กรมชลประทาน

วันนี้ (7 ส.ค. 66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (7 ส.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 40,239 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 36,098 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,746  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 15,125 ล้าน ลบ.ม.

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 7 – 11 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 

ในส่วนของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้ทั้งประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าค่าปกตินานจนถึงปีหน้า นั้oกรมชลประทาน ได้เตรียมมาตรการเพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่าประณีต และเน้นย้ำให้มีการเก็บกักน้ำในลำน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อไว้ใช้ในช่วงปลายฝนต้นหนาวที่กำลังจะมาถึง ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด ช่วยกันเก็บกักน้ำไว้สำรองไว้ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated