เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายมานพ จินาไหม ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วย นางณิศชากร พิมยศ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน และคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตาม และเยี่ยมชมการดำเนินงานผู้ประกอบการลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับการสนับสนุนการให้สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร ที่ธ.ก.ส. ได้กำหนดวงเงินสนับสนุนรวม 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ซึ่งมุ่งเป้าหนุนให้ผู้ประกอบการ SME สามารถขับเคลื่อนการเติบโตระบบเศรษฐกิจทุกมิติ

ในการนี้ ได้มีการเข้าเยี่ยมชมงานบริษัท รากแก้ว ฟาร์มอโกร จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 210 หมู่ 12 ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน ของนายยงยุทธ แก้วรากมุก ที่ดำเนินธุรกิจด้านการเลี้ยงไก่ไข่ ผลิตและจัดจำหน่ายไข่ไก่ ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงใหม่ พะเยา ภายใต้แบรนด์ รากแก้วฟาร์ม มากว่า 30 ปี และเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้สินเชื่อ SME เสริมแกร่ง และประสบความสำเร็จตามเป้ากมายพัฒนาของ ธ.ก.ส. ถือเป็นต้นแบบผู้ประกอบการหัวขบวนที่ยกระดับกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วยการปรับใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเลี้ยงไก่ไข่และเก็บไข่ รวมถึงมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก BCG Model โดยมีระบบบริหารจัดการของเสีย นำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าทดแทน เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและนำมูลไก่ที่เหลือใช้ไปผลิตปุ๋ย เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด

นายยงยุทธ แก้วรากมุก บริษัท รากแก้ว ฟาร์มอโกร จำกัด กล่าวว่า จากการให้บริการที่ใส่ใจ มีความตั้งใจใจจริงในการช่วยเหลือลูกค้า อีกทั้งมีการสนับสนุนสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ อย่างสินเชื่อ SME เสริมแกร่ง ถือว่า เป็นส่วนสำคัญในการทำให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจ และสร้างการเติบโตได้เป็นอย่างดี อย่างที่ฟาร์ม ได้เริ่มต้นจากการเลี้ยงไก่ไข่ ด้วยจำนวนเพียง 500 ตัว และได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส. มาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 7 โรง ที่จุแม่ไก่ยืนกรงได้สูงสุด 265,000 ตัว และมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการเลี้ยงและเก็บไข่ ได้แก่ เครื่องให้อาหารไก่อัตโนมัติ ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงสุด 280 กรัม/นาที เครื่องเก็บไข่อัตโนมัติ กำลังการผลิต 6.88 เมตร/นาที เครื่องคัดไข่ กำลังการผลิตสูงสุด 1,000 แผง/ชั่วโมง และห้องเย็นเก็บไข่ โดยรากแก้วฟาร์ม ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมไข่ จากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (GMP) และการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (GAP)

“ในกระบวนการเลี้ยงไก่ไข่ที่ใช้ระยะเวลา 480 วันต่อรอบ โดยเลี้ยงระบบ EVAP  หรือ Evaporative Cooling System ในโรงเรือนแบบปิด ทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการผลิต อีกทั้งยังดำเนินงานตามหลัก BCG Model เนื่องจากทางบริษัทฯ มีการใช้โรงเรือนในการเลี้ยงไก่ไข่แบบปิด จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของกลิ่นไม่พึงประสงค์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมในชุมชนใกล้เคียง” นายยงยุทธ กล่าว

นายยงยุทธ กล่าวต่อไปอีกว่า พร้อมกันนี้ยังมีการนำระบบบริหารจัดการของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตเข้ามาใช้ โดยนำมูลไก่มาเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพ และนำมาผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานทดแทนใช้ภายในฟาร์ม เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มศักยภาพในการใช้พลังงานทดแทน และ มูลไก่ที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้า ได้นำมาอบแห้งและผลิตเป็นปุ๋ย เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการจ้างแรงงานในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย

ด้าน นายมานพ จินาไหม ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส. พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่มีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการลงทุนที่ตอบโจทย์ในการดูแลสิ่งแวดล้อมตามหลัก BCG Model ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้นผ่านสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร วงเงิน 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหมุนเวียนหรือลงทุนในการประกอบธุรกิจ

“สินเชื่อ SME เกษตร วงเงิน 30,000 ล้านบาท เป็นผลิตภัณฑ์ที่ ธ.ก.ส. ให้บริการเพื่อช่วยยกระดับการประกอบอาชีพของเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร ให้มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ เข้ามาปรับใช้ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพของผลผลิตที่มีคุณภาพ และขณะนี้ ธ.ก.ส. ยังเปิดให้ผู้สนใจที่จะใช้บริการสินเชื่อดังกล่าวอยู่ ดังนั้นหากสนใจสามารถติดต่อขอใช้บริการสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Call center 02 555 0555” ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวทิ้งท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated