ทุเรียนของประเทศไทยเป็นที่นิยมและต้องการของผู้บริโภค ได้แก่ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว เป็นต้น จากข้อมูลในปี 2557 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนประมาณ 0.65 ล้านไร่ ให้ผลผลิต ประมาณ 0.63 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทั้งคุณภาพและความอร่อยของแต่ละพันธุ์เป็นเอกลักษณ์และมีความจำเพาะกว่าทุเรียนที่ผลิตในประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ เพราะพันธุ์ทุเรียนที่ปลูกในประเทศไทยมีการพัฒนาการมาอย่างยาวนาน ทั้งการรวบรวมพันธุกรรม การคัดเลือกพันธุ์ การปรับปรุงพันธุ์ การขยายพันธุ์ การใช้เทคโนโลยี การจัดการสวนผลไม้ รวมทั้งคุณภาพของทุเรียนเพื่อการส่งออก จากปริมาณความต้องการทุเรียนที่มีมาก จึงทำให้เกิดปัญหาในเรื่องคุณภาพของทุเรียนที่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ดังที่เป็นข่าวในโลกโซเซียลถึงคุณภาพของทุเรียนเพื่อการส่งออกไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดภาพลักษณ์ของสินค้าการเกษตรของไทยที่ส่งออก มีผลกระทบโดยตรงในภาพรวมของประเทศ

ในการปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการทุเรียนของไทยให้ได้มาตรฐานและคงคุณภาพส่งออกตามความต้องการของผู้บริโภค โดยย้อนดูเส้นทางการจัดการทุเรียนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง คือ การปลูก การดูแลรักษา พื้นที่ปลูก เทคโนโลยีการผลิตและการเก็บเกี่ยวที่ทันสมัย เพื่อให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพ จนถึงการคัดเกรดคุณภาพสินค้าในการส่งออกในทุกขั้นตอน โดยข้อมูลที่ได้จากการเสวนา ทางมหาวิทยาลัยฯ จะดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็น แนวทางการแก้ปัญหา คุณภาพทุเรียนส่งออกของไทย ในประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เป็นประโยชน์และเสนอผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะจัดเสวนาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี  โดยระดมนักวิชาการในการให้ข้อมูลด้านวิชาการให้กับผู้ปลูก ผู้ค้า ผู้ส่งออก ได้นำข้อมูลไปใช้ในการแก้ไขปัญหาคุณภาพทุเรียนไทยเพื่อการส่งออก รวมทั้งนำเทคโนโลยีในการผลิตและเก็บเกี่ยวทุเรียนที่ทันสมัยไปประยุกต์ใช้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้ยั่งยืน

กำหนดการเสวนา

เวลา 13.00 น.     ลงทะเบียน

เวลา 13.45 น.    การเสวนา เรื่อง “คุณภาพทุเรียนไทย จะไปถึง 4.0 หรือ อยู่ที่ 0.4”

  • การผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออกอย่างยั่งยืน โดย คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร
  • การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเก็บรักษาและส่งเสริมคุณภาพทุเรียนเพื่อการส่งออก โดย ศ.ดร.จริงแท้ ศิริพานิช  อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์
  • คุณภาพทุเรียน ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการส่งออก โดย รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์  ม.เกษตรศาสตร์
  • เทคโนโลยีอินฟราเรดย่านใกล้ (NIR Technology) สำหรับคัดทุเรียนคุณภาพ โดย ผศ.ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์
  • ส่งออกทุเรียนให้ถูกใจผู้บริโภค โดย ผู้ส่งออกทุเรียน

เวลา 16.30 น.     ซักถามและปิดการเสวนา

(ข่าวโดย : คุณจุไร เกิดควน/ประชาสัมพันธ์ มก./21 พฤษภาคม 2560)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated