6 เกษตรกรดีเด่นระดับประเทศปี 2566 จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เตรียมเข้ารับรางวัล หลังกรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศผลการประกวด โดยรางวัลชนะเลิศเป็น ศพก. จากจังหวัดนครราชสีมา โดดเด่นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ จนมีเกษตรกรและประชาชนทั่วไปสนใจเข้าเรียนรู้จำนวนมาก พร้อมสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างต่อเนื่อง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินการประกวดศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศ ได้ประกาศผลการประกวดศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ดีเด่นระดับประเทศ ปี 2566 โดยคัดเลือกเกษตรกรต้นแบบที่มีผลงานดีเด่นในการบริหารจัดการศูนย์ฯ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เป็นตัวอย่างในการขยายผลส่งเสริมการเกษตร การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตร โดยผลการประกวดมีดังนี้

1.รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายอรุณ ขันโคกสูง เกษตรกรต้นแบบ ศพก.อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 2.รางวัลรองชนะเลิศอัน 1 ได้แก่ นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ เกษตรกรต้นแบบ ศพก.อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร 3.รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายบรรพต มามาก เกษตรกรต้นแบบ ศพก.อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

รางวัลชนะเลิศ นายอรุณ ขันโคกสูง เกษตรกรต้นแบบ ศพก.อำเภอเมืองนครราชสีมา

4.รางวัลเกียรติบัตรยกย่อง จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 4.1 นายเนตร ใจเที่ยง เกษตรกรต้นแบบ ศพก.อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง 4.2 นายขวัญชัย แตงทอง เกษตรกรต้นแบบ ศพก.อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท และ 4.3 นายยุทธพงษ์ รัตนวิทย์ เกษตรกรต้นแบบ ศพก.อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว โดยคาดว่าผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมดจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรรายอื่นต่อไปในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการลดต้นทุน การผลิต พัฒนาคุณภาพ การเพิ่มปริมาณการผลิต และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าให้มากขึ้น

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับเกษตรกรต้นแบบนายอรุณ ขันโคกสูง จาก ศพก.อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ มีความเชี่ยวชาญ ความสามารถ และแบบอย่างประกอบด้วย การบริหารจัดการ ศพก. และการขยายผลองค์ความรู้ให้เครือข่ายนำไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจน การถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปในด้านเศรษฐกิจพอเพียง การประมง การเพาะเห็ดนางฟ้า การปลูกมะนาว การปลูกหม่อนผลสด (Mulberry) การแปรรูป การปลูกกล้วยน้ำว้า การปลูกฝรั่งพันธุ์กิมจู การปลูกผักไร้ดิน (ไฮโดรโปนิกส์) และการปลูกบอนสี พร้อมขยายแนวคิดการทำเกษตรแบบผสมผสาน การจัดสรรพื้นที่ว่างในพื้นที่ชุมชนเมืองให้เกิดประโยชน์และเหมาะสมทำเป็นแปลงตัวอย่าง และฝึกปฏิบัติทั้งด้านเกษตร ประมง และปศุสัตว์ จนมีเกษตรกรและประชาชนเข้ามาเรียนรู้ และศึกษาดูงานจำนวนมาก เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนนายวีรวัฒน์ จีรวงส์ ที่ได้รับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นเกษตรกรต้นแบบจาก ศพก.อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นชาวสวนทุเรียนตำบลทะเลทรัพย์ มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการทุเรียนคุณภาพตามมาตรฐาน GAP โดย ศพก. อำเภอปะทิวเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านวิชาการเกษตรตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนคุณภาพ และเป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป โดยศพก.อำเภอปะทิว ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตทุเรียนคุณภาพแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงมีแปลงเรียนรู้ทุเรียน และไม้ผลอื่น ๆ ให้เกษตรกรผู้สนใจเข้ามาศึกษาและนำความรู้ไปปรับใช้ โดยเน้นหลักการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลผลิตเป็นหลัก ประกอบด้วย หลักสูตร แปลงเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ 5 ฐาน ได้แก่ฐานการผลิตทุเรียนคุณภาพ การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เศรษฐกิจพอเพียง การผลิตปุ๋ยหมัก และฐานลดต้นทุนการผลิตด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา

ขณะที่ นายบรรพต  มามาก ที่ได้ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนาระดับเขต ปี 2552  บริหารจัดการศูนย์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม และศพก.จนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านข้าวและการทำนาแบบครบวงจร และเป็นฟันเฟืองหลักที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการบูรณาการกับหน่วยงาน  ต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษาและเอกชน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้สายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ยกระดับการผลิตข้าวเชิงพาณิชย์ เกษตรปลอดภัย และร่วมกับสถาบันการศึกษาทำงานวิจัยเรื่อง ประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในนาข้าว การจัดการดิน น้ำ ปุ๋ย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้แอพพลิเคชัน AII-rice 1 ร่วมกับจัดการน้ำด้วยระบบเซนเซอร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรครบวงจรอีกด้วย

การประกวดศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรดีเด่น ของกรมส่งเสริมการเกษตร ยังคงดำเนินการจัดอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะการประกวดดังกล่าว จะเป็นการพัฒนาความสามารถ เป็นตัวอย่างในการขยายผลการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตร การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรในชุมขน รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการบูรณษการงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated