เทคฟันด์ หนุนผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “NaNo-k ผลิตภัณฑ์นาโนสเปรย์จากการสกัดขมิ้นชัน ” แก้ปัญหา “โรคลัมปีสกิน -ปากเท้าเปื่อย” ในโคนมและโคเนื้อ หลังเกิดการระบาดใหญ่ ทดลองใช้ที่สหกรณ์โคนมไชยปราการ สหกรณ์โคนมแม่วาง จ.เชียงใหม่ และสหกรณ์โคนมนครลำปาง จ.ลำปาง แล้ว พบมีประสิทธิภาพในการสมานแผลและสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อได้

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2566 รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ เทคฟันด์ ลงพื้นที่จักราวุธฟาร์ม จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามโครงการ“NaNo-k ผลิตภัณฑ์นาโนสเปรย์จากสารสกัดขมิ้นชันเพื่อส่งเสริมการหดตัวของแผลในปศุสัตว์” ของบริษัท วันเฮลท์อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากเทคฟันด์ ในการแก้ปัญหาโรคลัมปีสกินและโรคปากเท้าเปื่อยอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของประเทศไทย โดยมีสัตวแพทย์หญิงดวงหทัย สายปินตา กรรมการ บริษัท วันเฮล์ทอินโนเวชั่น จำกัด ให้การต้อนรับ

ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)

รศ.ดร.พาสิทธิ์ เปิดเผยว่า กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมหรือเทคฟันด์ให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการบริษัท วันเฮลท์อินโนเวชั่น จำกัด ทำโครงการ NaNo-K: ผลิตภัณฑ์นาโนสเปรย์จากสารสกัดขมิ้นชันเพื่อส่งเสริมการหดตัวของแผลในปศุสัตว์โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ดูแลและบ่มเพาะโครงการเพื่อแก้ปัญหาโรคลัมปีสกินปศุสัตว์ในอุตสาหกรรมเลี้ยงโคนมและโคเนื้อ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศไทย โดยในปี 2562 มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมถึง 18,850 ครัวเรือน และมีจำนวนโคนมอยู่กว่า 632,187 ตัว และมีปริมาณโคเนื้อถึงกว่า 5 ล้านตัว ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ประมาณ 800,000 ล้านบาท

ต่อมาปี 2654 ได้เกิดการระบาดใหญ่ของโรคลัมปีสกินโดยกระจายทั่วทุกภาคของประเทศ รวมทั้งการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย โดยมีอัตราการติดโรคสูงถึง 100% ทั้งสองโรคนี้ทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังในลักษณะหลุมลึกอย่างรุนแรง โรคลัมปีสกินมีอัตราการป่วยอยู่ที่ 5 – 45% ซึ่งระยะเวลาในการฟื้นตัวจากโรคทั้งสองโรคขึ้นอยู่กับการหายของแผล ทำให้การเจริญเติบโตลดลง ปริมาณน้ำนมลดลง สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200-1,000 ล้านบาทต่อปี และหากมีการควบคุมและการรักษาโรคที่เหมาะสมอาจลดความสูญเสียลงเหลือเพียงแค่ 50% เท่านั้น หรือไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

สัตวแพทย์หญิงดวงหทัย กล่าวว่า การรักษาโรคลัมปีสกินและโรคปากเท้าเปื่อยในปศุสัตว์นั้น มักมุ่งเน้นไปที่การใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน เจนเชี่ยนไวโอเล็ต และ แบคตาซิน ที่มีราคาถูกเท่านั้น โดยไม่มีการใช้ยาเรียกเนื้อชนิดต่างๆ ซึ่งมีราคาแพง จึงทำให้การรักษาแผลในโรคทั้งสองใช้เวลานานมากกว่าปกติ นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีบางชนิดอาจทำให้เกิดสารตกค้างในผลิตภัณฑ์สัตว์และไม่สามารถบริโภคได้ จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้รักษาแผลในปากทาง ทีมวิจัยของบริษัท วันเฮลท์อินโนเวชั่น จำกัด จึงได้นำเสนอ NaNo-K: ผลิตภัณฑ์นาโนสเปรย์จากสารสกัดขมิ้นชัน โดยการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตครีมรักษาแผลในปศุสัตว์ที่มีส่วนประกอบสำคัญเป็นสารสกัดจากขมิ้นชัน ตลอดจนการใช้สารห่อหุ้มสารสำคัญด้วย cyclodextrin เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของสารสกัดขมิ้นโดยเพิ่มการละลายและเพิ่มความคงตัวของสารออกฤทธิ์โดยการห่อหุ้มทำให้ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ดียิ่งขึ้น สำหรับการนำมารักษาแผลทั้งสองชนิดในปศุสัตว์ และสามารถเร่งการหายของแผลโดยการฆ่าเชื้อและเร่งสร้างเนื้อเยื่อ โดยมีราคาถูกกว่ายาสมานแผลที่มีขายในท้องตลาดเพื่อให้นำมาใช้ในทางปศุสัตว์

“ผลิตภัณฑ์ NaNo-K: ผลิตภัณฑ์นาโนสเปรย์จากสารสกัดขมิ้นชันฯ ได้มีการทดลองใช้ที่สหกรณ์โคนมไชยปราการ สหกรณ์โคนมแม่วาง (จ.เชียงใหม่) และสหกรณ์โคนมนครลำปาง (จ.ลำปาง) และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีและจะมีการพัฒนาครีมสมานแผลสมุนไพร NaNo-K ที่มีประสิทธิภาพในการสมานแผลและสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อได้ รวมทั้งผลิตครีมสมานแผล NaNo-K และจดทะเบียนครีมสมุนไพรเพื่อใช้ในทางปศุสัตว์ ที่สำคัญจะพัฒนาเพื่อนำไปสู่การจำหน่ายในตลาดเพื่อทดแทนการใช้สินค้าจากต่างประเทศ ส่งเสริมนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งการนำไปสู่การส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย”สัตวแพทย์หญิงดวงหทัย กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated