รศ.ดร.วราห์ เทพาหุดี อาจารย์ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิจัยและพัฒนาโปรแกรม “Smart Fish Smart Kits” ซึ่งเป็นโปรแกรมวัดความยาวและประเมินน้ำหนักสัตว์น้ำ บนโทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอย์ กล่าวว่า

ปกติการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีต้องชั่งน้ำหนักและวัดความยาวของสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบถึงอัตราการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำภายในบ่อหรือกระชัง และจะได้จัดการอาหารได้อย่างถูกต้อง  แต่วิธีที่ทำกันอยู่ คือ การใช้แหหรือสวิงสุ่มจับสัตว์น้ำมาจำนวนหนึ่ง แล้ววัดความยาวและชั่งน้ำหนัก  ซึ่งอาจจะทำให้สัตว์น้ำที่จับขึ้นมาบอบช้ำหรือตายได้  และสัตว์น้ำที่อยู่ในบ่อหรือกระชังก็จะเกิดความเครียดและหยุดกา กินอาหารในช่วงระยะเวลาหนึ่ง  ทำให้กระทบทั้งการเจริญเติบโตและผลผลิต ใช้แรงงาน และเวลามาก 

การวิจัยและพัฒนาโปรแกรมวัดความยาวและประเมินน้ำหนักสัตว์น้ำด้วยโทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอย์ ขึ้นมาเพื่อลดปัญหาดังกล่าว โดยการถ่ายรูปสัตว์น้ำที่ต้องการจะวัด แต่ที่สำคัญต้องมีวัตถุที่ลอยน้ำได้เพื่อทำเป็นเครื่องหมาย (Marker)  เพื่อทราบความยาวที่แน่นอน เช่น แผ่นโฟม หรือขันน้ำ อยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกับสัตว์น้ำที่ต้องการวัด และรูปสัตว์น้ำควรเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า เมื่อถ่ายรูปเสร็จแล้วนำรูปเข้าสู่โปรแกรมเพื่อทำการวัดต่อไป  วิธีการวัดจะใช้การลากเส้นด้วยนิ้วมือบนรูปตัวสัตว์น้ำที่ต้องการวัด (ตามรูป) เพื่อเปรียบเทียบ กรณีที่ต้องการวัดให้ได้ถูกต้องควรใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นที่มีปากกาจะให้ผลที่แม่นยำมากกว่า ค่าความยาว และน้ำหนักของสัตว์น้ำตัวนั้นจะปรากฎขึ้นมา

คณะประมง มก01

นอกจากนี้โปรแกรมดังกล่าวสามารถใช้ในการคำนวณสูตรอาหาร ให้ทราบได้ด้วยว่าควรเพิ่มหรือลดอาหารประเภทไหน ให้เหมาะกับสัตว์น้ำของเกษตรกร เพิ่มการเจริญเติบโต อัตราการรอด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ เป็นข้อมูลพื้นฐานที่เกษตรกรต้องการทราบอยู่แล้ว

คณะประมง มก02

ปัจจุบันโปรแกรมนี้สามารถประเมินน้ำหนักของกุ้งกลาดำ กุ้งขาวแวนนาไม และปลานิลแดง ซึ่งความถูกต้องแม่นยำจะขึ้นอยู่กับฐานข้อมูล ความชัดเจนของรูปถ่าย และการลากเส้น นับว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยเกษตรกรได้อย่างมาก ลดการเกิดความเสียหาย ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าในการเลี้ยงเกษตรกรได้อย่างเต็มที่

เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา กุ้ง หรือสัตว์น้ำอื่นๆ สามารถใช้โปรแกรม “Smart Fish Smart Kits” ในการวัดความยาวหรือชั่งน้ำหนักสัตว์น้ำได้ ซึ่งสามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ รศ.ดร.วราห์ เทพาหุดี ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 086 – 6995458

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated