“ผักตบชวา” วัชพืชที่ใครๆ เคยมองว่าเป็นปัญหากีดขวางทางน้ำและสิ่งแวดล้อม  ขณะนี้โครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ (วทจ.) คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ศวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ประสบความสำเร็จในการวิจัย “เปลี่ยนผักตบชวาเป็นก๊าซชีวภาพ”  ด้วยกระบวนการจากจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง

ผักตบชวา-ก๊าซไข่เจียวกรอบ04

ล่าสุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) นำองค์ความรู้จากงานวิจัยเผยแพร่สู่ชุมชนที่ประสบปัญหาผักตบชวา และได้จัดตั้งหน่วยเรียนรู้ต้นแบบในชุมชน เพื่อการใช้ประโยชน์ “เปลี่ยนผักตบชวาเป็นก๊าซชีวภาพ ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” ในชุมชนได้อย่างยั่งยืน “ทำง่าย ใช้งานได้จริง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” หน่วยการเรียนรู้ต้นแบบ หน่วยงานแรก เกิดขึ้น ณ ชุมชนคลองสามวา เขตมีนบุรี กทม. โดยความสนับสนุนและร่วมมือจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และกองทัพบก กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

ดร. อนามัย ดำเนตร รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณบดี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า หลังจากประสบความสำเร็จในงานวิจัยและได้มาซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าว  คณะฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ประจำปี 2557 ให้เปิดอบรมเผยแพร่องค์ความรู้นี้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป  จำนวน 3 รุ่น รวม 65 คน ขณะนี้การอบรมได้ดำเนินการแล้วเสร็จและได้ผลตอบรับจากผู้เข้าอบรมอย่างดียิ่ง  หลังการอบรมทั้ง 3 รุ่น เสร็จสิ้นลง จึงได้มอบหมายให้คณะผู้วิจัย ประกอบด้วย รศ. ดร. จุรีย์รัตน์    ลีสมิทธิ์  รศ. จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ และนายขวัญชัย นิ่มอนันต์ ลงพื้นที่ในหน่วยงานและชุมชนต่างๆ ที่เข้ารับการอบรมเพื่อติดตามผลการนำความรู้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์ พบว่าชุมชนคลองสามวา  เขตมีนบุรี  เป็นหนึ่งในผู้เข้าอบรมที่มีการนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม  กล่าวคือ พื้นที่ชุมชนเขตมีนบุรีมีผักตบชวาปริมาณสูง ซึ่งก่อปัญหาในชุมชนมาเป็นเวลานาน เดิมกำจัดโดยวิธีการขนขึ้นจากแหล่งน้ำไปกำจัด  ซึ่งไม่เพียงสูญเสียงบประมาณในการเก็บผักตบจากแหล่งน้ำ ยังต้องใช้งบประมาณในการกำจัดเป็นจำนวนมาก  ดังนั้นผลงานความร่วมมือระหว่าง 3 พันธมิตร ได้แก่ มก.-กองทัพบก-ธกส. จนเกิดเป็นหน่วยเรียนรู้ต้นแบบแห่งแรกขึ้น จึงถือว่าเป็นความสำเร็จอันน่ายินดียิ่ง

ด้าน รศ. ดร. จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์  หัวหน้าโครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกชุมชนคลองสามวา เป็นหน่วยการเรียนรู้ต้นแบบหน่วยแรกว่า  สิ่งที่ประทับใจคือ ชุมชนคลองสามวา เป็นชุมชนที่สมาชิกของชุมชนมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการแก้ปัญหาจากผักตบชวา  สมาชิกของชุมชนมีความร่วมแรงร่วมใจและสามัคคีกัน  เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน การลงพื้นที่ในชุมชนแต่ละครั้งของทีมวิจัย จะมีสมาชิกของชุมชนเข้าร่วมพบปะพูดคุย และอภิปรายอย่างสนใจกับคณะผู้วิจัย  รวมถึงมีความกระตือรือร้น เพื่อให้โครงการ ‘เปลี่ยนผักตบชวาเป็นก๊าซชีวภาพ ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง’ในชุมชนของพวกเขาประสบความสำเร็จ นี่คือสิ่งที่คณะผู้วิจัยประทับใจมากที่สุด รองลงมาคือ ชุมชนคลองสามวาได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี ได้แก่ กองทัพบก โดยพันโทอภิชา คุณสิงห์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.)โดย คุณวันชัย พัววรานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักกิจการนครหลวง  ธกส.  มีส่วนสำคัญในการสานฝันให้ โครงการ ‘เปลี่ยนผักตบชวาเป็นก๊าซชีวภาพ ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง’ สามารถเป็นจริงและใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมในชุมชนแห่งนี้

สำหรับขั้นตอนการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง  ทำได้ไม่ยากโดยนำถังหมักที่ประกอบอย่างถูกหลักทางวิชาการ มาแบ่งปริมาณออกเป็น4 ส่วน  ใส่ผักตบชวาที่บดหรือสับแล้ว 1 ส่วน จุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน และปล่อยให้มีพื้นที่ว่าง 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึง จะเกิดก๊าซชีวภาพที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ภายในเวลาประมาณ 10-15 วันแรก ใช้หุ้งต้มอาหารได้นาน 25 นาที หลังจากนั้นสามารถเติมผักตบชวาเป็นระยะๆการเกิดก๊าซจะลดลงในเวลาประมาณ 1-3 เดือน ข้อควรระวังที่สำคัญ  ได้แก่ การเลือกมูลสัตว์สด การเก็บก๊าซ และการทดสอบก๊าซติดไฟ โดยจะต้องมีถังหมัก และ ถังเก็บก๊าซ แยกส่วนกัน ส่วนกากผักตบชวาหลังการหมักยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ คือ นำไปคลุมโคนต้นไม้เพื่อใช้เป็นวัสดุช่วยกักเก็บความชื้นในดินได้

“งานวิจัยในห้องแล็ป ได้ถ่ายทอดสู่ประชาชนและชุมชนอย่างแท้จริงแล้ว ทุกคนสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง ทำได้ด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันก็ทำให้สภาพแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย สร้างความกินดีอยู่ดีให้กับคนในชุมชน และชุมชนเกิดความสามัคคี ก่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชนต่อไป นี่คือสิ่งที่มีค่ามากที่สุดสำหรับโครงการนี้ ” รศ. ดร. จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ กล่าว

นางอรษา งามนิยม รองประธานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี แขวงคลองสามวา มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง  (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย กล่าวว่า  “ผ่านการอบรมมาครั้งเดียว ก็นำมาปฏิบัติจริงในชุมชน ซึ่งได้ผลเกินคาด สามารถผลิตก๊าซใช้เองในครัวเรือนและในชุมชนได้ ไม่มีปัญหา เวลามีการประชุมหรืออบรมสัมมนาในชุมชน เราก็นำก๊าซที่เราผลิตขึ้นเองมาใช้ในการหุงต้มประกอบอาหาร พอมาเป็นหน่วยเรียนรู้ต้นแบบในชุมชน เพื่อการใช้ประโยชน์ “เปลี่ยนผักตบชวาเป็นก๊าซชีวภาพ ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” ก็ได้รับความสนใจจากคนในชุมชน และนอกชุมชน รวมถึง หน่วยงานของรัฐ คือ กรุงเทพมหานคร ก็ให้ความสนใจเพิ่มขึ้น เพราะผักตบชวาเป็นปัญหาของคลองส่งน้ำ ปัจจุบันก็ได้มีการนำมาทำปุ๋ยหมัก แต่จำนวนผักตบชวาก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก การนำผักตบชวามาผลิตก๊าซก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยลดปัญหาจากผักตบชวาและช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน ควรที่จะมีการวิจัยพัฒนาต่อยอดและอบรมเผยแพร่ต่อไปให้มีหน่วยเรียนรู้ต้นแบบทั้งประเทศ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ”

ดร. อนามัย ดำเนตร กล่าวปิดท้ายว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความประสงค์นำองค์ความรู้ดังกล่าวเผยแพร่สู่ชุมชนที่ประสบปัญหาผักตบชวา และต้องการจัดตั้งหน่วยเรียนรู้ต้นแบบในชุมชน เพื่อเกิดการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ดังกล่าว เกิดการ “เปลี่ยนผักตบชวาเป็นก๊าซชีวภาพ ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” ในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งชุมชนหรือหน่วยงานอื่นๆ สามารถศึกษาดูงานที่หน่วยเรียนรู้ต้นแบบในชุมชนได้  หน่วยงานหรือชุมชนที่สนใจจัดตั้งหน่วยเรียนรู้ต้นแบบในชุมชน รวมทั้งบริษัทหรือเอกชนที่มีความประสงค์จะสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือ ในการจัดตั้งหน่วยเรียนรู้ต้นแบบในชุมชน สามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท. และรองผู้อำนวยการกองงาน หนึ่งใจ..ช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิ มิราเคิล ออฟ ไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เพื่อประสานความร่วมมือกันต่อไป

อนึ่ง ในวันแถลงข่าวได้มีการสาธิตผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา แล้วนำก๊าซที่ได้ไปจุดเตาแก๊ส เพื่อการทอดไข่เจียวกรอบ ซึ่งปรากฏว่าไข่เจียวกรอบมีรสชาติอร่อยเหมือนก๊าซหุงต้มทั่วไป

ผักตบชวา-ก๊าซไข่เจียวกรอบ01

หมายหตุ ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ รศ. ดร. จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์  อีเมลล์jureerat.c@ku.ac.th  หรือโทรศัพท์ หมายเลข 095 054 8240, 083 559 8448  หรือ LINE ID: microku หรือ ajmaew

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated