“กุ้งก้ามแดง” กุ้งตัวใหม่ในนาข้าว กก.ละ 400-500 บาท…จริงหรือไม่?

“กุ้งก้ามแดง”  หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กุ้งเครย์ฟิช-Crayfish” โดยเราจะคุ้นหูคำว่า “กุ้งล็อปเตอร์” นั่นเอง นับเป็นกุ้งที่ถือเป็นอาหารรสเลิศที่ทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี และมีการเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจกันในหลายประเทศทั่วโลก โดยประเทศผู้ส่งออกกุ้งชนิดนี้รายใหญ่ ก็คือ  สหรัฐอเมริกา ยุโรปและออสเตรเลีย ฯลฯ

กุ้งเครฟิชหรือกุ้งล็อปเตอร์ นับเป็นกุ้งที่เชฟระดับโลกให้การยอมรับว่า เป็นกุ้งที่มีรสชาติอร่อย เลิศรสที่สุดในบรรดากุ้งแม่น้ำทั้งหมด จึงทำให้ร้านอาหารทั่วโลกมีเมนูกุ้งล็อปเตอร์ให้ทานกันทั่วโลกเลยทีเดียว

รู้จักกุ้งก้ามแดง…สัตว์เศรษฐกิจจากโครงการหลวงเพื่อเกษตรกรไทย

กุ้งตัวใหม่ในนาข้าว01

กุ้งก้ามแดง กำลังได้รับความสนใจในฐานะสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าลงทุนอย่างมาก โดย สหกรณ์การเกษตรเขื่อนพระปรง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งได้นำกุ้งก้ามแดงมาเลี้ยงในนาข้าวจนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงเชิงการค้า โดยได้แนวคิดมาจาก โครงการหลวง ดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

โดยเริ่มแรกนั้น พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงให้โครงการหลวง ดอยอินทนนท์ เป็นผู้ศึกษาทดลองเลี้ยง ผลผลิตรุ่นแรกที่ผลิตได้ถูกใช้ประกอบอาหารในการถวายเลี้ยงแก่พระราชอาคันตุกะ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2549 ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จากวันนั้น…ได้ทดลองเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในนาข้าวของเกษตรกรที่บ้านแม่กลางหลวง ดอยอินทนนท์ จนนำมาสู่การเลี้ยง และขยายพันธุ์กุ้งก้ามแดงเป็นเพื่อจำหน่ายเชิงการค้าได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 เป็นต้นมา แต่การเลี้ยงก็ไม่ได้ขยายไปมากนัก

คุณอำนาจ ยาสา ประธานสหกรณ์การเกษตรเขื่อนพระปรง จำกัด จังหวัดสระแก้ว คือผู้ที่มองเห็นโอกาสในครั้งนี้ คุณอำนาจเล่าว่า สมาชิกของสหกรณ์กว่า 50 ราย มีอาชีพทำนาเป็นหลัก ที่ผ่านมาอาชีพทำนาไม่เคยสร้างฐานะที่ดีขึ้นให้กับสมาชิกเลย บางปี บางรายก็ประสบปัญหาขาดทุนด้วยซ้ำไป คุณอำนาจมองเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในนาข้าวจากการที่มีโอกาสทราบข้อมูลการเลี้ยงในนาข้าวของโครงการหลวง จึงได้ศึกษาอย่างจริงจัง ไปดูวิธีการเลี้ยง การเพาะพันธุ์ลูกกุ้งและนำมาทดลองเลี้ยงร่วมกับสมาชิกจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

นอกจากสมาชิกสหกรณ์จะขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้นแล้ว ยังหาพันธมิตรจากพื้นที่อื่นมาเสริมกำลังทัพด้วยเพื่อร่วมสร้างตลาดให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและทำให้การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงกลายเป็นอาชีพที่มั่นคงของเกษตรกรไทย

การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในนาข้าว สร้างความมั่นคงของอาชีพชาวนาไทย

กุ้งตัวใหม่ในนาข้าว02

คุณอำนาจให้ข้อมูลว่า จุดเด่นของกุ้งก้ามแดงก็คือ เป็นกุ้งที่มีเปลือกหนา ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่างๆ และมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี จึงเป็นกุ้งที่สามารถเลี้ยงได้ในสภาพแวดล้อมทั่วไปได้ แม้แต่ในนาข้าว ในบ่อดินหรือกระชังในแม่น้ำ  โดยมีอัตราการสูญเสียหรืออัตราการตายน้อยมาก อัตราการรอดสูง เจริญเติบโตเร็ว ที่สำคัญสามารถขยายพันธุ์หรือเพาะลูกพันธุ์ได้โดยไม่ต้องใช้น้ำเค็ม จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้กุ้งก้ามแดงเลี้ยงได้ทุกพื้นที่ของบ้านเรา ซึ่งทางสหกรณ์เองจะเน้นการเลี้ยงในนาข้าวซึ่งเป็นอาชีพหลักของสมาชิกอยู่แล้ว แต่การเลี้ยงต้องมีการมาปรับบ่อใหม่โดยอธิบายง่ายๆ พื้นที่ 1 ไร่ จะต้องยกคันล้อมให้สูงขึ้นมากกว่าคันนาปกติที่จะเล็ก แคบและเตี้ย คันล้อมที่สูงนี้เพื่อขังน้ำที่สูงกว่าระดับน้ำในนาข้าวทั่วไปและป้องกันศัตรูธรรมชาติอย่าง ปู กบ ปลาช่อน ฯลฯ ที่จะเข้าไปกัดกินลูกกุ้งเล็ก โดยพื้นที่นา 1 ไร่ บริเวณรอบขอบบ่อ 1 ใน 3 ส่วนโดยรอบจะขุดให้ลึก 50-70 ซม. เพื่อเป็นที่อาศัยของกุ้งในช่วงกลางวันซึ่งกุ้งจะนอนพักในระดับน้ำที่ลึกลงไป ส่วนพื้นที่ตรงกลางบ่อ  2 ใน 3 ส่วน ระดับน้ำสูง 30 ซม. ซึ่งเป็นระดับน้ำในการทำนาปกติเพื่อที่ปลูกข้าวได้ตามปกติ พื้นที่ส่วนนี้กุ้งจะขึ้นมาอาศัยและหากินในช่วงกลางคืนตามซอกต้นข้าว

“การปล่อยลูกกุ้งจะนิยมปล่อย  2 ขนาด คือ ขนาด 1 นิ้ว อัตราการปล่อย 5,000 ตัวต่อไร่  กับ ขนาด 3 นิ้ว อัตราการปล่อย 3,000 ตัว/ไร่  สำหรับอาหารจะใช้อาหารกุ้งกุลาดำเบอร์  2, 3, 4 สำหรับลูกกุ้งขนาด 1 นิ้ว แต่ถ้าขนาด 3 นิ้วใช้อาหารเบอร์  3 และ 4 โดยเบอร์  3 จะเริ่มให้หลังปล่อยเลี้ยง 1 เดือน เบอร์ 4 จะให้หลังปล่อยเลี้ยง 2.5 เดือน อาหารจะให้มื้อเดียวช่วง 6 โมงเย็น กุ้งจะมากินอาหารตอนกลางคืน อัตราการให้อาหารเริ่มต้นที่ 1 ขีด/มื้อ ต่อกุ้ง 1,000 ตัว และจะเพิ่มอาหารทุก 7 วัน มื้อละ 1-1.2 ขีดไปเรื่อยๆ จนจับขายหลังปล่อยลงเลี้ยง 4-4.5 เดือน โดยมีอัตราการแลกเนื้อที่ 1 : 1-1.2 กก.”

นอกจากนี้ด้วยรูปแบบการเลี้ยงที่มีความสมดุลของธรรมชาติที่เกื้อกุลกัน ต้นข้าวที่ปลูกจะเป็นตัวบำบัดของเสียและแก๊สแอมโมเนียจากการเลี้ยงได้เป็นอย่างดี

ต้นทุนการเลี้ยง 170-250 บาท/กก. คุ้มกับราคาขาย 400-600 บาท/กก.

คุณอำนาจ กล่าวอีกว่า กุ้งก้ามแดงที่เลี้ยงนี้เป็นกุ้งที่มีราคาแพงมากทีเดียว โดยราคาจำหน่ายอยู่ที่ 400-600 บาท/กก. ที่ปากบ่อ โดยทางสหกรณ์จะรับซื้อกุ้งจากสมาชิก 2 ขนาด คือ ขนาดเล็ก 20-25 ตัว/กก.ราคาปากบ่อ 400 บาท ราคากุ้งไซด์ใหญ่ 7-15 ตัว/กก. ราคา 500 บาท/กก. ซึ่งช่วงที่ผ่านมาทางสหกรณ์ได้บุกเบิกตลาดและแนะนำกุ้งก้ามแดงเข้าสู่ตลาดจนเป็นที่รู้จักแล้วในระดับหนึ่ง ปัจจุบันมีตลาดรองรับทั้งโรงแรมชื่อดังหลายแห่ง ภัตตาคารหลายแห่ง รวมทั้งห้างแมคโคร ซึ่งคุณอำนาจมองว่ากุ้งก้ามแดงมีโอกาสที่จะขยายศักยภาพทางการตลาดได้อีกมากโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รู้จักกุ้งชนิดนี้เป็นอย่างดี เช่น  พัทยา  ภูเก็ต หัวหิน กระบี่ เชียงใหม่ เป็นต้น

สำหรับต้นทุนการเลี้ยงนั้นคุณอำนาจบอกว่า ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 170-250 บาท/กก. ซึ่งทางสหกรณ์จะมีการสอนเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มคนเลี้ยงลูกพันธุ์เองเพื่อประหยัดต้นทุน โดยมีผลผลิตกุ้งต่อไร่ 200-400 กก.ขึ้นอยู่กับลูกพันธุ์ที่ปล่อยเลี้ยง ถ้าลูกพันธุ์ตัวใหญ่ก็จะได้กุ้งไซด์ใหญ่ ปริมาณผลผลิตต่อไร่ก็จะสูงและรายได้ต่อไร่ก็จะสูงตามไปด้วย

นอกจากการเลี้ยงในนาข้าวแล้ว ทางกลุ่มยังได้พัฒนาการเลี้ยงในบ่อปูน การเลี้ยงในบ่อพลาสติกและการเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำอีกด้วย

อย่างไรก็ดีแม้การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงจะมีแนวโน้มที่ดี แต่ในการเลี้ยงก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เพื่อสร้างความยั่งยืนในอาชีพ ไม่ใช่ว่าเห่อกันไปตามกระแส ทั้งเทคนิคการเลี้ยงและการตลาด ทั้งภาควิชาการและประสบการณ์จริง และเพื่อให้เรื่องนี้เกิดความกระจ่างและเป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย จึงมีโครงการจัดสัมมนา “กุ้งก้ามแดง…สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ในนาข้าว จริงหรือ?”…ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2558 ที่อาคารวิทยบริการ ชั้น 4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่  02-9405425 , 086-3401713 (ตา) ,089-7835887(หนึ่ง) ,085-0745055(จอย)

(สำหรับรายละเอียดของวิทยากรและหัวข้อสัมมนาที่ชัดเจน เชิญติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก “เกษตรก้าวไกลดอทคอม” หรือเว็บไซต์ “สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย” เร็วๆนี้)

หมายเหตุ : ตามข้อมูลของวิกิพีเดีย …เครย์ฟิช หรือ ครอว์ฟิช (อังกฤษ: Crayfish, Crawfish) เป็นกุ้งน้ำจืดจำพวกหนึ่ง มีรูปร่างโดยรวมลำตัวใหญ่ เปลือกหนา ก้ามใหญ่แลดูแข็งแรง มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรป, โอเชียเนียและบริเวณใกล้เคียง เช่น อีเรียนจายา และเอเชียตะวันออก ปัจจุบันมีการอนุกรมวิธานเครย์ฟิชไปแล้วกว่า 500 ชนิด ซึ่งกว่าครึ่งนั้นเป็นเครย์ฟิชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ก็ยังมีอีกหลายร้อยชนิดที่ยังไม่ได้รับการอนุกรมวิธาน อีกทั้งหลายชนิดยังมีความหลากหลายทางสีสันมากอีกด้วย

เครย์ฟิชมีความสัมพันธ์กับมนุษย์มาแต่อดีต โดยใช้เป็นอาหารมานาน สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย โดยมักเป็นอาหารราคาแพงในภัตตาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครย์ฟิชในชนิด Cherax quadricarinatus มีการเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยงเป็นการเกษตรกรรมในประเทศออสเตรเลียด้วย สำหรับในประเทศไทย มีการเพาะเลี้ยงกันที่โครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการนำเข้ามาจากออสเตรเลีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 และต่อมาได้มีการเลี้ยงในพื้นที่ต่างๆ

ขอขอบคุณ : ภาพ/ข่าว จากคุณหนึ่งฤทัย แพรสีทอง นิตยสารรักษ์เกษตร 

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated