM) กฎระเบียบของ องค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค หรือ RFMOs ที่ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิก หรือเป็นประเทศที่เข้าร่วม รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อการต่อต้านการประมงผิดกฎหมายระหว่างกัน อาทิ เอกสารการจับสัตว์น้ำ การตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ประมง ที่จะต้องทำงานร่วมกับประเทศที่เป็นตลาดสินค้าประมงที่ทำการประมงร่วมกันโดยตรง หรือกลุ่มประเทศที่สามที่รับวัตถุดิบสินค้าประมงไปแปรรูป เพื่อให้การค้าสินค้าประมงที่เกิดจากการประมงที่ถูกกฎหมายครบทั้งระบบ และที่สำคัญยังเป็นการแสดงถึงบทบาทของไทยในการเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาประมงอยู่ในระดับนานาชาติด้วย

พลเอกฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รลงนามในแถลงการณ์ร่วมในการต่อต้านการทำประมงไอยูยู กับนายยูจิ ยามาโมโต้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รลงนามในแถลงการณ์ร่วมในการต่อต้านการทำประมงไอยูยู กับนายยูจิ ยามาโมโต้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น

“ญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสินค้าประมงที่สำคัญของไทย โดยในไตรมาสแรกของปี 2560 มีสัดส่วนร้อยละ 21.37 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงทั้งหมด มีปริมาณ 50,818.70 ตัน มูลค่า 10,843.31 ล้านบาท โดยสินค้าประมงที่มีการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นที่สำคัญ คือ กุ้งปรุงแต่ง เนื้อปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ขณะที่มีการนำเข้าสินค้าประมงจากญี่ปุ่นมายังไทยปริมาณ 10,613.67 ตัน มูลค่า 749.09 ล้านบาท” พลเอกฉัตรชัย กล่าว

นอกจาก ความร่วมมือด้านประมงแล้ว กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น ยินดีที่จะสนับสนุนการดำเนินการภายใต้กรอบ High Level Cooperation Dialogue และการประชุมคณะอนุกรรมการ และคณะอนุกรรมการพิเศษ ภายใต้กรอบ เจ-เทป-ป้า ร่วมกันต่อไป ซึ่งกระทรวงเกษตรฯไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ปลายเดือน ก.ค.นี้ เพื่อหารือโครงการความร่วมมือด้านการเกษตร ชลประทาน หม่อนไหม และข้าว การโอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การกักกันพืช ความร่วมมือด้านสหกรณ์ และสร้างเครือข่ายด้านสหกรณ์ของสองประเทศ ซึ่งจะทำให้การดำเนินความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างสองฝ่ายมีความก้าวหน้าขึ้น รวมถึงได้ถือโอกาสเชิญรัฐมนตรีเกษตรฯ ญี่ปุ่นเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเกษตร ประมง และป่าไม้อาเซียนซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมช่วงปลายเดือน กย.นี้ที่ จ.เชียงใหม่อีกด้วย

พลเอกฉัตรชัย  สาริกัลยะ กับนายยูจิ ยามาโมโต้ หารือัฒนาขีดความสามารถด้านการเกษตรของสองประเทศ
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ กับนายยูจิ ยามาโมโต้ หารือัฒนาขีดความสามารถด้านการเกษตรของสองประเทศ

สำหรับสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรไทย-ญี่ปุ่นช่วงปี 2557-2559 พบว่า มีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 147,426 ล้านบาทต่อปี อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.65 ต่อปี มูลค่าส่งออกของไทยเฉลี่ย 137,860 ล้านบาทต่อปี ขณะที่มูลค่านำเข้าของไทยเฉลี่ย 9,566 ล้านบาทต่อปี โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า โดยตลอดเฉลี่ย 128,294 ล้านบาทต่อปี สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2559 พบว่า ไทยเกินดุลการค้า 33,765 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจาก 31,047 ล้านบาทในปี 2558) โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ไทยเกินดุล คือ อาหารปรุงแต่ง 17,203 ล้านบาท ปลาและสัตว์น้ำ 3,243 ล้านบาท อาหารสัตว์ 2,568 ล้านบาท และเนื้อสัตว์ 2,477 ล้านบาท ขณะที่ไทยนำเข้า 2,215 ล้านบาท  โดยกลุ่มสินค้าสำคัญ คือ ปลาและสัตว์น้ำ ซอส/เครื่องปรุง เป็นต้น

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated