โรงเรียนโรงสี

เปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวหรือ “โรงเรียนโรงสีแห่งแรก” ของประเทศไทย เนื่องในโอกาสที่บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด จ.นครสวรรค์ ฉลองครบรอบ 74 ปี และจับมือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) ใช้เทคโนโลยี UTD RF ทำหมันมอด ยกระดับข้าวไทยให้เป็นข้าวที่ปลอดภัย ปราศจากสารเคมีกำจัดมอดที่ก่อมะเร็งตกค้างอยู่ในข้าวสาร ในแบรนด์ข้าวตรา “พลังนา” ด้วยแนวทางวิสาหกิจเพื่อสังคม

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2567 ที่บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด จ.นครสวรรค์ ได้มีพิธีเปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว มี ดร.วิสูตร จิตสุทธิภากร ประธานกรรมการบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด เป็นประธานเปิดงาน โดยมี นายประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และดร.กานต์ จิตสุทธิภากร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด เข้าร่วม ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นไปอย่างคึกคัก

ดร.วิสูตร กล่าวในพิธีเปิดเปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ตอนหนึ่งว่า ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว หรือ “โรงเรียนโรงสี” จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรสีข้าวและอุปกรณ์โรงสีข้าว มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องจักรสีข้าวโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจโรงสีข้าวให้ทันสมัยอยู่เสมอ ด้วยความรู้และประสบการณ์ ที่มีมานาน 74 ปี ในด้านการสีแปรรูปข้าว อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้เล็งเห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการสีแปรรูปข้าว มีเครื่องจักรและนวัตกรรมต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องมีแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในการส่งเสริมขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการโรงสี รวมถึงผู้ที่สนใจ จึงเกิดเป็นการสร้างหลักสูตร “การบริหารจัดการโรงสีข้าวทันสมัย” สำหรับผู้บริหารโรงสีข้าวเป็นแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นมา

“ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวมีการดำเนินการสีข้าวสารจำหน่ายในตรา “พลังนา” เพื่อเป็นต้นแบบในธุรกิจโรงสีข้าวในแนวทางวิสาหกิจเพื่อสังคม ด้วยการแบ่งผลกำไรที่ได้จากการสีข้าวมาพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกข้าวด้วยวิธีการเปียกสลับแห้ง ไม่เผาฟาง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน นอกจากนี้ข้าว “พลังนา” ทุกเมล็ดจะผ่านกระบวนการ UTD RF ในการทำหมันมอด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้าวสารมีความปลอดภัยกับผู้บริโภค ปลอดจากสารเคมีตกค้าง 100% และมุ่งหวังให้เป็นตัวอย่างของโรงสีข้าวที่สามารถดำเนินธุรกิจพร้อมกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน” ดร.วิสูตร กล่าว

จากนั้น มีพิธีลงนามความร่วมมือ “การสนับสนุนส่งเสริมศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว” ระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยรศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ และบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด โดยดร.กานต์ จิตสุทธิภากร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด

รศ.ดร.ปิติวัฒน์ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ มีทั้งสิ้น 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.ร่วมกันดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี UTD RF รวมถึงงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่วมวิจัยพัฒนาระบบกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานเชิงพาณิชย์ของโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ในการขยายกำลังการผลิตการกำจัดแมลงด้วยเทคโนโลยี UTD RF จากเดิม 1 ตัน/ชั่วโมง/ยูนิต เป็น 3-5 ตัน/ชั่วโมง/ยูนิต เป็นต้น 2. ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ฯ  ให้แก่ผู้ประกอบการโรงสี วิสาหกิจชุมชน และผู้บริโภค  3. ร่วมกันดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องทั้งจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าว รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 4.ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนและประชาสัมพันธ์เทคโนโลยี UTD RFให้เป็นที่รับรู้แก่กลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง และ 5.ร่วมกันแลกเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร บุคคลากร เครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ และโครงสร้างพื้นฐาน 

“ความร่วมมือดังกล่าวคาดว่าจะมีผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน รวมถึงบุคคลกรที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในนวัตกรรมมากกว่า 500 คน เกิดการลงทุนในการวิจัยพัฒนาไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ทั้งยังสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการถ่ายทอด และเผยแพร่การใช้งานเทคโนโลยี UTD RF เชิงพาณิชย์สู่โรงสีขนาดใหญ่กว่า 28 ล้านบาท สร้างการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากการใช้งานเทคโนโลยีกว่า 70 คน คิดเป็นผลกระทบเชิงเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 91 ล้านบาท เกิดการยกระดับข้าวไทย ให้เป็นข้าวที่ปลอดภัย ปราศจากการใช้สารเคมีในการผลิต สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับต่างประเทศต่อไป” รศ.ดร.ปิติวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ ดร.กานต์ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ลงนามถ่ายทอดเทคโนโลยีและอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยี เครื่องกำจัดมอดและไข่มอดด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ UTD RF (Uniform Thermal Distribution Radio Frequency) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ในตรา ไบโอ-คิว (BiO-Q) ตั้งแต่ปี 2560 เทคโนโลยี UTD RF นี้สามารถใช้กำจัดมอดและไข่มอดได้อย่างสมบูรณ์ในเมล็ดข้าวสาร ปัจจุบันเครื่องไบโอ-คิวได้รับการพัฒนารูปแบบเครื่องจักรให้มีความเหมาะสมในการใช้งานในโรงสีข้าว นำไปผ่านการทดสอบความปลอดภัยด้านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สวทช. (PTEC) ผ่านการขึ้นบัญชีนวัตกรรมของสำนักงบประมาณ และร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเลขที่ มอก.3127-2563 ส่งผลให้ข้าวสารบรรจุถุงมีคุณภาพดี ปราศจากมอดจนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคเรื่องความสะอาด ปราศจากสารเคมีกำจัดมอดที่ก่อมะเร็งตกค้างอยู่ในข้าวสาร

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated