จากเทือกเขาหลวงสู่ “ไตรโค 7” นวัตกรรมชีวภัณฑ์ที่จะมาล้างโรคไฟทอปในทุเรียน

ความหลากหลายทางชีวภาพเมืองไทยมีสูงมาก ณ เทือกเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช รศ.ดร.วาริน อินทนา ได้ค้นพบเชื้อราไตรโคเดอร์สายพันธุ์ท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ Trichoderma harzianum สายพันธุ์ NST-009 ซึ่งเชื้อราสายพันธุ์นี้แยกได้จากรากเฟิร์นมหาสดำบนเทือกเขาหลวง (“มหาสดำ” เป็นเฟิร์นโบราณที่มีลำต้นสูงใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับเฟิร์นทุกชนิดในโลก มีลำต้นนั้นสูงได้ถึง 15-20 เมตร ทำให้มองดูคล้ายต้นไม้ยักษ์แห่งป่าดึกดำบรรพ์ และเป็นต้นไม้ยุคเดียวกับไดโนเสาร์ / กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) และผ่านการคัดเลือกจากกว่า 2,000 สายพันธุ์ทั่วภาคใต้ ใช้เวลาศึกษาวิจัยและพัฒนากว่า 7 ปี พบว่ามีประสิทธิภาพสูงมากในการควบคุมโรคพืช โดยมีกลไกทำลายเชื้อราโรคพืชด้วยการกินเชื้อราโรคพืชเป็นอาหาร สร้างสารปฏิชีวนะได้หลายชนิด ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และชักนำให้ต้นพืชสร้างภูมิคุ้มกันได้ 

ดังนั้นการเผยแพร่เชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์นี้สู่เกษตรกร เพื่อช่วยป้องกันแก้ไขความเสียหายของต้นพืชที่เกิดจากเชื้อราและโรคแมลงต่างๆ จึงเกิดขึ้น ภายใต้โครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส (5+) โดยการดูแลและบ่มเพาะโดยเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยนำเชื้อและสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการปลูกพืช 5 องค์ประกอบมาผสมกัน ได้แก่ 1. เชื้อรา Trichoderma asperellum NST-009 สำหรับควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา 2. เชื้อรา Metarhizium anisopliae WU-003 สำหรับควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยเน้นกลุ่มด้วงและหนอนผีเสื้อ 3. เชื้อรา Beauveria bassiana WU-002 สำหรับควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยเน้นกลุ่มเพลี้ย ไรแดง และหนอนผีเสื้อ 4. ธาตุอาหารรองที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต (แคลเซียมและแมกนีเซียม) เสริมความแข็งแรงของผนังเซลล์พืช และเพิ่มศักยภาพกลไกของเซลล์พืชในการต่อสู้กับศัตรูพืช และ 5. สารเสริมความแข็งแรงและกระตุ้นการงอกของสปอร์เชื้อราปฏิปักษ์ ทำให้สปอร์เชื้อราปฏิปักษ์ทั้ง 3 ชนิด มีอัตราการงอกของสปอร์สูงขึ้น (ความมีชีวิตรอด) และลดระยะเวลาของการงอกของสปอร์ช้าลง

จากการทดสอบในแปลงปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ทั้งในแปลงทดลองและแปลงของเกษตรกร โดยศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่าสามารถควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราได้ถึง 31 โรค เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคแอนแทรคโนส โรคเน่าระดับดิน โรคใบจุด และโรคใบไหม้ เป็นต้น ในพืช 14 ชนิด เช่น ทุเรียน พืชตระกูลส้ม ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว พืชผักต่าง ๆ และไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ 12 ชนิด เช่น ด้วงแรดมะพร้าว เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ไรแดง และหนอนผีเสื้อต่างๆ เป็นต้น และมีธาตุอาหารที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชทุกชนิด

สิ่งสำคัญชีวภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นนี้ ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย ทั้งต่อผู้ใช้งาน ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมระดับสากลตามมาตรฐานองค์กร Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) โดยห้องปฏิบัติการมาตรฐาน Good Laboratory Practice (GLP) จากต่างประเทศ

ที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ทีมงานนักวิจัยคือ สามารถกวาดรางวัลมามากมาย ถึง 24 รางวัล เช่น ถ้วยรางวัลชนะเลิศและรางวัลเหรียญทองในการประกวด โครงการ “Thailand New Gen Inventors Award 2020” (I-New Gen Award 2020) ที่จัดประกวดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ รางวัลชนะเลิศ ประเภทนวัตกรรม/กระบวนการเชิงพาณิชย์ ในการประกวด RSP Innovation Award 2020 จากงาน RSP Innovation Day 2020 จัดโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รางวัลสุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards ประเภท รางวัลนวัตกรรมประเภทที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม จัดโดยซีพีออลล์ (เซเว่นอีเลฟเว่น) และภาคีเครือข่ายที่เป็นหน่วยงานส่งเสริมนวัตกรรม ฯลฯ

จากผลงานความสำเร็จดังกล่าว ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส จึงถูกแพร่กระจายไปสู่เกษตรกร แต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัด และล่าสุดได้มีการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมในชื่อ “ไตรโค 7” หรือ “ไตรโคเซเว่น” ผลิตภัณฑ์ภายใต้การดำเนินงานของ “ซูเปอร์ดี” ในเครือบริษัท ซุปเปอร์เอส เซ็นเตอร์ จำกัด โดย “ลุงพร เกษตรก้าวไกล” และคณะ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น

“ผมรู้สึกศรัทธาและชื่นชมในผลงานของ รศ.ดร.วาริน อินทนา และคณะเป็นอย่างมาก จึงไม่ลังเลใจที่จะเดินทางไปสัมภาษณ์อาจารย์ที่ศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หลังจากที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันทางเพจเกษตรก้าวไกลไปด้วยกัน ได้ LIVEสด ในโอกาสที่ ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการ กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ เทดฟันด์ (TEDFUND) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ไปเยี่ยมชม จึงทำให้ทราบว่ามีผลิตภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาที่มีส่วนผสมสำคัญถึง 5+ ก็คิดว่านี่คือนวัตกรรมที่จะมาตอบโจทย์ปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะโรคเชื้อราไฟทอปธอร่า หรือโรครากเน่าโคนเน่า ที่เป็นมะเร็งร้ายของต้นทุเรียนพืชเศรษฐกิจอันดับ 1 ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งผมได้สัมภาษณ์อาจารย์วารินในทุกประเด็น และถ่ายทำไว้เป็นคลิป โดยจะนำมาเผยแพร่ต่อไป”

“ไตรโค 7” เป็นแบบผงสปอร์ บรรจุในซอง 500 กรัม ใช้งานง่าย โดยผสมน้ำตามอัตราที่ฉลากกำหนด พร้อมทั้งคนให้เข้ากัน ก่อนฉีดพ่นบนต้นพืชทั้งต้นที่ต้องการป้องกันความเสียหายจากศัตรูพืช และต้นที่เป็นโรค โดนแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย หรือต้นไม่สมบูรณ์เพราะขาดธาตุอาหาร โดยฉีดพ่นให้ชุ่มทั่วต้นพืช และกรณีต้นทุเรียนที่เป็นโรคไฟทอปธอร่าให้ขูดแผลและทาให้ทั่ว (จะมีรายละเอียดบอกไว้ด้านหลังซองอย่างชัดเจน)

“ผมมั่นใจว่าไตรโคเซเว่นซองเขียวเบอร์ 7 จะสามารถเข้าไปทำหน้าที่ช่วยแก้ไขปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชให้กับพี่น้องเกษตรกรได้อย่างแน่นอนครับ” ลุงพร เกษตรก้าวไกล กล่าวในที่สุด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจผลิตภัณฑ์ไตรโค 7 ทักไอดีไลน์ 0863185789 หรือโทร. 063279900 บริการส่งถึงบ้านทั่วประเทศ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated