นักวิชาการ มก. แนะแนวทางการอยู่รอดภาคการประมงในสภาวะที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ต้องยึดหลักการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ถูกวิธี และใส่ใจปัญหาโลกร้อน
นักวิชาการ มก. แนะแนวทางการอยู่รอดภาคการประมงในสภาวะที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ต้องยึดหลักการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ถูกวิธี และใส่ใจปัญหาโลกร้อน

สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะประมง สถานีวิทยุ ม.ก. และ เครือข่ายจัดเวทีการเสวนาทางวิชาการ ครั้งที่ 3 เรื่อง“เมื่อโลกร้อน ทะเลเดือด ภาคการประมงจะอยู่รอดอย่างไร” เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุม 303 อาคารบุญอินทรัมพรรย์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์มุมมองจากนักวิชาการและภาคเอกชน เพื่อการเรียนรู้และปรับตัวให้อยู่รอดในทุกภาคส่วนจากวิทยากรชั้นแนวหน้าของประเทศ ซึ่งได้แก่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ รศ.ดร.ประพันธ์ศักดิ์ ศีรษะภูมิ ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้าร่วมการเสวนา โดยมี นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดงาน ผศ.ดร.สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ คณบดีคณะประมง กล่าวต้อนรับ

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ได้ชี้ให้เห็นว่าสภาวะโลกร้อน จะยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศยังไม่ลดลง และถึงแม้จะลดลง แต่การที่ธรรมชาติจะฟื้นฟูให้กลับเหมือนเดิมคงจะต้องใช้เวลานานมาก ผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนต่อมนุษย์เริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะภัยธรรมชาติที่เกิดบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้นและไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบเดิม ๆ ทำให้พยากรณ์ไม่ได้ ความสูญเสียจึงเกิดรุนแรง ผศ.ดร.ธรณ์ ได้ยกตัวอย่างการเกิดเฮอริเคนขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งแต่เดิมก่อตัวเป็นพายุธรรมดา แต่เมื่อเคลื่อนที่เข้าใกล้ฝั่งกระทบกับน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูง จึงกลายเป็นพายุเฮอริเคนขนาดใหญ่โดยไม่คาดฝัน ทั้งเปลี่ยนทิศทางและเข้าถึงเมืองชายฝั่งของเม็กซิโกก่อนเวลาที่ทำนายไว้ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง นอกจากนั้นปัญหาระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเนื่องจากโลกร้อนก็เป็นเรื่องที่จะก่อให้เกิดผลกระทบแน่นอน โดยคาดว่าในส่วนของเมืองใหญ่ที่สำคัญทางเศรษฐกิจเช่นกรุงเทพ รัฐบาลคงจะยอมลงทุนทำกันการป้องกัน เช่นโดยการสร้างเขื่อน แต่สถานที่ห่างไกล ที่เคยเป็นพื้นที่การเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอาจจะหายไป ควรมีการศึกษาและมีแผนรองรับ ภาวะน้ำทะเลเป็นกรดก็น่าจะเกิดผลกระทบกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างแน่นอน ผศ.ดร.ธรณ์ ยังได้เล่าถึงความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างแน่ใจว่าเกิดขึ้นเพราะสภาวะโลกร้อน เช่นหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่เคยไปสำรวจ กลับหายไปหมดภายในเวลาเพียง 4 ปี อีกตัวอย่างหนึ่งคือปะการังที่เกาะมัน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการรบกวนโดยมนุษย์น้อยที่สุด แต่ในปัจจุบันได้เกิดการตายหายไปเกิน 80% ข้อมูลเหล่านี้ยังศึกษากันน้อย ผศ.ดร.ธรณ์ สรุปว่าภัยจากโลกร้อน รุนแรงกว่าที่เราคิด เราควรตระหนักและหาทางแก้ไข โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ซึ่งจะมีชีวิตอยู่กับความเสี่ยงนี้ไปอีกยาวนาน

รศ.ดร.ประพันธ์ศักดิ์ ศีรษะภูมิ กล่าวถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง แม้ในสัตว์น้ำชนิดที่ประเทศไทยทำได้ดี เช่นปลานิล ทำได้ดีที่สุดคือผลผลิตเท่าเดิม ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศผลิตได้มากขึ้นหลายเท่าตัว สาเหตุหนึ่งก็คือสภาวะโลกร้อน โดยมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม การที่สัตว์น้ำจะได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนมากกว่าสัตว์บก เพราะสัตว์น้ำเป็นสัตว์เลือดเย็น ร่างกายไม่สามารถปรับสมดุลย์ตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงได้ การที่สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง เช่นร้อน หรือหนาวผิดปกติเป็นระยะเวลานาน ภูมิคุ้มกันของสัตว์น้ำลดลง โรคระบาดจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และเกิดบ่อยขึ้น นอกจากนั้นสภาวะโลกร้อนมีผลให้เชื้อบางตัวที่ไม่เคยเป็นอันตราย กลับเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้ ประกอบกับในปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์น้ำ จะเลี้ยงอย่างหนาแน่น เต็มความสามารถในการรองรับของธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อเกิดสภาพไม่เหมาะสมแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะเกิดผลรุนแรง อย่างไรก็ตามหากเกษตรกรใช้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาจัดการบ่อเลี้ยงก็จะทำให้ปัญหาผ่อนคลายไปได้ระดับหนึ่ง รศ.ดร.ประพันธ์ศักดิ์ ยกตัวอย่างว่าเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นผิดปกติ เช่นอุณหภูมิน้ำสูงกว่าปกติ (เช่นสูงกว่า 28 องศา) สัตว์น้ำจะกินอาหารมากขึ้น เกษตรกรควรรู้เท่าทัน โดยจำกัดการให้อาหาร เพราะถ้าให้อาหารมากตามความต้องการ ปลาอาจตายทั้งบ่อได้ นอกจากนี้การเพาะเลี้ยงยังทำในที่เปิดเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมหรืออุณหภูมิสูงจะเกิดผลกระทบโดยตรง การที่ฝนตกติดต่อกันนาน แพลงก์ตอนไม่ได้รับแสงก็จะไม่สร้างออกซิเจน ทำให้บ่อขาดออกซิเจน ถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 33 องศา แพลงก์ตอนก็ไม่สังเคราะห์แสง ทำให้ปลาขาดออกซิเจน ปลาตายยกบ่อ หากเกษตรกรมีเครื่องให้อากาศก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ ในภาพรวมทางออกของปัญหาโลกร้อน คือ การปรับปรุงพันธุ์ปลาให้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง หรือทนโรค นอกจากนั้นเกษตรกรต้องจัดการการให้อาหารให้เหมาะสม โดยปกติพบว่าเกษตรกรให้อาหารเกินกว่าความจำเป็น 10-15% การดูแลคุณภาพน้ำที่สำคัญเช่นการให้อากาศ ต้นทุนเพิ่มมาเพียงเล็กน้อยแต่ลดความเสี่ยงที่ปลาจะตายเนื่องจากการขาดออกซิเจน การเติมปูนสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณสมบัติน้ำไม่เปลี่ยนแปลงรุนแรง มีการเตรียมบ่ออย่างถูกหลักวิชา และต้องมีการจัดการสุขภาพ เช่นการให้ วัคซิน การใช้อาหารเสริม การให้เกลือในบ่อเลี้ยงปลาน้ำจืด

ด้านนายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร กล่าวว่าภาคอุตสาหกรรมมีความตระหนักถึงผลของสภาวะโลกร้อน และพยายามปรับตัวในด้านต่าง ๆ เช่น การหาแหล่งโปรตีนทางเลือก เพื่อทดแทนปลาป่นและน้ำมันปลา ซึ่งมีผลผลิตน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาวะโลกร้อน โปรตีนทางเลือก เช่น หนอนแมลงวัน (black soldier fly) ของเหลือจากการผลิตอาหาร และ โปรตีนจากพืชเซลเดียว การใช้พลังงานสะอาด เช่น solar cell เพื่อลดการปลดปล่อยกาซเรือนกระจกก็เป็นอีกมาตรการณ์หนึ่งที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน การปรับปรุงพันธุ์ เป็นการปรับตัวที่ยั่งยืน แม้ว่าจะใช้เวลาและการลงทุนมาก แต่ในปัจจุบันก็มีวิธีการทันสมัยต่าง ๆ ให้เลือกใช้ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรจะใช้ระบบ อัตโนมัติให้มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความแม่นยำในการจัดการ และสอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุ การเลี้ยงสัตว์น้ำระบบปิด เช่นการใช้ระบบ biofloc จะสามารถลดการใช้น้ำมากกว่า 40% ทั้งยังลดการใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำ ลดการใช้พลังงานในการถ่ายน้ำ นอกจากนั้นภาคเอกชนก็ทุ่มเทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยเสริมสุขภาพของสัตว์น้ำ เช่น อาหารเสริม probiotics และ prebiotics และมีการนำของเสียจากการเพาะเลี้ยง เช่นเลนก้นบ่อ ไปใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่นทำปุ๋ย

สรุปการเสวนาครั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้เกษตรกรให้มากขึ้น เพื่อจะสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และปรับตัวให้อยู่รอดในสภาพโลกร้อนได้ นอกจากนั้นคนรุ่นใหม่ควรให้ความสนใจในปัญหาโลกร้อน และเข้ามามีส่วนร่วมในการลดการปลดปล่อยกาซเรือนกระจก และการศึกษาหาหนทางในการปรับตัวกับปัญหาเหล่านี้ให้มากขึ้น

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated