เปิดใจ…สิรินุช ฉิมพลี เกษตรกรหญิงดีเด่นแห่งชาติปี 58 เลี้ยงปลากัดส่งออกทั่วโลกได้อย่างไร?

พลันที่ได้มีการเปิดตัวเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2558 ก็เป็นฮือฮากันพอสมควร เพราะว่าปีนี้มีเกษตรกรผู้หญิงเก่งได้รับการคัดเลือกถึง 4 คน จากทั้งหมด 15 คน 15 สาขาอาชีพ คืออาชีพทำนา ได้แก่ นางสาวสดวก จำรัส จังหวัดแพร่  อาชีพไร่นาส่วนผสมได้แก่ นางรำพึง อินทร์สำราญ จังหวัดสุรินทร์ อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางรุจาภา เนียนไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ และอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นาวสาวสิรินุช ฉิมพลี จังหวัดนครปฐม

ในบรรดาผู้หญิงเก่งทั้ง 4 คนดังกล่าวนี้ ต้องยอมรับว่า คุณสิรินุช ฉิมพลี เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่อายุอานามยังไม่มากเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ

เพราะอะไร จึงได้รับคัดเลือก และมีความรู้สึกอย่างไร …“เกษตรก้าวไกลดอทคอม” ขอนำเรื่องราวสดๆร้อนๆของเธอมานำเสนอดังต่อไปนี้

เส้นทางอาชีพเลี้ยงปลากัด เป็นมาอย่างไรครับ

หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ด้านการบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม ในปี 2542 ช่วงนั้นเป็นอันรับรู้กันว่าเศรษฐกิจกำลังขาลง เพราะพิษภัยจากเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2540 ทำให้ชีวิตเคว้งคว้างจบออกมาไม่รู้จะไปทำอะไรดี ก็เลยกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิดจังหวัดนครปฐม

ในช่วงเวลานั้นได้เห็นว่ามีเพื่อนบ้าน 2-3 ครอบครัวที่เลี้ยงปลากัดอยู่ สังเกตว่าปลากัดที่เขาเลี้ยงมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน ทำให้คิดว่าดีนะไม่ต้องไปเร่ขายมีคนมาซื้อถึงที่เลย ก็เกิดความสนใจ

จึงไปหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต จากตำราต่างๆ รวมทั้งวารสารของกรมประมง พบว่าปลากัดไม่ได้มีแค่ปลากัดหม้อ ปลากัดจีน ฯลฯ แต่มีสายพันธุ์ที่หลากหลายมาก และมีคุณสมบัติพิเศษคือเลี้ยงง่ายตายยาก ทนทุกสภาวะอากาศ ใช้พื้นที่เลี้ยงไม่มาก เงินลงทุนก็ไม่สูง แถมมีข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทยมีการเลี้ยงปลากัดส่งออกไปขายต่างประเทศเป็นอันดับต้นๆของโลก ก็เลยคิดว่าน่าจะลองมาเลี้ยงดูบ้าง

เริ่มเลี้ยงระยะแรกๆ เป็นอย่างไรบ้างครับ

เริ่มต้นเลยคนเขาก็หาว่าเราบ้า เป็นผู้หญิงด้วย ทำไมมาเลี้ยงปลากัด อาชีพอื่นทั้งเยอะ พ่อแม่เราก็หวังว่าส่งเสียให้ลูกเรียนจนจบปริญญาตรีก็เพื่อทำงานดีๆมีเงินเดือนสูงๆ ไม่ต้องมาลำบากทำไร่ทำนาเหมือนพ่อแม่ …ถ้าจะมาเลี้ยงปลากัดไม่เห็นจะต้องเรียนจบปริญญาตรี มันเป็นคำพูดที่อยู่ในใจของเรา แต่เราก็มั่นใจข้อมูลที่ได้รับว่าเลี้ยงปลากัดมันน่าจะทำเป็นอาชีพได้

แต่ก็ต้องยอมรับว่าในช่วงปีแรกๆ ล้มลุกคลุกคลาน ลองผิดลองถูก เพราะไม่ได้มีความรู้ในเรื่องการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามมาก่อน ต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าที่จะเพาะพันธุ์ได้เอง ไปถามคนที่เขาเลี้ยงเขาก็ไม่ค่อยบอกกัน เรียกว่าทุกอย่างต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง

เราเริ่มจากปลากัด 5 คู่ 10 คู่ ค่อยๆคลำ ค่อยๆทำ พอเริ่มเพาะพันธุ์ได้เองก็ทำให้มีกำลังใจที่จะเดินหน้าต่อ เพราะว่ามีพันธุ์ปลากัดใหม่ๆสวยๆเกิดขึ้น มันรู้สึกเป็นความท้ายทายว่าเราทำได้

หัวใจความสำเร็จของการเลี้ยงปลากัด อยู่ตรงไหนครับ

การเลี้ยงปลากัดเราจะต้องทุ่มเทเอาใจใส่ มีความขยันอดทน เป็นที่ตั้ง และทำงานอย่างต่อเนื่อง หมั่นเรียนรู้และทำความเข้าใจ

สิ่งสำคัญที่สุดจะอยู่ที่การเพาะขยายพันธุ์ เราจะต้องคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดี คือต้องจับกระแสให้ได้ก่อนว่าตลาดเขากำลังเล่นปลากัดแบบไหน โดยไปศึกษาตามตลาดนัดปลาสวยงาม เช่น ที่สวนจตุจักร และตลาดต่างประเทศจากอินเตอร์เน็ตต่างๆ จากนั้นก็ไปหาซื้อพ่อแม่พันธุ์มาทำการเพาะขยายพันธุ์ตามวิธีของเรา ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรเป็นเคล็ดลับมาก จริงๆมันก็เหมือนกับการเพาะขยายพันธุ์ปลาสวยงามทั่วไป (ท่านผู้อ่านที่สนใจวิธีการเพาะเลี้ยงปลากัดของคุณสิรินุช หาอ่านได้จากเว็บไซต์มติชนออนไลน์ หรือเทคโนโลยีชาวบ้าน โดยคุณสุจิต เมืองสุข)

เลี้ยงปลากัดส่งออกทั่วโลกได้อย่างไร02
ปลากัดลายธงชาติไทย

เรื่องการตลาดมีวิธีการอย่างไร เพราะเพราะว่าเกษตรกรมักมีปัญหาตรงนี้

ของเราเองในระยะ 5 ปีแรก ไม่ได้ทำตลาดเอง พอเลี้ยงได้ก็ติดต่อพ่อค้ามาซื้อถึงฟาร์มเหมือนที่เกษตรกรคนอื่นๆเขาทำกัน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ทำให้พอมีเงินหมุนเวียนได้ แต่เรามาคิดใหม่ว่าเราจะรอให้ตลาดมาหาเราเสมอไปหรือ ทำไมเราไม่วิ่งไปหาตลาดเองบ้างละ

วิธีการคือ เดินสายประกวดปลากัด ที่ไหนมีประกวดเราเข้าไปร่วม เพื่อต้องการที่จะสร้างชื่อเสียงให้คนรู้จัก แต่ก็ต้องผิดหวังในช่วงปีแรกๆที่ส่งเข้าประกวด ไม่ได้รางวัลใดๆเลย เพราะเราส่งปลากัดตัวที่เราชอบ คือชอบตัวไหนก็ส่งตัวนั้น ไม่ได้ศึกษาเลยว่าคนที่เขาได้รางวัลชนะเลิศเพราอะไร ทำไมเขาจึงได้

ก็เลยต้องมาตั้งหลักศึกษาข้อมูลใหม่ว่าปลากัดเขามีมาตรฐานตรงไหน เช่น ดูหาง ดูสี ดูตะเกียบ ดูเกล็ด ฯลฯ และเมื่อศึกษาเข้าใจเราก็เลยส่งเข้าประกวดใหม่ในปี 2554 ผลจากความพยายามที่ไม่ท้อถอยทำให้คว้าคว้ารางวัลแกรนด์แชมป์เปี้ยนชิฟ ชนะเลิศอันดับ 1 ของประเทศไทย

กระทั่งในปี 2556 ได้ส่งปลากัดไปประกวดที่ประเทศออสเตรเลีย ปรากฏว่าไม่ผิดหวัง เพราะปลากัดจีนที่เราส่งไปประกวด สามารถคว้ารางวัลแกรนด์แชมป์เปี้ยนชิฟ ชนะเลิศอันดับ  1 สร้างความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก

สรุปเวลานี้ เราคว้ารางวัลในการประกวดปลากัดสวยงามมา 50 รางวัล เป็นรางวัลชนะเลิศ 27 รางวัล และรางวัลที่ 2-3 อีก 23 รางวัล และผลจากการได้รับรางวัลต่างๆทำให้เริ่มมีชื่อเสียง ปลากัดที่ผลิตออกจากฟาร์มได้รับการยอมรับ

ปัจจุบันตลาดนิยมปลากัดสวยงามอย่างไรบ้าง และสังเกตดูมีปลากัดลายธงชาติอยู่ด้วย ไม่ทราบมีเคล็ดลับอย่างไร

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า ปลากัดสวยงามมีมากกว่าปลากัดจีน ปลากัดหม้อ ฯลฯ เราสามารถสร้างความหลากหลายของสายพันธุ์ได้โดยการเพาะขยายพันธุ์ โดยการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีสีไหนพันธุ์ไหนมาแรงเราก็มาผสมพันธุ์และคัดเลือกลูกพันธุ์ที่ดีที่สวยงาม ที่ได้รับความนิยมเวลานี้ เช่น ปลากัดคราวน์เทล (Crowntail) ปลากัดซุปเปอร์เดลต้า (Super delta) ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีก หรือ ฮาล์ฟมูน (Halfmoon) และปลากัดหางคู่ หรือปลากัดสองหาง

ที่สร้างความฮือฮาก็คือ ปลากัดที่มีสีคล้ายธงชาติไทย ซึ่งตรงนี้บอกไม่ได้เหมือนกันว่ามีเคล็ดลับอย่างไร คิดว่ามันน่าจะหลุดมา(บังเอิญ) นานๆจึงจะมีสักตัวสองตัว ก็ทำให้เราได้นำไปโชว์บนเว็บไซต์ ซึ่งสร้างความรู้จักได้มาก ทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ

ตลาดปลากัดหลักๆ อยู่ที่ไหนบ้างครับ

ที่ฟาร์มของเรามีการทำตลาดที่หลากหลาย แต่หลักๆเราจะผลิตส่งให้กับพ่อค้าที่รับซื้อไปส่งออกประมาณ 90 % ทราบว่าจะส่งไปที่ประเทศอเมริกา นอกจากนั้น เป็นตลาดโซนยุโรป เช่น อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆทั่วโลก และอีก 10 % เป็นตลาดที่เราส่งออกเองโดยตรงด้วยวิธีการถ่ายรูปปลากัดขึ้นเว็บไซต์ รวมทั้งส่งรูปปลากัดเข้าประมูลผ่านเว็บไซต์

มีปัญหาในเรื่องตลาดไหม และอนาคตตลาดจะยั่งยืนแค่ไหน

มีปัญหาอยู่บ้างที่เกษตรกรมักดั้มราคา(ตัดราคา)กันเอง แต่เรามีวิธีแก้ไขโดยการพูดคุยกับผู้ซื้อหรือลูกค้าโดยตรง หลักการของเราคือเราอยู่ได้ลูกค้าอยู่ได้ ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และการเข้าประกวดปลากัดก็เป็นวิธีการเพิ่มมูลค่าของสินค้า ทำให้เราได้รับความเชื่อถือมาก

สำหรับในอนาคตคิดว่าตลาดปลากัดยังเปิดกว้าง เรามั่นใจว่าตลาดยังไปได้ดี เห็นได้จากยอดสั่งซื้อที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

มีเป้าหมายในอาชีพเลี้ยงปลากัดอย่างไรบ้างครับ

อนาคตเราคงไม่ได้ขยายในการเลี้ยงมากนัก แต่จะเน้นการทำตลาดให้ขยายเติบโตมากขึ้น วิธีการก็คือจะสร้างเครือข่ายเพื่อนๆเกษตรกรด้วยกัน ส่งเสริมให้เขาเลี้ยงปลากัดที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด และเราจะเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องของการทำตลาด เช่น รับซื้อปลากัดเพื่อส่งออกให้กับคู่ค้าของเรา เป็นต้น

อยากให้บอกถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 58

การได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ถือเป็นจุดสูงสุดของเราแล้ว ไม่เคยคิดว่าจากคนที่ไม่มีความรู้เรื่องเลี้ยงปลาสวยงามมาก่อนจะได้ก้าวมาถึงจุดนี้ได้

รางวัลที่ได้รับถือเป็นเกียรติแก่ตนเอง แก่ครอบครัว และวงศ์ตระกูล ดีใจ ภูมิใจมากๆ ไม่เฉพาะตนเอง แต่พ่อแม่และครอบครัวของเราดีใจที่เราทำได้

เลี้ยงปลากัดส่งออกทั่วโลกได้อย่างไร01

นี่เป็นเรื่องราวเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของเกษตรกรหญิงเก่งวัย 40 ปี ที่ชื่อ “สิรินุช ฉิมพลี” เจ้าของฟาร์มปลากัด “เบตต้าฟาร์ม” แห่งจังหวัดนครปฐม ที่เริ่มต้นจากความไม่รู้มาเป็นเจ้าของฟาร์มปลากัดส่งออก และจากที่เลี้ยงปลากัดเพียงไม่กี่คู่ไม่กี่บ่อมาเป็น 500 บ่อ และเลี้ยงจำนวน 1 แสนขวด และจากที่เริ่มต้นเพียงคนเดียวก็ได้สามีมาช่วย ลูกหลานมาช่วย และพ่อแม่ที่เดิมมีอาชีพทำไร่ทำนา รวมทั้งน้องชายอีก  1 คน (จากพี่น้อง 3 คน) ก็หันมาทำอาชีพเลี้ยงปลากัดเพียงอย่างเดียว

“การเลี้ยงปลากัดเป็นอาชีพคิดว่ามีความมั่นคง เรายืนอยู่ได้ในวันนี้ ก็เพราะปลากัดเลี้ยงเรา…ไม่ใช่ว่าเราเลี้ยงปลากัดเหมือนที่เราเริ่มต้นใหม่ๆ” คือบทสรุปของคุณสิรินุช ที่บอกกับผมด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความดีใจและภาคภูมิใจที่มีวันนี้

หมายเหตุ : ต้องการติดต่อคุณสิรินุช โทร 08 61761228 หรือเยี่ยมชมฟาร์มได้ที่ หมู่ที่ 7 ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated