ระวัง โรคและแมลงศัตรูองุ่น...มันมากับอากาศร้อนสลับฝนตกและลมกระโชกแรง
"เกษตรก้าวไกลดอทคอม" เยี่ยมสวนองุ่นที่ อ.ดำเนินสะดวก ...ในภาพนี้คือ คุณประยูร วิสุทธิไพศาล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผลไม้ปลอดภัยสารพิษเพื่อส่งออก จ.ราชบุรี

กรมวิชาการเกษตร  แนะให้เฝ้าระวังสวนองุ่นช่วงอากาศร้อน สลับฝนตก และลมกระโชกแรง สภาพอากาศเช่นนี้ เป็นใจให้โรคและแมลงต่างๆ

“เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นให้สังเกตการระบาดแมลงศัตรูพืช คือ เพลี้ยไฟ และหนอนกระทู้หอม มักพบในระยะองุ่นติดผล และโรคที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ คือ โรคใบจุดและโรคราสนิม” 

องุ่นดำเนินสะดวก
องุ่นพวงสวยๆ
เพลี้ยไฟทำลายผลองุ่น
เพลี้ยไฟเข้าทำลายผลองุ่น
  1. เพลี้ยไฟ จะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบ มีสะเก็ดแผลตามช่อผลองุ่น

คำแนะนำ…ให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่ง ยอดอ่อน และตาข้างอย่างสม่ำเสมอ เพราะเพลี้ยไฟมักทำลายยอดองุ่นที่แตกใหม่เสมอ ให้หลีกเลี่ยงการปลูกองุ่นในพื้นที่ใกล้เคียงพืชอาศัยอื่นๆ อาทิ มะม่วง ด้วยเพลี้ยไฟมีขนาดเล็ก สามารถปลิวตามลมระบาดจากสวนมะม่วงไปยังสวนองุ่นได้ง่าย หากพบให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5 วัน

  1. หนอนกระทู้หอม จะแทะผิวใบองุ่นพรุนเป็นร่างแห ช่อดอกและผลอ่อนมีร่องรอยกัดกิน

คำแนะนำหากพบกลุ่มไข่หนอนเฉลี่ย 0.5 กลุ่มต่อต้น ให้เก็บกลุ่มไข่และจับหนอนมาทำลายเพื่อลดการระบาด และพ่นด้วยสารคลอฟีนาเพอร์ 10% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ถ้าพบหนอนขนาดเล็กหรือระบาดน้อย ให้พ่นด้วยเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส (Bt) อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพ่นด้วยเชื้อไวรัสนิวเคลียร์โพลีฮีโดรซิส (NPV) อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ถ้าระบาดมาก ให้เกษตรกรใช้ไม้เคาะหลังค้างองุ่นหรือใช้น้ำฉีดพ่นให้หนอนร่วงตกลงบนพื้นแล้วจับมาทำลาย จากนั้นให้ใช้จาระบีหรือสารฆ่าแมลงทาบริเวณโคนลำต้น เพื่อป้องกันหนอนไต่ขึ้นต้นไปทำลายซ้ำอีก และพ่นด้วยสารฆ่าแมลงกลุ่มยับยั้งการลอกคราบ อาทิ สารคลอร์ฟลูอาซูรอน 5% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟลูเฟนนอกซูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 4-7 วัน

ชาวสวนองุ่นดำเนินสะดวก
เกษตรกรชาวสวนองุ่นที่ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ปลูกองุ่นกันมาก
  1. โรคใบจุด จะมีจุดแผลสีน้ำตาลอ่อนขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วใบอ่อน ใบหงิกงอ ต่อมาแผลขยายใหญ่ ขอบแผลนูนสีอ่อนกว่าตรงกลางแผลยุบตัว เนื้อใบเกิดแผลแห้งเป็นรูพรุน หากแผลเกิดที่ก้านใบ เถาอ่อน และมือเกาะ จะบิดเบี้ยว ถ้าพบที่ผลอ่อนจะมีจุดแผลกลมสีน้ำตาล ขอบนูน แผลค่อนข้างแห้ง

คำแนะนำหากพบระบาดมากช่วงแตกใบอ่อน ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดฟีโนโคลนาโซล 25% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไพราโคลสโตรบิน 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5-7 วัน

  1. โรคราสนิม จะพบผงสปอร์สีส้มเป็นจุดหรือกลุ่มกระจายอยู่ทั่วใต้ใบ ส่วนบนใบเป็นจุดเล็กสีเหลือง และค่อยๆ เป็นแผลจุดประสีน้ำตาลใหญ่ขึ้นทั่วทั้งใบ ใบแห้งและร่วงหล่น

คำแนะนำหากพบระบาด ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะดิมีฟอน 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5-7 วัน โดยทั้ง 2 โรคนี้ถ้าพบเริ่มระบาดให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง มีอากาศถ่ายเท ควรหลีกเลี่ยงตัดแต่งทรงพุ่มช่วงฝนตก และให้เก็บส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก

(ข่าวโดย : อังคณา ว่องประสพสุข : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated