รางวัลเลิศรัฐ ปี 66

กรมชลประทาน เข้ารับ 6 รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) ตอกย้ำความสำเร็จด้านการมีส่วนร่วมกับประชาชน และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ก้าวสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ

เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา ณ ห้อง Grand Diamond Ballroom ชั้น 2 อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายบำรุงรักษา พร้อมด้วย นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายบริหาร นายวัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) และคณะผู้บริหารกรมชลประทาน ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานฯ เข้าร่วมพิธีรับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ.2566 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) โดยมี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานเป็นเลิศทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร และการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ซึ่งในปีนี้ กรมชลประทานได้รับรางวัล รวมทั้งสิ้น 6 รางวัล จากรางวัลสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จำนวน 5 ผลงาน และสาขาบริการภาครัฐ จำนวน 1 ผลงาน ได้แก่

สาขาที่ 1 การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จำนวน 5 รางวัล ได้แก่

1.1 รางวัลระดับดีเด่น ประเภทเลื่องลือขยายผล จากผลงาน ระบบชลประทานแก่งคอย-บ้านหมอ สร้างผลผลิตคุณภาพ จากฟาร์มถึงมือ (From Farm to Fair) ซึ่งขยายผลมาจากผลงานที่เคยได้รับรางวัลแล้วในปี 2563 โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ สำนักงานชลประทานที่ 10 ด้วยการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม สร้างกลุ่มผู้ใช้น้ำ(JMC)ที่เข้มแข็ง สามารถขยายพื้นที่นวัตกรรมการหมุนเวียนน้ำ ทำให้ประหยัดน้ำไปได้ถึง 800 ลบ.ม./ไร่ ประหยัดค่าสูบน้ำได้ 59 บาท/ไร่ พื้นที่ 86,700 ไร่ได้รับน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สามารถขยายพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้จากเดิม 6 ไร่เป็น 26 ไร่ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรร้อยละ 66 ต่อครัวเรือน สร้างความมั่นคงทางอาชีพ ช่วยลดการย้ายถิ่นฐานได้กว่า 30 ครัวเรือน

1.2 รางวัลระดับดีเด่น ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม จากผลงาน น้ำจุน เจือน้ำใจ กระจายน้ำอย่างยั่งยืน โดย สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน สร้างกระบวนการให้ชุมชนตระหนักรู้ถึงปัญหา ร่วมกันวางแผนแก้ไข สร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำในท้องถิ่น พัฒนาระบบคูส่งน้ำ ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม 1,200 ไร่ เพิ่มพื้นที่ส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำน้ำจุนช่วงฤดูฝนจาก 6,000 ไร่ เป็น 8,000 ไร่ ทั้งยังสามารถทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ถึง 1,000 ไร่สามารถลดความขัดแย้งจากการใช้น้ำได้ถึงร้อยละ 93

1.3 รางวัลระดับดีเด่น ประเภทผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ โดย คณะกรรมการจัดระบบน้ำชุมชนงานจัดระบบน้ำโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำจุน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา จากปัจจัยแห่งความสำเร็จของกลุ่มเกษตรกร ที่มีส่วนร่วมในผลงาน น้ำจุน เจือน้ำใจ กระจายน้ำอย่างยั่งยืน (รางวัล 1.2)

1.4 รางวัลระดับดี ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม จากผลงาน น้ำน้อย ย่อมแพ้ใจ อ่างเก็บน้ำห้วยแฮต จังหวัดน่าน โดย โครงการชลประทานน่าน สำนักงานชลประทานที่ 2 ได้นำการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในงานชลประทาน มาช่วยในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาการแบ่งปันการใช้น้ำในพื้นที่ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจัดเวทีชุมชน แผนที่ทำมือ สรุปปัญหาร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกันเพื่อแสวงหาทางออก โดยผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนอย่างเป็นระบบ นำไปสู่จุดเปลี่ยนจากปัญหา ความขัดแย้ง กลายเป็นความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจนำไปสู่การปรับพฤติกรรมการใช้น้ำ สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้อย่างยั่งยืน

1.5 รางวัลระดับดี ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม จากผลงาน พลิกนาแล้ง เป็นนาล้าน โดย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง สำนักงานชลประทานที่ 6 สร้างความมั่นคงทางอาหารจากการทำเกษตรแบบผสมผสาน “โคกหนองนาโมเดล” โดยการเรียนรู้ พัฒนาและต่อยอดองค์ความรด้านการเกษตรร่วมกัน เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกจาก 350 ไร่เป็น 1,800 ไร่ ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าว เพื่อให้ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตเร็วขึ้น เพิ่มรายได้จาก 1.26 ล้านบาท/ปี เป็น 13.68 ล้านบาท/ปี

สาขาที่ 2 รางวัลสาขาบริการภาครัฐ 1 รางวัล ได้แก่
รางวัลระดับดี ประเภทนวัตกรรมการบริการ ผลงาน ห้วยไทรงามโมเดล ต้นแบบการกำจัดจอกหูหนูยักษ์อย่างยั่งยืน โดย สำนักวิจัยและพัฒนา ที่ได้พัฒนาสารกำจัดวัชพืชและทุ่นดักวัชพืช พร้อมบูรณาการร่วมกับกลุ่มตัวแทนสมาชิกผู้ใช้น้ำในการติดตั้งทุ่นดักวัชพืช ทำให้สามารถกำจัดจอกหูหนูยักษ์ได้ 55,000 ตัน ลดเวลาและต้นทุนในการกำจัด ทั้งยังปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ทั้งนี้ รางวัลเลิศรัฐ ถือเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของกรมชลประทาน ที่มุ่งมั่นพัฒนางานด้านชลประทาน ผ่านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ตามพันธกิจ “เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำ” ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2561–2580) เฟส 2 (พ.ศ.2566-2570) “สร้างภาคีเครือข่ายและความร่วมมือ (Networking and Collaboration) ของทุกภาคส่วนในการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำชลประทานในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำ สร้างเครือข่ายให้ครอบคลุม และยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อการบริหารจัดการชลประทานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ก้าวสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่จะสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated